ครม.ได้เห็นชอบแนวทางการจัดอัตรากำลังและการบริหารจัดการในภารกิจการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และให้นำข้อเสนอแนวทางการจัดอัตรากำลังและการบริหารจัดการในภารกิจการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกัน
แนวทางการจัดอัตรากำลังและการบริหารจัดการในภารกิจการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๑) ให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมในการจัดบริการทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้กลุ่มประชากรวัยเรียนสามารถเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง (Education for all) และเป็นธรรม รวมทั้งมีการแข่งขันเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายใต้กติกาที่เป็นธรรม
๒) จัดสรรและบริหารงบประมาณทางการศึกษา โดยเน้นผู้เรียนมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความรับผิดชอบร่วมระหว่างรัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคส่วนในสังคม และผู้เรียน
๓) นำระบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารทรัพยากร (งบประมาณ บุคลากร เทคโนโลยี ข้อสนเทศเชิงพื้นที่) ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความคุ้มค่า อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา
เป้าหมาย ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ จะต้องมีการจัดอัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกภาคส่วน มีความพร้อมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เหมาะสมกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนจะต้องนำแนวทางและมาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ไปดำเนินการปรับปรุงการจัดบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
มาตรการดำเนินงาน
๑) มาตรการบริหารอัตรากำลังปกติ ให้ตรึงกรอบอัตราข้าราชการครูโดยไม่มีการเพิ่มอัตราตั้งใหม่ และสำหรับการ
จัดสรรอัตราข้าราชการครูจากผลการเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๔ ให้เป็นไปตามที่ คปร. กำหนดเป็นปีๆ ไป ทั้งนี้ โดยจัดสรรคืนให้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้เป็นอันดับแรก ๑-ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ยกเว้นสถานศึกษาที่อยู่ในแผนการถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในแผนการรวมสถานศึกษา ๒-ตำแหน่งสำหรับบรรจุนักเรียนทุนรัฐบาล ๓-ตำแหน่งในโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๔-ตำแหน่งในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาระดับอำเภอ ตำบล และโรงเรียนห่างไกล ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๕-ตำแหน่งในโรงเรียนการศึกษาเพื่อคนพิการ โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ
๒) มาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ๑-การปรับบทบาทภาครัฐเพื่อดำเนินภารกิจการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ ๒-การบริหารจัดการให้มีจำนวนโรงเรียนสอดคล้องกับความจำเป็นของพื้นที่ ๓-การบริหารจัดการกำลังคนให้สมดุลและสอดคล้องกับภารกิจด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๔-การบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ๕-การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการในภารกิจด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ
การนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล
๑) จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับทั้ง ๕ ยุทธศาสตร์ โดยต้องกำหนดรายละเอียดของกิจกรรมหลักที่จะดำเนินการ กรอบระยะเวลาในการดำเนินการตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ตลอดจนแนวทางและกลไกสำหรับติดตามประเมินผลและรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการเป็นรายปี ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์เชิงกลยุทธ์ในปี พ.ศ.๒๕๕๕
๒) รายงานผลความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการให้ คปร.รับทราบทุก ๖ เดือน เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
๓) ให้ คปร. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินและสรุปรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ในภาพรวม ตลอดจนปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕
ครม.ได้รับทราบผลการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (TOP up) สังกัด สพฐ. ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก หลังจากได้รับงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนเพิ่ม (Top up) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๐ พร้อมทั้งสำรวจนวัตกรรม/กิจกรรมที่มีแนวโน้มต่อการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
๑) โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ภายหลังได้รับงบประมาณงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (Top up) ทั้งตามการรับรู้ของผู้บริหารและผู้เรียน เช่น มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการงบประมาณ มีสื่อแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม โครงการหรือกิจกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเป็นต้น ดังนั้น สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับนโยบายควรได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และประสานงานกับสำนักงบประมาณ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนเพิ่ม (Top up) ให้กับโรงเรียนขนาดเล็กอย่างต่อเนื่องต่อไป
๒) โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำนวนมาก ทั้งนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการและนวัตกรรมด้านการเรียนการสอน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับทั้งระดับ สพฐ.และระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรได้นำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านี้ไปรวบรวมสังเคราะห์ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ให้มีการนำไปใช้และเกิดการพัฒนาต่อยอดต่อไป
๒) แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ นำงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (Top up) ที่ได้รับไปบูรณาการกับงบประมาณปกติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อมกล่าวคือ นักเรียนส่วนใหญ่รับรู้ว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพิ่มขึ้นหลังจากโรงเรียนได้รับงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (Top up) โดยสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ ครูให้ความสนใจและเอาใจใส่นักเรียนมากยิ่งขึ้น (ร้อยละ ๗๘.๓) รองลงไปเป็นด้านนักเรียนมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น (ร้อยละ ๗๕.๒๘) และนักเรียนมีความสนุกและสนใจโครงการหรือกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น (ร้อยละ ๗๐.๗๖) นอกจากนี้ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติโดยพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๐ พบว่าผลสอบ O-Net ของนักเรียนชั้น ป.๖ ในโรงเรียนขนาดเล็กมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของปีการศึกษา ๒๕๔๙ มีมากกว่าจำนวนโรงเรียนที่มีคะแนนต่ำลงในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนผลสอบ NT ของนักเรียนชั้น ม.๓ พบว่าจำนวนโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของปีการศึกษา ๒๕๔๙ มีมากกว่าจำนวนโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำลงในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและคณิตศาสตร์
ครม.ได้อนุมัติตามที่ คปร.เสนอ คือ อนุมัติให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ โดยให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สามารถใช้อัตราข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ว่างลงจากการเกษียณอายุและอัตราว่างโดยเหตุอื่น เพื่อรองรับการโอนย้ายข้าราชการต่างประเทศ จากส่วนราชการอื่นมาเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะตัว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องปฏิบัติงานในตำแหน่งวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัยเท่านั้น
นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติในหลักการให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ สำหรับกรณีสถาบันอุดมศึกษาอื่นของรัฐ ที่มีวิทยาเขตในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ด้วย หากมีคำขอให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ เช่นเดียวกับกรณีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น