รมว.ศธ.กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดว่า ปี ๒๕๕๒ ถือเป็นปีแรกของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองของไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เน้นนโยบาย "๓ ดี ๔ ใหม่" โดยจะสร้างให้เด็กเก่งและดีอย่างน้อยใน ๓ สามเสาหลัก คือ Democracy-Decency-Drug-Free ส่วน ๔ ใหม่คือ เน้นการสร้างคนไทยยุคใหม่-ครูยุคใหม่-สถานศึกษายุคใหม่-การบริหารจัดการจัดการแบบใหม่
โดยในหัวข้อการบริหารจัดการจัดการแบบใหม่ ได้รวมถึงการใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษาด้วย ตัวอย่างของโครงการที่ ศธ.กำลังดำเนินการในขณะนี้ คือ
ระบบ e-Learning โดยเน้นการถ่ายทอดการเรียนการสอนในรายวิชาสำคัญๆ ผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวลไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ๙,๐๐๐ โรง โดยระยะแรกจะเริ่มที่ ๔,๐๐๐ โรงในเดือนพฤศจิกายนนี้หรือเป็นช่วงเปิดภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ส่วนระยะที่สองอีก ๕,๐๐๐ โรง จะเริ่มในต้นปีการศึกษา ๒๕๕๓
Tutor Channel เป็นโครงการที่ให้ติวเตอร์ระดับนำของประเทศมาช่วยสอนผ่าน Free TV เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาในบางวิชาให้นักเรียนได้รับชมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ขณะเดียวกันครูก็จะได้รับชมเพื่อนำวิธีการสอนของติวเตอร์ที่เก่งๆ ไปปรับปรุงพัฒนาการสอน ส่วนผู้ปกครองจะได้รับชมรายการที่มีประโยชน์และร่วมรับชมไปพร้อมกันกับบุตรหลานในครอบครัวได้ด้วย
โรงเรียนดี ๓ ระดับ เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนทั่วประเทศให้เป็นโรงเรียนดีระดับสากล ๕๐๐ โรง และเป็นโรงเรียนดีระดับอำเภอ ๒,๕๐๐ โรง รวมทั้งเป็นโรงเรียนดีระดับตำบลอีก ๗,๐๐๐ โรงทั่วประเทศ โดยหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพของโรงเรียน นอกจากจะปรับปรุงด้านวิชาการแล้ว จะนำสื่อ เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วยจัดการศึกษา พร้อมทั้งปรับสัดส่วนจำนวนคอมพิวเตอร์ต่อจำนวนนักเรียนจาก ๑:๔๐ เป็น ๑:๑๐
ห้องสมุด ๓ ดี จะเน้นการสร้าง/ปรับปรุงห้องสมุดในสถานศึกษาทุกแห่งทุกสังกัดทั่วประเทศ ให้มีหนังสือดี-บรรยากาศดี-บรรณารักษ์ดี เน้นการใช้สื่อที่เป็น e-Book เข้าไปช่วยเสริมในโรงเรียน ๓ หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศภายในปี ๒๕๕๓
การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือการบริหารจัดการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๕ เพื่อเดินสายใยแก้วนำแสงความเร็ว ๕๐ กิกะบิต ไปสู่มหาวิทยาลัยทุกแห่ง, เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ๑๘๕ เขต, วิทยาลัยอาชีวศึกษา ๔๑๕ แห่ง, ศูนย์เรียนรู้ชุมชน กศน.ทั่วประเทศ, โรงเรียนอย่างน้อย ๓,๐๐๐ โรงทั่วประเทศ
อาชีวะทันสมัย จะใช้สื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
โทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) จะเริ่มต้นดำเนินการในปี ๒๕๕๓ เพื่อให้สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาออกอากาศในระบบฟรีทีวี หรือเป็น E Free TV โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕
หลังจากนั้น รมว.ศธ.ได้ชมบูธงานแสดงภายในงาน และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า งานนี้เป็นที่รวบรวมสื่อของบริษัททั่วโลก ซึ่งผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จากการสังเกตพบว่ามีการพัฒนาอย่างมาก จึงอยากให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาได้มาเลือกดูว่าจะใช้สื่อแบบไหนเพื่อนำไปปรับใช้กับระบบการเรียนการสอนในห้องเรียน สถานศึกษาแต่ละระดับ ซึ่งงานนี้มีสื่อสมัยใหม่ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ในส่วนของ ศธ.ได้มีนโยบายอย่างชัดเจนแล้วที่จะนำสื่อเทคโนโลยีมาช่วยจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เพราะโลกหมุนไปข้างหน้าทุกวัน การพัฒนาการเรียนการสอนจำเป็นต้องใช้สื่อเข้ามาช่วย
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า มีผู้บริหารมาร่วมงานนี้จำนวนมาก ต้องการให้พิจารณาด้วยว่าหากเราไม่ซื้อสินค้าในงานแสดงครั้งนี้จะสามารถนำไปพัฒนาด้วยตนเองได้อย่างไรได้บ้าง ตนเคยมอบเป็นนโยบายไปแล้วว่า ส่วนหนึ่งที่เราทำได้ขอให้ร่วมมือกับองค์กรที่ประดิษฐ์คิดค้นสื่อการเรียนการสอน เพื่อขอลิขสิทธิ์เขามาแล้วมาดัดแปลงเป็นภาษาไทยเพื่อนำไปสอนเด็กของเรา เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เดินทางไปประเทศจีน เพื่อดูองค์กรสื่อที่ใหญ่ที่สุดของจีนที่มีความทันสมัยมาก และเราได้เจรจาว่าจะขอสื่อต้นแบบมาดัดแปลงปรับปรุงเพื่อใช้ในการเรียนการสอนสำหรับเด็กไทย ซึ่งเขายินดีให้ความร่วมมือ แต่สื่อชิ้นใดมีความจำเป็นต้องซื้อก็ซื้อ ส่วนสื่อชิ้นใดไม่จำเป็นต้องซื้อ ก็จะมาดัดแปลงปรับปรุง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น