รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้มีการกำหนดแนวทางในการยกระดับโรงเรียน ๕๐๐ โรงเรียนทั่วประเทศในเบื้องต้น โดยให้มุ่งเน้นอย่างน้อย ๓ ด้าน คือ ด้านวิชาการเน้นความเป็นเลิศ ด้านการบริหารจัดการรวมทั้งผู้บริหารและครูผู้สอน และด้านปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป้าหมายก็คือ ต้องการทำให้ผู้เรียนในโรงเรียนดีระดับสากล เก่ง ดี มีความสุข ภาคภูมิใจในความเป็นไทย และก้าวไปสู่สากลในอนาคต อย่างน้อยที่สุดในกรอบของประชาคมอาเซียน โรงเรียนทั้ง ๕๐๐ โรงเรียน จะต้องเป็นผู้นำในการสอนให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์เป็นและคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น ส่วนการท่องจำจะทำเท่าที่จำเป็น รวมทั้งให้มีการบริหารจัดการเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานจัดทำแนวทางการยกระดับโรงเรียนมาตรฐานสากลไปพิจารณาหาข้อสรุปในประเด็นดังต่อไปนี้
จัดทำกรอบมาตรฐานคุณภาพในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับกรอบมาตรฐานคุณภาพอุดมศึกษา หรือ TQF ซึ่งจะเป็น TQF ของ สพฐ. เพื่อจะเป็นตัวกำหนดการผลิตนักเรียนว่า ต้องการให้นักเรียนมีคุณลักษณะอย่างไร
ปรับเนื้อหาหลักสูตรที่มีความซ้ำซ้อนกัน เพื่อลดภาระของนักเรียน และทำให้นักเรียนมีเวลาเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น
กำหนดมาตรฐานโรงเรียนดีระดับสากล ว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
กลไกการคัดเลือกผู้บริหาร ที่จะเข้ามาบริหารโรงเรียนดีระดับสากล ๕๐๐ โรงเรียน ว่าจะคัดเลือก คัดสรรอย่างไร รวมทั้งระบบติดตามประเมินผลแบบเข้ม
รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะทำงานจะรายงานผลภายใน ๒ สัปดาห์ สำหรับงบประมาณในการดำเนินการ จะใช้งบประมาณจาก ๒ ส่วน คือ งบประมาณโครงการ SP2 และงบประมาณปี ๒๕๕๓ โดยจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมในระยะเวลา ๓ ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) จำนวน ๒,๓๕๘ ล้านบาท แบ่งเป็น ปี ๒๕๕๓ จำนวนกว่า ๑,๕๑๕ ล้านบาท ปี ๒๕๕๔ จำนวน ๕๘๓ ล้านบาท และปี ๒๕๕๕ จำนวน ๒๕๙ ล้านบาท ซึ่งถือว่างบประมาณที่ใช้เพิ่มเติมไม่สูงกว่าโรงเรียนกลุ่มอื่น เพราะมีจำนวนโรงเรียนน้อย แต่มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับมาตรฐาน ซึ่งในระยะยาวโรงเรียนกลุ่มนี้จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาด้านวิชาการ การบริหารจัดการและพัฒนาบุคลากร และปรับโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนค่าใช้จ่ายรายหัวก็ได้เท่ากับนักเรียนในโรงเรียนทั่วๆ ไป ช่วงแรกต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสูง ซึ่ง ศธ.จะใช้งบประมาณเพื่อปรับปรุงโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว. | |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น