วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประชุมโครงการ e-Learning ทางไกลผ่าน DLTV

รมว.ศธ.กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญ และเป็นนโยบายของ ศธ. ซึ่ง รมว.ศธ.ได้มอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดำเนินการโครงการนี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยใช้ระบบถ่ายทอดการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวลไปสู่โรงเรียนเป้าหมายที่มีผลการสอบ NT และ O-Net ของนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส และกลุ่มโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก มีจำนวนทั้งสิ้น ๙,๐๖๔ โรงเรียน ที่ขาดแคลนครูเป็นด้านหลัก รวมทั้งโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ซึ่งวิชาที่จะให้มีการเรียนการสอนนั้น ก็จะใช้ทั้ง ๘ กลุ่มสาระหลัก อย่างน้อย ๕ กลุ่มสาระหลัก ก็จะต้องมีการดำเนินการ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และภาษาไทย แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ช่วยเหลือในการวางแผนและบริหารจัดการ ซึ่งช่วงชั้นที่จะต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ คือ ช่วงชั้นที่ ๒-๓ ตั้งแต่ชั้น ป.-.๓ เป็นอย่างน้อย หากจะเพิ่มในช่วงชั้นอื่น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียนด้วย โดยในทางปฏิบัตินั้นจะต้องมีการปรับตารางเรียนในโรงเรียนปลายทางให้สอดคล้องกับตารางการสอนออกอากาศของโรงเรียนวังไกลกังวล

การดำเนินโครงการ แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมองค์กรหลักแล้ว คือ ระยะที่ ๑ ดำเนินการ ๔,๐๐๐ โรงเรียน เริ่มในภาคเรียนที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๒ และระยะที่ ๒ ดำเนินการ ๕,๐๐๐ โรงเรียน เริ่มในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ขณะนี้ ๔,๐๐๐ โรงเรียนที่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์จานรับสัญญาณผ่านดาวเทียม และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่พร้อมจะรับการถ่ายทอดเรียบร้อยแล้ว โดยในวันนี้จะเป็นการเริ่มต้นซักซ้อมระบบทั้งหมดว่า มีความคล่องตัว ราบรื่น ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ครั้งนี้ถือเป็นการนัดพบปะกันครั้งแรก ระหว่าง รมว.ศธ. ปลัด ศธ. ประธานมูลนิธิ รองประธานมูลนิธิ และผู้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนเป้าหมาย ๔,๐๐๐ โรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และเพื่อให้โครงการนี้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง ช่วงที่ผ่านมายังมีจุดอ่อนบางประการ เพราะไม่มีการจัดทำคู่มือประกอบการเรียนการสอน และไม่มีการอบรมครู แต่ต่อไปนี้ ศธ.ได้ดำเนินทั้ง ๒ ส่วนควบคู่กันไป คือ ได้มีการจัดทำคู่มือประกอบการเรียนการสอนเสร็จแล้ว โดยจะส่งไปยังโรงเรียนต่างๆ ต่อไป และจะมีการอบรมครูในโรงเรียนทั้ง ๔,๐๐๐ โรงเรียนทั้งครูประจำชั้น ครูประจำวิชาที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้ เพื่อจะได้มีการอบรม นิเทศ ให้โครงการนี้เดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม

รมว.ศธ.ได้ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันขจัดปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ให้งานเดินหน้าไปด้วยความราบรื่น และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ก็ต้องจัดให้มีระบบการนิเทศ กำกับ ติดตามผล และมีการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ศธ.จะมีเว็บไซต์กลาง เพื่อเป็นช่องทางให้โรงเรียนในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการใช้ โดย สป. และ สพฐ. จะร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยตลอด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ ทุกคนต้องถือว่าโครงการนี้เป็นนโยบายสำคัญของ ศธ. ที่ต้องรับไปปฏิบัติให้เกิดผลตามนโยบายและเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการยกระดับการศึกษา ทั้งในส่วนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา และก่อนเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้อง รายงานผลว่าโรงเรียนไหนจัดตารางสอนวิชาใด และคาดว่าผลการสอบ NT จะเพิ่มขึ้นเท่าไร เพื่อให้มีการวัดผลต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: