วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กรอบการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ.กล่าวว่า กรอบการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีองค์ประกอบหลัก ๒ ส่วน ได้แก่

Roadmap ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

กรอบทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบาย ๘ ข้อของ รมว.ศธ. ซึ่งถือว่าเป็นจุดมุ่งเน้นที่สำคัญในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ตอบสนองต่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และตอบสนองต่อนโยบายพัฒนาการศึกษาของรัฐบาล

นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้เน้นย้ำเรื่องยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

๑. การสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนโยบายเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ อย่างมีคุณภาพ การสร้างแหล่งเรียนรู้ราคาถูก การพัฒนาสถานศึกษา ๓ ดี (3D) ได้แก่ สถานศึกษามาตรฐานไปสู่สากล จำนวน ๕๐๐ โรง, สถานศึกษาดีระดับอำเภอ จำนวน ๒,๕๐๐ โรง และสถานศึกษาดีระดับตำบล จำนวน ๗,๐๐๐ โรง รวมทั้งมีการจัดตั้งสถานศึกษาที่เรียกว่าโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษาขึ้นมา เพื่อให้โอกาสเด็กในชนบทได้เรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียง หรือมีความเสมอภาคกับโรงเรียนที่พัฒนาแล้ว

๒. การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ตามนโยบายในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เป็นส่วนสำคัญที่จะมุ่งเน้นเรื่องของการสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง (Ned Net) มีสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและเชื่อมโยงเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศไปสู่การศึกษาในระดับต่างๆ นอกจากระดับอุดมศึกษา ระดับวิทยาลัยอาชีวศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ก็ยังมีเครือข่ายการศึกษานอกโรงเรียนในระดับตำบลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชนอย่างแท้จริง

๓. พัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ได้ส่งเสริมให้มีองค์การความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาได้พัฒนาเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา และส่งเสริมให้มีสถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานขึ้นมา ในระดับของมหาวิทยาลัยก็ได้ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขัน ส่งเสริมในส่วนของมหาวิทยาลัยเพื่อการมีงานทำ และยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกต่อไป

๔. การพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคงของรัฐ มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการพัฒนาการศึกษาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการยกระดับการศึกษาในระดับศูนย์อบรมจริยธรรมวันอาทิตย์ การศึกษาในระดับฟัรดูอีน การพัฒนาเป็นปอเนาะต้นแบบ เพื่อส่งเสริมอิสลามศึกษาให้มีความเข้มข้นขึ้น ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ได้จัดหลักสูตรการศึกษาอิสลามแบบเข้มขึ้นมา จำนวน ๒๐๐ โรง และจะดำเนินการต่อเนื่องต่อไป

๕. การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกฎหมายด้านการศึกษา เพื่อยกระดับและพัฒนามาตรฐานของครู พัฒนาครูทั้งระบบ สร้างขวัญและกำลังใจครู ตามนโยบายที่ได้กำหนดเอาไว้ การผลักดันพระราชบัญญัติเงินเดือน วิทยฐานะ ใบประกอบวิชาชีพครู ส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพของครู

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปบูรณาการกรอบ Roadmap ทั้งหมดที่ได้กำหนดไว้ ทั้งที่เป็นภาพรวมในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เพื่อให้สอดคล้องกับ Roadmap ที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เห็นผลได้อย่างชัดเจนและเป็นทิศทางในการปฏิบัติงานร่วมกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: