วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การแยกเขตพื้นที่มัธยมศึกษา

รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อม ภายหลังมีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแยกเขตพื้นที่มัธยมศึกษาทั้ง ๓ ฉบับ ดังนี้

คณะทำงานการเตรียมข้อมูลปรับลด-เพิ่ม จำนวนเขตพื้นที่การศึกษา และร่างประกาศจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษา (ประถมศึกษา) และเขตพื้นที่การศึกษา (มัธยมศึกษา) มีรองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. เป็นรองประธาน โดยมีนายสงบ มณีพรหม ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นเลขานุการ มีหน้าที่จัดเตรียมข้อมูล ข้อเสนอ และแนวทางการปรับลด-เพิ่ม จำนวนเขตพื้นที่การศึกษา และจัดทำร่างประกาศจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และอื่นๆ ที่มอบหมาย

คณะทำงานการเตรียมข้อมูลการปรับโครงสร้างอัตรากำลัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ประถมศึกษา) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (มัธยมศึกษา) มีนายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นประธาน นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นรองประธาน โดยมีนายสงบ มณีพรหม ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นเลขานุการ มีหน้าที่เกี่ยวกับบุคลากรที่จะต้องปรับโครงสร้างอัตรากำลัง ในการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษาใหม่

คณะทำงานเตรียมข้อมูลการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ประถมศึกษา) และผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (มัธยมศึกษา) มีนายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นประธาน นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นรองประธาน โดยมีนายสงบ มณีพรหม ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นเลขานุการ มีหน้าที่จัดทำข้อมูลและเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ

รมว.ศธ.กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ภายหลังจากพระราชบัญญัติผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขณะนี้ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานทั้ง ๓ ชุด รายงานผลการเตรียมการจัดทำข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาองค์คณะบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด เช่น อ.ก.ค.ศ.วิสามัญของข้าราชการครูในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (มัธยมศึกษา) และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาและประถมศึกษา จากนั้นจะได้มีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมสภาการศึกษา และที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ความเห็นชอบเรื่องนี้ และ รมว.ศธ.จะได้ประกาศการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาต่อไป

การปรับสัดส่วนของ ก.ค.ศ.ชุดใหญ่ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย คือ กรณี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในระหว่างที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้ ก.ค.ศ.แต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ ๑ คณะ เพื่อทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ต้องไม่เกิน ๑๘๐ วัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ ส่วน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ ในขณะนั้นมีองค์ประกอบเท่าที่เหลืออยู่ ยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ โดยสัดส่วนของกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง จำนวน ๑๒ คน ประกอบด้วย

- ผู้แทนเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ๑ คน และมัธยมศึกษา ๑ คน

- ผู้แทนบริหารสถานศึกษาหรือเรียกชื่ออย่างอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเขตพื้นที่ประถม ๑ คน และมัธยมศึกษา ๑ คน

- ผู้แทนข้าราชการครู ๕ คน ซึ่งเลือกจากข้าราชการครูสังกัด สพฐ.เขตพื้นที่ประถมศึกษา ๓ คน ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา ๑ คน และเลือกจากข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ๑ คน

- ผู้แทนสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือกระทรวงวัฒนธรรม ๑ คน

- ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่นจากเขตพื้นที่ประถมศึกษา ๑ คน และมัธยมศึกษา ๑ คน

รมว.ศธ.กล่าวถึงนโยบายการทำงานของคณะทำงานทั้ง ๓ ชุดว่า การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เน้นในเรื่องการยกระดับคุณภาพ ให้เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเป็นเขตพื้นที่ประสานงาน เพื่อนำไปสู่การที่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษามีอิสระ คล่องตัว ตามหลักการกระจายอำนาจเพิ่มมากขึ้น และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จะเป็นเขตพื้นที่ที่ดูแลโรงเรียนประถมศึกษาและดูแลตัวแทน ศธ.ด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น: