วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตั้ง ผอ.สพม.ภายใน ธ.ค.2553

วันนี้ (4 ต.ค) นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวในการแถลงนโยบายเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ค.ศ.ว่า ตนจะเร่งผลักดันการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ค.ศ.ตามที่ได้รับนโยบายจาก นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) คือ การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 ช่องทาง เพื่อให้ครูมีทางเลือกนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะฯ หรือ ว17 ซึ่งได้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.52 เนื่องจากหลักเกณฑ์ตาม ว17 ที่มีอยู่จะเน้นการประเมินโดยการจัดทำผลงานทางวิชาการ ขณะที่มีข้าราชการครูฯ ส่วนหนึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ไม่มีความถนัดทำผลงานทางวิชาการ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดใหม่นี้จะส่งเสริมให้ครูในกลุ่มนี้มีทางเลือกในการ ขอประเมินวิทยฐานะ

นางศิริพร กล่าวต่อว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.จะมีการกระจายอำนาจการประเมินผลงานทางวิชาการระดับเชี่ยวชาญให้เขต พื้นที่การศึกษา โดยให้เขตพื้นที่ฯ สามารถตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอ่านผลงานทางวิชาการ เพื่อให้รวดเร็วขึ้น โดยในการประเมินผลงานทางวิชาการระดับเชี่ยวชาญนั้น นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัด ศธ. มีแนวคิดว่าจะให้ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธาน และกำกับดูแลในเขตพื้นที่การตรวจราชการที่ตนเองรับผิดชอบ ส่วนสำนักงาน ก.ค.ศ.จะประเมินผลงานทางวิชาการระดับเชี่ยวชาญพิเศษและระดับเชี่ยวชาญที่เขตพื้นที่ฯ ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้นๆ รวมถึงทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ เพื่อให้การประเมินผลงานทางวิชาการ มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรมได้มาตรฐาน และป้องกันการทุจริต

นางศิริพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้จะมีการเร่งรัดการออกกฏ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารงานบุคคล ซึ่งในส่วนของหน่วยงานที่ตั้งใหม่ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จะต้องดำเนินการโยกย้ายและแต่งตั้ง ผอ.สพม.ให้แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อจะได้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาให้ครบคณะในวันที่ 18 ม.ค.2554 ตลอดจนการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูฯ จะเร่งรัดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูฯ ผู้ถึงแก่ความตายในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ทั้งนี้ ในส่วนของข้าราชการครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากให้ปูนบำเหน็จไม่เกิน 7 ขั้นแล้ว จะเสนอขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่เกิน 2 อันดับให้ด้วย และยังได้เสนอขอเพิ่มเติมกรณีที่บิดามารดาเป็นครูและเสียชีวิตพร้อมกัน ให้ทายาท

จุฬาฯ วิจัยพบปฏิรูปการศึกษา ยังขาดการมีส่วนร่วม

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอนโยบายการจัดสมัชชาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย สกศ.ได้ทำโครงการวิจัยพัฒนารูปแบบสมัชชาการศึกษาฯ โดยทดลองนำร่องจัดสมัชชาการศึกษาฯ ระดับจังหวัด 8 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ภูมิภาคละกลุ่มจังหวัด คือ 1.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ 2.ภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์ 3.ภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นนทบุรี 4.ภาคใต้ ประกอบด้วย จ.สงขลา จ.สตูล

สำหรับรูปแบบสมัชชาการศึกษาฯ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ควรมีรูปแบบ 3:3:3 โดย 3 ตัวแรก หมายถึงต้องทำสมัชชา 3 ระดับ คือ สมัชชาการศึกษาระดับจังหวัด สมัชชาการศึกษาาระดับกลุ่มจังหวัด และสมัชชาการศึกษาในระดับชาติ ส่วน 3 ถัดมาหมายถึง หมายถึงองค์ประกอบของสมัชชาในแต่ละระดับ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ภาคส่วน คือ องค์ประกอบภาคองค์ความรู้ องค์ประกอบภาคประชาชน และองค์ประกอบภาครัฐที่มีการสื่อสารแบบ 2 ทาง ส่วน 3 ตัวสุดท้าย หมายถึง กิจกรรมของสมัชชาการศึกษาแต่ละระดับ ซึ่งมี 3 กิจกรรม เช่น 1.กิจกรรมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ 2. การประชุมสมัชชา และ 3.การติดตามผลข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ

ทั้งนี้ ในที่ประชุมเห็นว่า การจัดสมัชชาการศึกษาฯ เป็นการส่งเสริมเน้นการมีส่วนร่วมในหลายระดับ โดยตนได้มอบนโยบายให้ สกศ.ให้ไปดำเนินการนำเอาผลของการวิจัยครั้งนี้นำไปร่วมกับข้อเสนออนุกรรมการการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 เพื่อจัดรูปแบบการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

ในขณะที่ผลการวิจัยของครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มีความพึ่งพอใจและเชื่อว่าปฏิรูปการศึกษา ร้อยละ 6 แต่ยังมีจุดอ่อนของการมีส่วนร่วม จึงให้ สกศ.ไปศึกษาว่าจะสร้างการมีส่วนร่วมในการศึกษาอย่างแท้จริงในยุคปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ได้อย่างไร

นอกจากนี้ สกศ.ยังได้เสนอรูปแบบพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียน ในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ สกศ.ได้มีการจัดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน 4 ภูมิภาค 4 รุ่นๆ ละ 60 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ทักษะเทคโนโลยี ผลงานการสร้างสรรค์สื่อโดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญให้นำสื่อเหล่านี้ไปใช้กับนักเรียน

ทั้งนี้ ครูและบุคลากร เห็นว่า การนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้มอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนา อี-เลิร์นนิง ได้นำการอบรมครูครั้งนี้ นำไปร่วมกันเพื่อขับคลื่อนการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศ ให้เป็นนโยบายหลักต่อไป เชื่อมโยงเครือข่ายเทคโนโลยีครอบคลุมสถานศึกษาทั่วประเทศ พัฒนาสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัวมากขึ้น ให้เป็นแหล่งเรียนรู้โดยพัฒนาเนื้อหาสาระของหลักสูตรแกนกลาง รวมทั้งพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับชาติต่อไป

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: