วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มติ ครม. ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

เห็นชอบข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ๗ กระทรวง

ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม ๗ กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.ดังนี้

มาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน ได้เสนอให้การช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยของ ศธ.โดยมอบเงินช่วยเหลือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๑๐๐ เขตๆ ละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๒๐ ล้านบาท จัดสุขาเคลื่อนที่ ให้บริการสถานศึกษาและชุมชนที่ประสบอุทกภัย ๑,๐๐๐ หลัง วงเงิน ๑๐ ล้านบาท จัดหาเรือท้องแบน ๑,๐๐๐ ลำ วงเงิน ๑๐ ล้านบาท และจ่ายเป็นค่าแบบเรียน อุปกรณ์การเรียน สำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่อุทกภัย วงเงิน ๑๓๖ ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้ง ๑๗๖ ล้านบาท รวมทั้งการยกเว้นค่าหน่วยกิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา
การฟื้นฟูสถานศึกษา โดยจะมีการบูรณะซ่อมแซมห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ห้องสมุดประชาชน และศูนย์การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยตำบล และจัดโครงการ Fix-It Center เพื่อออกหน่วยเคลื่อนที่ช่วยเหลือ ซ่อมแซมสถานศึกษาและบ้านเรือนประชาชน จัดสร้างสุขาลอยน้ำ และจัดสร้างบ้าน Knock Down ตัวอย่าง

เห็นชอบร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ.

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

กำหนดนิยามคำว่า “เขตพื้นที่การศึกษา” และ “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” เพิ่มเติม

กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๗ (๕) ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และกำหนดกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งในแต่ละกลุ่ม

กำหนดให้ในกรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งในแต่ละสังกัด มีจำนวนไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด ให้ผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งผู้นั้นเป็นผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดนั้นโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง และกำหนดให้ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้ง หรือมีแต่ยังไม่ครบตามจำนวนหรือมีผู้สมัครแต่ไม่มีผู้มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งครบตามจำนวน ให้ส่วนราชการดำเนินการสรรหาตามที่เลขาธิการ ก.ค.ศ.กำหนด

กำหนดให้ประธานกรรมการประจำเขตเลือกตั้งรายงานผลการนับคะแนนหรือผลรวมคะแนนในเขตเลือกตั้งไปยังสำนักงาน ก.ค.ศ.ภายในสามวันนับแต่วันเลือกตั้ง

กำหนดให้เมื่อสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับรายงานผลการนับคะแนนหรือผลรวมคะแนนเลือกตั้งแล้ว ให้สำนักงาน ก.ค.ศ. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการรวมคะแนนเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ ศธ. เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

กำหนดนิยามคำว่า “ครูการศึกษาพิเศษ”

กำหนดให้เพิ่มเติมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จากเดิมจำนวน ๑๓ คน เป็นจำนวน ๑๔ คน และให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษเป็นกรรมการและเลขานุการ

กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับครูการศึกษาพิเศษที่มีวุฒิทางการศึกษาพิเศษระดับปริญญาตรี ซึ่งทำการสอนและได้รับเงินเพิ่ม เป็นครูการศึกษาพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้

เห็นชอบและอนุมัติการลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทย

ครม.เห็นชอบและอนุมัติตามที่ ศธ.เสนอ ทั้ง ๔ ข้อ ดังนี้

๑. เห็นชอบการจัดทำกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทยระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย และสำนักส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ (China National Office for Teaching Chinese as a Foreign Language : Hanban) สาธารณรัฐประชาชนจีน

๒. อนุมัติและมอบอำนาจ (full power) ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษามอบหมายเป็นผู้ลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทย

๓. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทย

หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทยที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ ศธ.ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอีก

สาระสำคัญ ศธ.ได้รายงานว่า สกอ.และ Hanban จะร่วมกันจัดทำกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาไทย [Framework of Co-operation on Development of Chinese Language Teaching and Learning in Thai Higher Education Institutions between the Office of the Higher Education Commission Ministry of Education, the Kingdom of Thailand and China National Officer for Teaching Chinese as a Foreign Language (Hanban), the People’s Republic of China] โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถของคณาจารย์ไทยในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งสาระสำคัญของความร่วมมือ Hanban สรุปได้ดังนี้

กิจกรรมความร่วมมือ ได้แก่

การเสนอให้ Hanban ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวจีนมาเป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะทำงานของ สกอ.ในการพัฒนาตำราภาษาจีนและสื่อการเรียนการสอนแบบมัลติมีเดียระดับอุดมศึกษา

การส่งผู้เชี่ยวชาญชาวจีนมาร่วมทำงานกับนักวิชาการไทยในการพัฒนาแบบทดสอบสมรรถนะภาษาจีนของอาจารย์ชาวไทยเพื่อค้นหาความจำเป็นที่อาจารย์ไทยจะต้องมีการพัฒนาสมรรถนะด้านภาษาจีนเพิ่มเติม

๔. เสนอให้ Hanban จัดสรรทุนการศึกษาและฝึกอบรมภาษาจีนให้แก่คณาจารย์ชาวไทย

เงินสมทบ

สกอ.จะจ่ายเงินสมทบให้แก่ผู้เชี่ยวชาญจีนของ Hanban ดังนี้ ๑) เงินเดือน ๒๖,๐๐๐ บาท ๒) อำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเข้าประเทศไทย ๓) จัดหาที่พักที่เหมาะสม ๔) ให้การต้อนรับในการเดินทางระหว่างสนามบินและที่พักในประเทศไทย ๕) อำนวยความสะดวกในการจัดทำใบอนุญาตการทำงาน การต่ออายุวีซ่าและใบอนุญาตการทำงาน ๖) จัดหาพื้นที่สำนักงานและอุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ๗) จัดหาตู้เย็นและโทรทัศน์ระหว่างพำนักในประเทศไทย ๘) จัดหาพาหนะในการเดินทางให้ตามคำร้องขอและระหว่างปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย

เงินสมทบจาก Hanban ประกอบด้วย ๑) ค่าพาหนะการเดินทางระหว่างประเทศ ๒) เงินเดือน ๓) อุปกรณ์ที่จำเป็น ซอฟต์แวร์และวัสดุอุปกรณ์สำหรับพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนและคู่มือ ๔) อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการทดสอบสมรรถนะภาษาจีนที่จะลงทุนร่วมกันและจัดทำขึ้นโดยคู่ภาคี ซึ่งจะมีการเจรจาต่อรองระหว่างคู่ภาคีต่อไป ๕) ทุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและการจัดอบรมภาษาจีนระยะสั้น ๖) ตำราภาษาจีนและคู่มืออาจารย์.

ไม่มีความคิดเห็น: