วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

ร่างการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณของสถานศึกษาและเขตพื้นที่

คณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบ ติดตามและการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. ... และร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะนำร่างทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวเสนอ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ (รมว.ศธ.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2554 ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดขึ้น เมื่อวันที่ 14 มี.ค.54 ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ว่า การประชุมวันนี้มีนายอมเรศ ศิลาอ่อน เป็นประธานและที่ประชุมได้พิจารณา 2 เรื่อง คือ

1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการในการตรวจสอบ ติดตามและการประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (พ.ร.บ.) พ.ศ.2542 มาตรา 62 ที่กำหนดให้มีระบบการตรวจสอบ ติดตามและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักการศึกษาว่าเป็นไปคุ้มค่าหรือไม่ โดยมีเป้าหมายในภาพใหญ่ว่าการใช้งบประมาณ การประเมิน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามีความคุ้มค่าหรือไม่ โดยเน้นในโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.)ซึ่งคณะกรรมการได้ตั้งข้อสังเกตว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลควรกำหนดให้ชัดเจน และการลดเรื่องการจัดทำเอกสารเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับครูในสถานศึกษา จากนี้คณะอนุกรรมการฯ ที่ยกร่างซึ่งมีศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นประธานและตนจะได้นำข้อสังเกตไปปรับแก้ต่อไป

2.ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 มาตรา 9 (2) และ (6) ที่กำหนดให้ยึดหลักการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และอปท. ซึ่งปัจจุบันมี อปท.ที่จัดการศึกษาในระบบ 428 แห่งจากทั้งหมด 7,853 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.45 มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 1,590 แห่ง อาชีวศึกษา 10 แห่ง อุดมศึกษา 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19,481 แห่ง มีนักเรียนรวม 992,828 คน และอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมี อปท.เข้ามาร่วมจัดการศึกษามากขึ้น แต่ปัจจุบันพบว่า อปท.ยังมีปัญหาในเรื่องการจัดการศึกษา อาทิ หลายแห่งขาดความรู้และประสบการณ์ ขาดการส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ รวมถึงหลักเกณฑ์การถ่ายโอนยุ่งยาก เป็นต้น ร่างดังกล่าวจึงได้กำหนดเป้าหมาย 7 เป้าหมายและ 5 ยุทธศาสตร์ โดยมีสาระเพื่อให้ อปท.มีความเข้มแข็งในการจัดการศึกษา การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการให้มหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมเป็นพี่เลี้ยงทางการศึกษาด้วย

ด้าน ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการฯ ด้านการกระจายอำนาจทางการศึกษา ซึ่งมี รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน ได้กำหนดเป้าหมาย 7เป้าหมายสำคัญ คือ
1.กระจายอำนาจไปยัง อปท.มากขึ้น โดยส่งเสริมความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
2. ให้ อปท.รับผิดชอบดูแลเด็กอายุ 2.5 - 4 ปี และในวัยอนุบาล อายุ 4-6 ปี เพื่อให้เด็กในวัยนี้ได้เข้ารับบริการอย่างมีคุณภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 80ของประชากรกลุ่มอายุ ภายในปีการศึกษา 2556
3.ให้ อปท.ดูแลและพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทุกแห่งให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน
4.สถานศึกษาสังกัด อปท.ทุกแห่ง ผ่านการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระดับดี ภายในปีการศึกษา 2561
5.อปท.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จัดการศึกษานอกระบบและสร้างเสริมแหล่งเรียนรู้ เพื่อการศึกษาเรียนรู้และการศึกษาตามอัธยาศัย ภายในปี 2561
6.มอบอำนาจให้ อปท.ใช้ประโยชน์จากโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีนักเรียนภายในปี 2555 และโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5,129 แห่ง ให้ อปท.บริหารจัดการไม่น้อยกว่าปีละ 100 แห่ง และ
7. ให้ อปท.ดูแลผู้ด้อยโอกาส พิการ เร่ร่อน ยากจน ให้ได้รับบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: