วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิธีปฏิรูปศึกษาให้ถึงดวงดาวยกเครื่องระบบบริหาร-เน้นมีส่วนร่วม

วันที่ 24 พฤษภาคม ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต นางสุทธศรี วงษ์สมาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในการประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง "แนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2554-2561)" มีผู้เข้าร่วม 500 คน ว่าการปฏิรูปการศึกษาในรอบสอง เป็นการปรับแต่ง จะเน้นเรื่องคุณภาพการศึกษาโอกาสและความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมเป็นหลัก โดยกำหนดเป็น 10 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ อาทิ พัฒนาผู้เรียนและครูด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีฯลฯ, ปรับหลักสูตรและจัดกระบวนการเรียนการสอน และประเมินผลในรูปแบบใหม่ โดยเน้นกิจกรรมมากขึ้น, เร่งผลิตครูพันธุ์ใหม่ผลิตครูในสาขาขาดแคลน และครูวิชาชีพเป็นต้น

นายประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ อนุกรรมการคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ด้านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้นั้น อยู่ที่ระบบบริหารจัดการ ต้องหล่อหลอมคนให้มีวัฒธรรมของการทำงานในรูปแบบองค์กรเดียวกัน เน้นการทำงานเป็นทีมมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จอย่างไม่มีเงื่อนไข

พร้อมขจัดคอขวด โดยให้คนที่ปฏิบัติเป็นผู้ที่วางแผน แต่ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน และต้องปลดล็อคการทำงานแบบแยกส่วน จะทำให้สำเร็จได้ต้องประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ1.คิดอย่างสำเร็จ วางแผนอย่างแม่นยำ และจับต้องได้ และ 2.ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว โดยใช้ประสบการณ์ และถอดบทเรียนที่ผิดพลาดที่ผ่านมา

น.ส.เลขา ปิยะอัจฉริยะ อนุกรรมการกนป.ด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ กล่าวว่า นอกจากเน้นสร้างโอกาสให้ผู้ที่พลาดโอกาสแล้ว ต้องป้องกันผู้ที่มีโอกาสแล้วไม่ให้เสียโอกาส สร้างเครื่องมือให้คนไทยให้เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยเรื่องการศึกษาของไทย พบว่าเด็กไทยไม่ด้อยกว่าเด็กชาติอื่นๆ แต่ไทยมีจุดอ่อนในการบริหารจัดการ เป็นระบบการจัดการศึกษาที่ลงทุนน้อยมาก งบประมาณส่วนใหญ่เน้นเงินเดือน และพัฒนาโครงสร้าง จึงต้องหาแนวทางให้การลงทุนที่น้อยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นการมีส่วนร่วม และเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ กลไกที่จะขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้คือเรื่องวิชาการและการติดตามประเมินผล ที่ต้องเปลี่ยนจากการจับผิดเป็นตรวจสอบ และประกันคุณภาพ

นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ อนุกรรมการกนป.ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นปัจจัยตัวหนึ่ง เพราะความต่อเนื่องเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่จะชี้ได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จหรือไม่ แม้ที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะการปฏิรูปครู จากนี้ต้องดูว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กหรือไม่ เชื่อว่าหากครูเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอนได้การปฏิรูปการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงได้ ขณะนี้มีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เกิดขึ้น เชื่อว่าจะเป็นองค์กรที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนมากขึ้น รวมทั้งต้องให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ส่งเสริมให้ภาคเอกชนหันมาทำกิจกรรมด้านการศึกษา ตลอดจนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้คนหันมาทำบุญเพื่อการศึกษามากขึ้น

น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลเมืองภูเก็ตยึดยุทธศาสตร์ และนโยบายของ ศธ.แล้วยังผนวกกับยุทธศาสตร์ของเมืองภูเก็ตด้วย เพื่อให้เด็กรู้จักตนเอง รักท้องถิ่น และทำงานใน จ.ภูเก็ต โดยจัดทำแผนที่ชัดเจนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เมื่อจบการศึกษาแล้วจะมีงานอะไรรองรับ เพื่อให้เด็กทำงานอยู่ในพื้นที่ เทศบาลเมืองนครภูเก็ตจะเน้นให้เด็กรู้ไอที รู้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน มีจิตอาสารวมถึงภาคภูมิใจในตัวตนของคนเมืองภูเก็ต

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: