วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คอลัมน์: ครูดี...โรงเรียนเด่น: พี่ช่วยน้อง มฟล.+ รร.บ้านแม่คำต้นแบบใช้สื่อไอทีกระตุ้น O-NET

โดย มณีรัตน์ ศิริปัญจนะ

ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกล เพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา80 พรรษา ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) ร่วมกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดขึ้น เพื่อหวังกระตุ้นและยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนในจังหวัดเชียงราย โดยเมื่อเร็วๆ นี้นายวันชัย ศิริชนะอธิการบดี มฟล.ได้นำคณะผู้บริหาร พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินการ ซึ่งทันทีที่ก้าวถึงโรงเรียนบ้านแม่คำ (ประชานุเคราะห์)อ.แม่จัน จ.เชียงราย โรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ ผู้ร่วมทริปต่างตื่นตาตื่นใจกับผลงานการผลิตสื่อของนักเรียนที่นำมาจัดแสดง อีกทั้งยังได้ชมความสามารถในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้เรียนรู้จากคนในชุมชน อาทิ การ ทำตั่งนั่งหวาย เป็นต้น นายเสน่ห์ กันธะมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่คำ (ประชานุเคราะห์) เล่าว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 406 คน มีครูผู้สอน 26 คน เด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และประมาณ40% เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า โดยหลังจากที่โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี2550 ทำให้โรงเรียนมีพัฒนาการด้านคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

...กิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาจาก มฟล.มีมากมาย อาทิ การอบรมยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของครู 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การอบรมครูแกนนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) การออกแบบเว็บไซต์ การจัดทำภาพยนตร์สารคดีสั้น การจัดรายการวิทยุ การสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น และการสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยโปรแกรม Adobe Illustrator CS นอกจากนี้ มฟล.ยังได้จัดสร้างห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ให้กับโรงเรียน 1 ห้องเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ 21 ชุดเครื่องพรินเตอร์เลเซอร์ 1 เครื่อง เครื่องแม่ข่าย (Server)1 ชุด โปรเจกเตอร์ 1 เครื่องและติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบ ADSL สำหรับใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน โดยปัจจุบันที่โรงเรียนแห่งนี้เป็นจุดศึกษาดูงานการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ "สิ่งต่างๆ ที่ได้รับในครั้งนี้ถือเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับครูและนักเรียน ซึ่งครูและนักเรียนแกนนำหลังจากผ่านการอบรมแล้ว ก็จะมาถ่ายทอดสู่คนอื่นๆ ในโรงเรียนและเพื่อไม่ให้ความรู้ที่ได้รับในการถ่ายทอดมาสูญหาย ทางกลุ่มนักเรียนก็ได้จัดโครงการพี่ช่วยน้อง โดยเป็นการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ขณะเดียวกันก็ยังมีการลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เบื้องต้นให้แก่ชาวบ้านด้วย" นายเสน่ห์ เล่าด้วยว่า ปัจจุบันเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งสามารถเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนได้อย่างดี เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาขาดครูยังคงมีอยู่ในทุกโรงเรียน เช่น ที่โรงเรียนแห่งนี้ขาดครูวิชาดนตรี ซึ่งครูที่สอนวิชานี้ก็ไม่ได้จบสาขานี้โดยตรง ดังนั้น จึงต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นแหล่งค้นหาความรู้ และนำสื่อการสอนต่างๆ มาอธิบาย ทำให้เด็กเข้าใจและจูงใจให้เด็กหันมาสนใจเรียนมากขึ้น "ความสำเร็จที่เห็นชัดในขณะนี้คือ นักเรียนสามารถนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงและมีผลงานที่ได้รับรางวัลต่างๆมากมายขณะเดียวกันผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนายเสน่ห์ กันธะมูลนักเรียนในทุกกลุ่ม สาระการเรียนรู้ก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใน 1 ปี โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 5% เช่น คะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 50%ก็เพิ่มขึ้นเป็น 60%"

...เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การร่วมมือกันของทุกฝ่าย จะเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน และยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยให้สูงขึ้นจึงได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ เช่นนี้คงจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป
"ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในทุกกลุ่ม มีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใน1 ปี เช่น คะแนนเฉลี่ย O-NET จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 50%ก็เพิ่มขึ้นเป็น 60%"

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: