วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สพฐ.เร่งคลอดเกณฑ์'วิทยฐานะ'ใหม่ เน้น'สมรรถนะครู-ผลสัมฤทธิ์นักเรียน' เล็งนำร่อง 3 สาขา'อังกฤษ-คณิต-วิทย์'

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะด้วยการประเมินสมรรถนะ ว่า ขณะนี้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังจัดทำหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้อยู่ ซึ่ง สพฐ.จะให้ใช้การประเมินในสาขาวิชาที่มีความพร้อมก่อนใน 3 สาขาวิชา คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวทางเบื้องต้นว่าในการขอให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ จะไม่เน้นการทำผลงานทางวิชาการ แต่จะประเมินสมรรถนะของครูผู้สอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน อย่างคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นสำคัญ เป็นต้น ส่วนผลงานวิชาการจะให้ทำคล้ายๆ สารนิพนธ์ มีความหนาไม่เกิน 50 แผ่น จากเดิมที่การทำผลงานจะมีความหนามากกว่า 50 แผ่น
นายชินภัทรกล่าวว่า ด้านขั้นตอนการประเมินนั้น ครูที่จะเข้ารับการประเมินวิทยฐานะจะต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะจากหน่วยงานกลางตามที่กำหนดไว้ก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการประเมิน โดยการนำใบรับรองสมรรถนะมายื่นได้ ทั้งนี้ วิทยฐานะชำนาญการจะต้องผ่านการประเมินสมรรถนะระดับต้น วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ต้องผ่านประเมินสมรรถนะระดับกลาง และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ต้องผ่านการประเมินสมรรถนะระดับสูง ส่วนการส่งกรรมการลงไปประเมินในระดับสถานศึกษานั้น อาจลงไปตรวจสอบข้อมูลครูที่ขอเข้ารับการประเมินว่าเป็นอย่างไร อย่างกรณีสมรรถนะของเด็ก จะต้องไปดูในโรงเรียนว่าเด็กมีสมรรถนะจริงตามที่แจ้งหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีประจักษ์พยานที่ชัดเจน

"การประเมินวิทยฐานะด้วยการประเมินสมรรถนะนี้ จะเปิดโอกาสให้ครูได้เลื่อนวิทยฐานะเพิ่มขึ้น เช่น ภาษาอังกฤษ ที่ผ่านมามีครูผ่านการประเมินไม่ถึง 10% ของผู้ที่เข้ารับการประเมิน แต่วิธีการประเมินใหม่นี้จะเป็นธรรมมากขึ้น ใครที่ตั้งใจทำงานแต่เขียนผลงานไม่เก่ง จะมีสิทธิผ่านประเมินมากยิ่งขึ้น เพราะจะดูผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน และสมรรถนะผู้สอนเป็นหลัก" นายชินภัทรกล่าว

นายชินภัทรกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น จะให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ช่วยทำหน้าที่ประเมินสมรรถนะของผู้ที่จะเข้ารับการประเมิน เนื่องจาก สสวท.มีความเชี่ยวชาญใน 2 วิชานี้ ทั้งนี้ สพฐ.จะเร่งจัดทำรายละเอียดให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปใช้ในการประเมินวิทยฐานะต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบในหลักการแล้ว จึงไม่น่าจะต้องนำเสนอให้อนุมัติอีกครั้ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


เสนอตั้งกก.ปรับหลักสูตร เน้น'ผลลัพธ์เด็ก'เป็นหลัก

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตามนโยบายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ว่า สัปดาห์หน้าจะเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นชอบคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปหลักสูตร จำนวน 12-15 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ภาคเอกชน เช่น คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น อีกทั้งจะเสนอให้สภาการศึกษาเป็นฐานในการดำเนินการเรื่องนี้ นอกจากนี้ จะเสนอตั้งคณะอนุกรรมการย่อยอีก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่จะมาศึกษาเพื่อออกแบบระบบการศึกษาของประเทศไทยว่าต้องเปลี่ยนแปลงเช่นไร โดยที่ผ่านมาการศึกษาไทยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อาจต้องเปลี่ยนเป็นระบบเน้นผลลัพธ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งใช้กันอยู่ในหลายประเทศ แต่จะต้องออกแบบและปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย 2.กลุ่มศึกษาโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนที่อาจต้องออกแบบกันใหม่ อาจจะเหมือนเดิมหรือไม่ก็ได้ โดยในส่วนนี้ จะมีคณะทำงานย่อยๆ ออกมาอีกในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า 3.กลุ่มที่ต้องนำผลการดำเนินการของกลุ่มที่หนึ่งและสองมาออกแบบเป็นตำราหรือแบบเรียนเพื่อให้เป็นโครงการตำราแห่งชาติ ซึ่งต้องกำหนดเนื้อหาแต่ละรายวิชาให้ละเอียดเพื่อให้มีการนำไปจัดพิมพ์เป็นแบบเรียน และอาจจะต้องทบทวนวิธีการอนุมัติตำราเรียนใหม่เพราะตอนนี้สำนักพิมพ์ที่จะพิมพ์แบบเรียนต้องส่งต้นฉบับมาให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อนุมัติเพื่อให้ได้ใบอนุญาต โดยมีเพียงเจ้าหน้าที่ สพฐ.เพียงไม่กี่คนที่จะพิจารณา แต่ต่อไปอาจต้องให้นักวิชาการ 3-4 คน มาดูเนื้อหาต้นฉบับ และ 4.กลุ่มที่กำหนดวิธีการเพื่อนำหลักสูตรไปใช้ เช่น การนำไปทดลองนำร่องก่อน เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีหน้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ครม.อนุมัติจ่ายโบนัสให้ข้าราชการ

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติแนวทางการจัดสรรเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 4,000 ล้านบาท สำหรับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ คือ 1. ให้ใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อจัดสรรเป็นเงินรางวัลประจำปี สำหรับผู้ปฏิบัติและผู้บริหารของส่วนราชการจังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยให้ส่วนราชการที่มีเงินงบประมาณเหลือจ่ายสามารถโอนเปลี่ยนแปลงรายการเงินงบประมาณเหลือจ่าย ไปตั้งจ่ายในรายการเงินรางวัล โดยไม่ต้องขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเป็นราย ๆ ไป ทั้งนี้ เป็นการผ่อนผันวิธีปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นพ.ทศพร กล่าวต่อว่า 2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มาสมทบเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 สำหรับผู้ปฏิบัติและผู้บริหารให้ทั่วถึงทุกส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาที่มีผลการปฏิบัติราชการที่ดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.ร.กำหนด 3. อนุมัติหลักการให้ใช้เงินเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เพื่อจัดสรรเป็นเงินรางวัลประจำปี โดยให้ส่วนราชการ ที่มีเงินงบประมาณเหลือจ่าย สามารถโอนเปลี่ยนแปลงรายการเงินงบประมาณ ไปตั้งจ่ายในรายการเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติของหน่วยงานโดยปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และแก้ไขเพิ่มเติม 4. อนุมัติหลักการเพื่อกำหนดรายการเงินรางวัลฯ ไว้ในงบบุคลากรของส่วนราชการฯ ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ.ร. กำหนด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: