วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ศธ.-ป.ป.ช.ลงนามความร่วมมือปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน

สำนักงาน ป.ป.ช. - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานกับนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยนายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้แทนฝ่าย ป.ป.ช. กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้แทนฝ่าย ศธ. เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี

รมว.ศธ.กล่าวว่า การทุจริตคอรัปชันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในโอกาสที่ตนเคยผ่านงานทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ทำให้ได้เห็นการทำงานของทั้ง ๓ ฝ่าย ซึ่งต้องยอมรับว่ามีคนกระจายอยู่รวมกัน ทั้งคนที่ทำงานตรงไปตรงมา ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต คนที่ขยันขันแข็งแต่อาจจะไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีคนที่ไม่ค่อยทำงานและไม่ซื่อสัตย์สุจริต โดยในระยะหลัง สังคมไทยมีการทุจริตคอรัปชันเพิ่มขึ้น และที่น่าเป็นห่วงก็คือเมื่อมีการสำรวจความคิดเห็น จะมีคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าการทุจริตคอรัปชันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หากทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ และในความเป็นจริงการทุจริตคอรัปชันไม่ได้มีเฉพาะในระดับใดระดับหนึ่งเท่านั้น แต่มีอยู่ในหลายระดับในสังคมไทย

การทุจริตคอรัปชันก่อให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีอากรของประชาชนอย่างมหาศาล ซึ่งไม่เฉพาะในประเทศไทย ในต่างประเทศเองก็มีการทุจริตคอรัปชัน แต่หากจับได้จะมีการเอาจริงเอาจังมาก แม้กระทั่งในวงการของศาลที่โดยปกติวงการศาลในต่างประเทศเป็นวงการที่น่าเชื่อถือมาก เมื่อเทียบกับศาลไทยแล้ว เขาสร้างความน่าเชื่อถือมามากกว่าเรา

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังเกิดคดีที่เป็นข่าวโด่งดัง ที่เรียกว่า Kids for Cash เกิดจากผู้พิพากษาศาลเยาวชนรัฐเพนซิลเวเนีย มีคำสั่งส่งเด็กและเยาวชนไปสถานฝึกอบรมของเอกชนแห่งหนึ่ง จำนวนหลายพันคนในช่วงเวลา ๘ ปี แต่สุดท้ายก็พบว่า ผู้พิพากษาได้รับเงินสินบนจากสถานฝึกอบรมเอกชนแห่งนั้น ผู้พิพากษาและหัวหน้าศาลจึงถูกดำเนินคดีอาญา ศาลสูงสุดยกเลิกคำสั่งทั้งหมดของผู้พิพากษาและศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก ๒๗ ปี นอกจากการกระทำของผู้พิพากษาดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชนเป็นพันๆ คนแล้ว ยังก่อให้เกิดเหตุสลดใจอีกอย่างคือ เด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นนักมวยปล้ำแนวหน้าของประเทศได้ถูกส่งไปฝึกอบรมในสถานฝึกอบรมด้วยเช่นกัน ในข้อหามีเครื่องมือที่ใช้ซุกซ่อนยาเสพติด ซึ่งผิดกฎหมายของรัฐและลงโทษไม่ร้ายแรง ทำให้เด็กเกิดความกดดันมาก เมื่อออกมาเด็กก็ฆ่าตัวตาย เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ระบบศาลในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีระบบการตรวจสอบและควบคุมจำนวนมาก ยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ และเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่เกิดเหตุขึ้นในที่อื่นๆ ด้วย อยู่ที่ว่าจะมีการเอาจริงเอาจังหรือไม่

ในประเทศไทยก็เกิดการทุจริตคอรัปชันเช่นกัน โดยดูได้จากข่าว การเกิดเหตุ การจับกุม แต่ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล กว่าจะเห็นว่าคดีไปถึงศาลและมีการพิพากษาลงโทษอย่างจริงจัง คดีส่วนใหญ่ค้างคาอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวน ซึ่งเชื่อว่าที่ ป.ป.ช.ก็มีอยู่มาก ตนเคยเปิดเว็บไซต์ดูพบว่า บางคดีสอบสวนกันตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ และยังจะต้องสอบสวนต่อไป และเมื่อสมัยที่อยู่กระทรวงยุติธรรมอำนาจในการสอบสวนคดีทุจริตคอรัปชันทั้งหมดอยู่กับ ป.ป.ช. จึงมีการพยายามที่จะช่วยแบ่งเบา บรรเทาภาระของ ป.ป.ช. นำงานที่ไม่สำคัญออกไป จึงเกิดเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม ขึ้น

เรื่องของการทุจริต ไม่สามารถใช้วิธีปราบปรามเพียงอย่างเดียว เพราะหากเราฝึกคนโดยไม่มีจิตสำนึกในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และบางคนมีจิตสำนึกในการที่จะหาประโยชน์โดยไม่ชอบ ซึ่งมีคนเหล่านี้กระจายไปอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งผู้ใช้อำนาจรัฐ ฝ่ายตรวจสอบ สุดท้ายแล้วก็จะมีคำถามหรือคำกล่าวที่ว่า หากมีองค์กรมาตรวจสอบ แล้วใครจะตรวจสอบองค์กรตรวจสอบ

ฉะนั้นสิ่งที่สำนักงาน ป.ป.ช.ร่วมลงนามกับ ศธ.ในครั้งนี้ ซึ่งมาจากการริเริ่มในสมัยอดีต รมว.ศธ. (ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช) เป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่ง เพื่อเป็นการปลูกฝังเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ด้วยวิธีปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต จนเป็นจิตสำนึกที่ถูกต้อง เป็นจิตสำนึกประชาธิปไตย ต้องสอนด้วยการกระทำ ด้วยการปฏิบัติ เช่น ในบางประเทศสอนเด็กตั้งแต่เล็กๆ ว่า ต้องพูดความจริง ฉะนั้นคนของเขาจะถูกฝึกให้พูดความจริง เมื่อเข้าไปในศาลและต้องปฏิญาณตนว่าจะพูดความจริง ก็จะพูดความจริง หากไม่พูดความจริงเขาจะรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่เขาจะทำได้ ในขณะที่ศาลไทยในสมัยที่ตนเป็นผู้พิพากษา แม้จะมีการสาบานตนกันทุกวัน แต่ก็ยังมีคนพูดโกหก โกหกกันอย่างสบายโดยไม่รู้สึกอะไรใดๆ จนเกิดคำพูดที่ว่า "ชีวิตผู้พิพากษาน่าแปลก ต้องใส่ชุดมนุษย์ค้างคาว (เสื้อครุยสีดำ มีปีกคล้ายค้างคาว) ขึ้นไปนั่งฟังคนโกหก" ซึ่งประสบการณ์ตรงของตนก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ เพราะมีพยานสองฝ่ายมาเบิกความต่อศาลโดยที่พูดไม่ตรงกัน ทำให้รู้ว่าพยานคนใดคนหนึ่งต้องพูดโกหกแน่นอน

ดังนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะได้ร่วมกันปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง ค่านิยมแห่งความซื่อสัตย์ สุจริต ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เชื่อว่าหากสามารถปลูกฝังค่านิยมนี้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของเรา ประเทศไทยก็จะก้าวหน้าไปอย่างแน่นอน ในส่วนของ ศธ.ยินดีที่จะร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. บุคลากร รวมทั้งสื่อมวลชน ในการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องและดำเนินการแนวทางที่ถูกต้องให้แก่กระบวนการศึกษาไทย ให้ปลอดจากการทุจริตคอรัปชัน หรือให้มีการทุจริตคอรัปชันน้อยที่สุด เพราะเราเชื่อว่า ครูที่ทุจริต ไม่สามารถจะสอนลูกศิษย์ที่สุจริตได้

สาระสำคัญของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และ ศธ. มีดังนี้
๑) ประสานงานและให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยใช้กลไกทางการศึกษา
๒) ทุกหน่วยงานและบุคลากรในสังกัด ศธ.ประสานความร่วมมือเข้าร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตกับสำนักงาน ป.ป.ช.
๓) ร่วมกันดำเนินการศึกษาวิจัย รวบรวมองค์ความรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระบบการจัดการศึกษา
๔) ร่วมจัดให้ความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยเฉพาะแนวทางการส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม แก่ผู้บริหารในส่วนกลาง ผู้บริหารการศึกษาในเขตพื้นที่และบุคลากรในสังกัด ศธ. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศทุกระดับ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่รณรงค์ให้เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านการทุจริต และร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริต
๕) ร่วมจัดให้ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง และการตรวจสอบเพื่อต่อต้านการทุจริตแก่บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกระดับ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่รณรงค์ให้เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านการทุจริต และร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริต
๖) ร่วมกันจัดทำดัชนีวัดคุณธรรมและความโปร่งใส สำหรับหน่วยงานในสังกัด ศธ.และดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
๗) ร่วมกันจัดทำช่องทางการสื่อสาร เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในฐานะเครือข่ายความร่วมมือป้องกันและปราบปรามการทุจริต
๘) ร่วมให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทาง รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานความร่วมมือดังกล่าว
๙) ร่วมกันดำเนินการอื่นใด ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. และ ศธ.เห็นสมควร

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: