วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ห่วงร.ร.นิติบุคคลทำค่าเรียนพุ่ง ข้อดีอิสระ-หวั่นเด็กจนถูกกีดกัน

นายวิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุบลราชธานี เขต 5 เปิดเผยว่า กรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนนิติบุคคล โดย จ.อุบลราชธานี ระดับประถมศึกษา โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี และระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช นั้นเป็นเรื่องดี เพราะโรงเรียนจะได้คล่องตัวทั้งงานวิชาการ งานบุคคล งบประมาณ ในการพัฒนาคุณภาพ และมีมาตรฐาน ดำเนินการได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพึงระวังคือการระดมทรัพยากร เพราะจะทำให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมจะได้รับการพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กไม่มีโอกาสได้เข้าเรียน และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องคือโรงเรียนต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน ซึ่งต้องรู้เป้าหมายที่ชัดเจน รู้ทิศทางในการพัฒนาได้เต็มที่ โดยการคัดเลือกและกำหนดบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาจะต้องมีความสมดุล

นายประยงค์ แก่นลา ผู้อำนวยการโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช กล่าวว่า การเป็นโรงเรียนนิติบุคคลจะทำให้โรงเรียนพัฒนาได้เร็วขึ้นกว่าเดิม มีเป้าหมายที่จะสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีให้กับนักเรียน นักเรียนสามารถประสบความสำเร็จหลังจากจบการศึกษาตามหลักสูตรการเรียนการสอน การบริหารงานจะได้คล่องตัว อยู่ในความรับผิดชอบการบริหารของผู้อำนวยการโรงเรียนโดยตรง จะได้จัดระบบธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องมีภาพรวมเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ และยกระดับคุณภาพทางการศึกษาอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายบางตัวยังไม่เอื้อต่อการเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน โดยยังไม่ขาดจาก สพฐ.เหมือนในต่างประเทศ ส่วนที่กังวลเรื่องการหาประโยชน์จากผู้ปกครอง หรือเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะในการรับนักเรียนนั้น หากหาประโยชน์เข้ากระเป๋าเป็นการส่วนตัวคงทำไม่ได้

นายเรืองเดช เขจรศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การให้โรงเรียนรัฐเป็นนิติบุคคล มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือโรงเรียนหลุดจากระบบราชการ มีอิสระและเสรีภาพจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ ทำให้การบริหารงบประมาณคล่องตัว ให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียนบริหารจัดการ รวมทั้งทำให้คณะกรรมการสถานศึกษาทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ชัดเจน ส่วนข้อเสียที่ต้องพึงระวังคือ ทำให้โรงเรียนใช้ฐานะสังคม รายได้ และอาชีพของผู้ปกครองเป็นตัวกำหนดในการคัดเลือกนักเรียนที่มีความพร้อมเข้าโรงเรียนได้ ขณะเดียวกันเด็กที่ฐานะทางสังคมไม่ดี แต่ผลการเรียนสูง จะไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน อาจทำให้โรงเรียนนิติบุคคลกลายเป็นโรงเรียนชั้นนำของผู้ปกครองและนักเรียนที่มีความพร้อม เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา จะทำให้เห็นช่องว่างทางสังคมมากขึ้น

นางวรจิตร์ เปียกบุตร ผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า การให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลโรงเรียนนั้น คณะกรรมการสถานศึกษามีสิทธิในการพิจารณาทุกเรื่อง เช่น กำหนดค่าเล่าเรียนที่อาจจะแพงขึ้น รวมถึงการแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษา อาจจะเล่นพรรคเล่นพวกกันได้ ทำให้ระบบธรรมาภิบาล การมีสำนึกรับผิดชอบ ความโปร่งใส การตอบสนอง ประสิทธิผล และประสิทธิภาพ ความเท่าเทียมกันจะหายไป


นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 2555



ศธ.หนุนมรภ.ผลิตบัณฑิตวิทย์

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ซึ่งมีนายเปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ในฐานะประธาน ทปอ.มรภ.40 แห่งทั่วประเทศรับฟังนโยบาย ว่า ได้มอบให้อธิการบดี มรภ.ทั้ง 40 แห่ง ส่งเสริมการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ตามที่รัฐบาลและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เนื่องจากเวลานี้บางสาขาผลิตบัณฑิตออกมาล้นกว่าที่ตำแหน่งงานจะรองรับได้ โดยเฉพาะผู้ที่จบสาขาศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ เวลานี้มีจำนวนมากขึ้น ผิดกับสาขาด้านวิทยาศาสตร์ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนเป็นอย่างมาก

รมว.ศึกษาธิการกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังฝากให้ ทปอ.มรภ.พิจารณาการจ้างบุคลากรเพิ่มเติม เนื่องจากรัฐบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงมาก จึงต้องการให้คำนึงถึงความจำเป็นและเหตุผลในการรับหรือบรรจุ ขณะเดียวกันควรนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาใช้ร่วมกันให้คุ้มค่าที่สุด พร้อมกันนี้ได้ฝากเรื่องการเก็บค่าบำรุงการศึกษาในหลักสูตรพิเศษ ที่ควรอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลไม่แพงมากจนเกินไป ตลอดจนเรื่องผลงานการวิจัย เพราะในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องการงบประมาณวิจัยเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีผลงานวิจัยที่จะนำไปต่อยอด หรือเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคเศรษฐกิจที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ ฉะนั้นหากสามารถสร้างงานวิจัยขึ้นมาใหม่ หรือนำงานวิจัยที่มีอยู่มาทำให้เกิดประโยชน์ได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีกว่า ส่วน ม.ราชภัฏบางแห่งที่ต้องการขอออกนอกระบบ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วนั้น ในเรื่องนี้ยินดีผลักดันให้

ด้านนายเปรื่องกล่าวถึงการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ว่า อยากให้ประกาศจำนวนตัวเลขความต้องการบัณฑิตที่จบสาขาต่างๆ ให้ชัดเจนว่าในแต่ละปีต้องการเท่าไร โดยเฉพาะเด็กที่กำลังเข้าสู่โรงเรียนระดับการศึกษาพื้นฐาน เพื่อที่จะได้ผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด


สพฐ.สั่งสำรวจผลเรียนรู้แท็บเล็ตป.1 มอบศนฐ.วิจัยข้อเสีย-จุดดีหวังปรับศักยภาพ

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินงานโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย หรือ One Tablet per Child ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรจัดหา และจัดทำสื่อบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ 336 เรื่อง บรรจุในแท็บเล็ตครอบคลุม 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก สำหรับเป็นสื่อการสอนของครูและสื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อเปิดมิติใหม่ของการศึกษาที่เรียนรู้จากภาพเคลื่อนไหว มีเสียง และมีหนังสือเรียนให้เลือกอ่าน พร้อมเกมฝึกทักษะ เป็นการเรียนที่สนุกสนาน

สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ การติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนผ่านสื่อออนไลน์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการเรียนไม่ทันเพื่อนจากการขาดเรียนอีกด้วย ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้โรงเรียนและครูผู้สอนชั้นป.1 ดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยใช้แท็บเล็ตให้แก่นักเรียนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เดือน ก.ค.- ส.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้น สพฐ.จึงต้องติดตามผลการใช้แท็บเล็ตในการเรียนรู้ของเด็กป.1 ว่า พบข้อดี ข้อเสีย ใดบ้าง เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย

เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการติดตามผลการใช้แท็บเล็ตในการเรียนรู้ของเด็กป.1 นั้น มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศนฐ.) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีขอบเขตการวิจัยประกอบด้วย นักเรียนชั้นป.1 จำนวน 297,901 คน ครูผู้สอนชั้นป.1 จำนวน 12,553 คน ในโรงเรียนสังกัดสพฐ. ที่ได้รับจัดสรรแท็บเล็ตในระยะที่ 1 โดยมีประเด็นการศึกษา อาทิ ความสามารถการใช้ไอซีที การเสริมสร้างประสบการณ์ทางภาษา การเสริมสร้างความรับผิดชอบ การใช้สื่อการสอนเพื่อการคิดและการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

ทั้งนี้ ทีมวิจัยของศนฐ.จะดำเนินการรวบรวมเก็บข้อมูลและนำเสนอผลการใช้แท็บเล็ต การเรียนรู้ของเด็กป.1 ภายในเดือนม.ค.56 เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ในการปรับปรุง โครงการแท็บเล็ตให้มีศักยภาพต่อไป


นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 2555

ไม่มีความคิดเห็น: