วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลักสูตรพื้นฐานใหม่มี 6 กลุ่มสาระ


รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ ที่มี ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า มีแนวโน้มที่จะยกเลิกหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มาเป็นหลักสูตรใหม่โดยเหลือ 6 กลุ่มสาระ ได้แก่ 
1. ภาษาและวัฒนธรรม (Language and Culture)
2. กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) 
3. การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Work Life) 
4. ทักษะสื่อและการสื่อสาร (Media Skill and Communication) 
5. สังคมและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity) 
6. อาเซียน ภูมิภาคและโลก (Asean Region and World) 
ซึ่งหลักสูตรใหม่นอกจากจะลดจำนวนกลุ่มสาระการเรียนรู้แล้ว จะมีการลดชั่วโมงเรียนลงด้วย แต่จะเพิ่มโครงงาน หรือการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนแทน เพื่อให้เด็กได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้
          "หลักสูตรใหม่ดังกล่าว มีความครอบคลุมสาระวิชาที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น ซึ่งคณะกรรมการได้ศึกษาตัวอย่างโครงสร้างหลักสูตรของต่างประเทศไม่น้อยกว่า 12 ประเทศ มาประกอบกับเนื้อหาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ซึ่งพบว่าหลักสูตรของเรายังมีจุดอ่อนอยู่มาก เช่น เราให้เด็กเรียนถึง 8 กลุ่มสาระ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เรียนเพียง 3-4 กลุ่มสาระแล้วค่อย ๆ เติมเนื้อหาสาระที่จำเป็นเข้าไป ซึ่งหลังจากนี้คณะทำงานของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ใหม่ทั้ง 6 กลุ่มจะไปวางแนวทางและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละระดับ โดยคาดว่าในอีก 6 เดือนพิมพ์เขียวจะแล้วเสร็จ  จากนั้นจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นต่อไป" รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ปฏิรูปบทบาทเด็กไทย พัฒนาอย่างไรสู่'อาเซียน'

          พลาดิศัย จันทรทัต          ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในภารกิจพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนไทย ควบคู่กับการฉลองครบรอบการก่อตั้ง 15 ปี "สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว" ม.มหิดล จึงจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 เรื่อง "การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนสู่ประชาคมอาเซียน" เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
          การประชุมในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาคีด้านสังคมอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มาร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ 'เด็กไทย' ได้มีความพร้อมและคุณสมบัติที่เพียงพอต่อการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 2 ปีนับจากนี้
          เพื่อกะเทาะโจทย์ต่างๆ ให้เห็นถึงแก่น เจ้าภาพจึงแบ่งประเด็นเสวนาออกเป็น 6 ห้องย่อย ให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กและเยาวชน ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านแพทยศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ หรือด้านพฤติกรรมศาสตร์ ได้ปล่อยของ และร่วมถกกรณีศึกษา รวมถึงเปิดรับข้อคิดข้อเสนอ ตลอดจนบทความวิจัยจากผู้ร่วมงาน
          ประกอบด้วย ห้องการพัฒนาศักยภาพของสมอง และการรู้คิดของเด็กไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ห้องการพัฒนาศักยภาพด้านอารมณ์ คุณธรรม จริยธรรมของเด็กไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ห้องการพัฒนาศักยภาพด้านสังคม วัฒนธรรมของเด็กไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
          ห้องบทบาทของการศึกษา ต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ห้องบทบาทของสื่อและเทคโนโลยี ต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน และห้องการพัฒนาศักยภาพเด็กด้อยโอกาส เด็กชายขอบ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
          สำหรับเวทีบท บาทการศึกษานั้น 'ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์' นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ หน.กลุ่มที่ปรึกษา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่ง มองว่าประเทศไทยมีต้นทุนด้านภาษา และวัฒนธรรม เพราะภูมิประเทศตั้งอยู่ใจกลางนานาประเทศ ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ไม่เว้นแม้กระทั่งพี่บิ๊ก อย่างจีน
          ดังนั้นเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีพรมแดนติดกับเพื่อนบ้าน จึงมีต้นทุนทางด้านภาษา เช่น ภาคใต้พูดภาษามลายู ภาคเหนือพูดภาษาไทยใหญ่ ภาษาพม่า ภาคอีสานพูดภาษาลาว ภาษากัมพูชาได้
          ในส่วนของการศึกษานั้น ถึงจะอยู่ในระดับปานกลางหากเทียบกับชาติสมาชิกที่เหลือ แต่ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ หากเราดึงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของแต่ละประเทศ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่การศึกษาไทยจะถีบตัวไปถึงระดับต้นๆ ได้
          ส่วนสิ่งที่เป็นจุดอ่อนสำหรับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยนั้น คุณหมอชี้ว่าคือความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องการให้เด็กมีให้เด็กเป็น ฉะนั้นครูควรส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ หรือเรียนรู้จากชุมนุมชมรมต่างๆ เพราะจะเกิดประโยชน์กับตัวเด็กในด้านการคิดวิเคราะห์ ที่นอกเหนือจากกรอบการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างมหาศาล
          นอกจากนี้เด็กไทยต้องมี Self Learning หรือการสร้างโอกาสให้ตัวเอง โดยเฉพาะทักษะการอ่าน ทักษะการใช้ไอที ตลอดจนพฤติกรรมของผู้ปกครอง หรือParent Support Learning ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเด็กอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษา จำเป็นต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ปกครอง เช่น ช่วยลูกทำการบ้าน หรือเข้าเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่ส่งลูกไปเรียนพิเศษอย่างในปัจจุบัน
          "สิ่งสำคัญอีกประการคือการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งเด็กไทยครองแชมป์การใช้เพื่อบันเทิงเป็นหลัก หากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ เด็กไทยวัยก่อนเรียน วัยเรียน และวัยรุ่นจะได้รับบาป 12 ประการ วัยก่อนเรียนจะสมาธิเสีย ทักษะสังคมไม่พัฒนา และการเรียนรู้ต่ำ เด็กวัยเรียนจะอ้วน เสพติดความรุนแรง ติดเกม และวินัยรวมทั้งการเรียนเสีย ส่วนวัยรุ่นจะค่านิยมพฤติกรรมทางเพศเสีย ค่านิยมการบริโภคเปลี่ยน มีพฤติกรรมรังแกและล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต และสุดท้ายคือติดอินเตอร์เน็ต" หมอยงยุทธกล่าว
          ก่อนแนะนำปิดท้ายว่า ผู้ปกครองจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกผ่านหลักการง่ายๆ คือ 3 ต้อง ได้แก่ ต้องกำหนดโปรแกรมที่จะเล่น ต้องกำหนดเวลา และต้องใช้เวลาร่วมกันในการใช้อินเตอร์ เน็ต และ 3 ไม่ คือ ไม่มีอินเตอร์เน็ตในห้องนอนลูก ไม่เป็นแบบอย่างที่ผิดในการเล่นอินเตอร์เน็ต และไม่ใช้อินเตอร์เน็ตในเวลาครอบครัว
          ด้าน อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดการประชุม ตอนหนึ่งว่า หากพูดถึงระบบการศึกษาไทย ยังมีสองสิ่งที่ไทยไม่เคยทำอย่างจริงจัง นั่นก็คือ การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และคุณภาพของครู
          "ครูต้องปรับเปลี่ยนจากสอนทั้งชั่วโมง โดยให้เด็กก้มหน้าก้มตาจดอย่างเดียว มาเป็นสอนน้อยลงและเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ผิดถูกไม่สำคัญ เพราะประโยชน์คือเด็กได้คิดวิเคราะห์ โดยที่ครูสามารถสรุปสาระในท้ายชั่วโมงได้"
          หวังว่าข้อคิดดีๆ และบทสรุปที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปสู่หนทางการแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อให้การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย หรือผลักดันไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง ตลอดจนทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จับต้องได้ เกิดขึ้นจริงในสังคมนี้

ข่าวสด ฉบับวันที่ 28 มี.ค. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: