วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

หลักสูตรใหม่...เริ่มเดินเครื่อง


โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          ในนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้เน้นเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กเป็นสำคัญ เพราะที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาในรอบที่แล้วทุกภาคส่วนได้ผลประโยชน์กันอย่างเต็มที่ยกเว้นเด็ก ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 คณะ คือ
          คณะที่ 1 กำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาเป็นประธานและมีผู้ทรงคุณวุฒิมาจากทุกภาคส่วนเป็นกรรมการ 22 ท่าน
          คณะที่ 2 มี ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เป็นประธานคณะกรรมการและมีกรรมการออกแบบร่างหลักสูตรใหม่ ตำราเรียนแห่งชาติ รวม 32 ท่าน
          คณะกรรมการทั้ง 2 คณะ มีการประชุมร่วมหลายครั้ง ได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง จุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นมากมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 รวมทั้งได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับหลักสูตรขั้นพื้นฐานของประเทศต่างๆ ฟินแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และอื่นๆ
          ในเบื้องต้นผลการศึกษาการแสดงความคิดเห็นรอบด้าน ได้บทสรุปค่อนข้างจะตรงกันว่าประเทศไทยควรจะมีหลักสูตรใหม่ยกเครื่องเนื้อหาการเรียนรู้ได้แล้ว ดังเหตุผลต่อไปนี้
          หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ได้ใช้มานานระยะเวลาหนึ่งแล้วประมาณ 15 ปี ล้าหลังพอสมควร ถึงแม้นจะมีการปรับหลักสูตรหลายครั้ง แต่จุดกำเนิดของหลักสูตรฉบับนี้ใช้แนวความคิดหลักการ วิธีการของประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นเป็นหลัก คือ อิงมาตรฐาน (Standard Curriculum) นำไปสู่มาตรการเรียนรู้กว่า 4,000 มาตรฐาน และตัวบ่งชี้มากมายจนนำไปสู่การเชื่อมโยงเนื้อหาสาระเป็นหลัก จนครูสาละวนกับมาตรฐานและตัวบ่งชี้มากกว่าเรื่องอื่น
          การใช้เวลาเรียนรู้ประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองของโลก 1,000-1,200 ชั่วโมงต่อปี รองจากประเทศในทวีปแอฟริกาที่สูงที่สุด 1,400 ชั่วโมง ในขณะที่เกือบทุกประเทศมีเวลาเฉลี่ยการเรียน 600-800 ชั่วโมงต่อปี
          เด็กไทยเรียนหนักครูสอนหนักแต่ผลสัมฤทธิ์เกือบท้ายสุดในโลก ประเทศไทยเรียนพร้อมกันทั้ง 8 กลุ่มสาระ เข้าเป็นหน้ากระดานพร้อมกัน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื้อหามาก ยาก ซ้ำซ้อนมากมาย กลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับเด็กไทยที่เรียนตลอดทั้งวัน กวดวิชาเข้มข้น เพิ่มเสาร์-อาทิตย์ จนเกิดภาวะเครียดกดดัน ไม่มีความสุขกับการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
          หลายประเทศจัดเนื้อหาตามพัฒนาการและวัยของเด็กโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาเพียง 3-4 กลุ่มสาระ แล้วค่อยๆ เพิ่มเสียบมากขึ้นตามลำดับจนครบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แทบทุกประเทศส่งเสริมให้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียน ชุมชน แหล่งเรียนรู้สำคัญ ในรูปแบบโครงงาน (Project Base) ยกเว้นประเทศไทย เด็กไทยใช้เวลาเรียนรู้อยู่ในโรงเรียนกับครูและหนังสือเกือบ 100% ทีเดียว
          รายละเอียดของจุดอ่อน ข้อบกพร่องของหลักสูตรขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ยังมีอีกหลายประการ จนนำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญในการปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กไทยใหม่ด้วยหลักการและเหตุผล ความจำเป็น ความต้องการ ปัญหาความท้าทายของประเทศไทยในโลกทศวรรษที่ 21 ดังต่อไปนี้
          1.คุณภาพของการศึกษาของไทยอยู่ในขั้นวิกฤตทั้งในเชิงคุณลักษณะ ทักษะ และผลสัมฤทธิ์ ที่ตกต่ำและด้อยคุณภาพทั้งจากการวัดและประเมินผลภายในประเทศและนอกประเทศ ดังเช่น PISA และ O-net เฉลี่ยทุกวิชา ทุกทักษะตกเกือบหมด อยู่ระหว่างประมาณ 30-50% เป็นส่วนใหญ่
          2.รากเหง้าของสังคมไทยกับเด็กไทยสั่นคลอน ภาษาไทยกลายเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารที่อ่อนและผิดสำแดง มิใช่เป็นภาษาอัตลักษณ์ ความงดงาม สุนทรียะ ความภาคภูมิใจของชนในชาติ ประวัติศาสตร์การเรียนรู้เป็นประวัติแยกส่วน ความลึกซึ้งลดหายไปมาก ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ศาสนาเจือจางลง คลั่งแต่วัฒนธรรมต่างชาติ Kpop Jpop และตะวันตก
          3.กำลังคนระดับกลางขาดแคลนอย่างหนัก มิใยที่การกำหนดนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐาน : สายอาชีวศึกษาจะเป็น 50:50 ระบบหลักสูตรการศึกษาไทยยังมีค่านิยมส่งเสริมการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้นทั้งๆ ที่มีโอกาสตกงานสูง เด็กไทยมีทัศนคติ ค่านิยมรังเกียจการศึกษาในเชิงสัมมาชีพ อาชีวะระดับกลางค่อนข้างมาก (Career Education)
          4.ความท้าทายโลกในทศวรรษที่ 21 ประชาคมอาเซียน โลกของทักษะอนาคต แนวการเรียนรู้ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกร และคณิตศาสตร์) ภาษาอังกฤษ ICT ภาษาเพื่อนบ้าน แท็บเล็ต
          5.ลดเนื้อหาและเวลาเรียนให้น้อยลงไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปี กลุ่มสาระการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นหลัก การเรียนรู้:กิจกรรม = 60:40 ให้ส่งเสริมการศึกษาแบบโครงงาน (Project Base) ทุกระดับชั้นด้วยคำถามที่เหมาะสมกับวัย สิ่งแวดล้อม สังคมบริบทแต่ละแห่ง
          6.ลดภาระงานของครูให้ปรับเปลี่ยนบทบาทจากครูสอนท่องจำ ยึดหนังสือเป็นหลักมาเป็นวิทยากรกระบวนการ ผู้อำนวยความสะดวก การพัฒนาโจทย์คำถามร่วมกับนักเรียน การพาเด็กศึกษานอกห้องเรียน และอื่นๆ
          7.การสร้างและพัฒนาให้เด็กไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (Liberal Arts) ที่มีลักษณะความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม มีความเป็นไทยแสดงออกแบบสากลได้ มีความรอบรู้สหศาสตร์ทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การปรับตัวอยู่ในกระแสโลกอย่างสมดุล เป็นต้น
          8.สภาพปัญหาของเด็กไทยน่าเป็นห่วงแทบทุกด้าน เด็กไม่มีความสุขกับการเรียนรู้จากระบบหลักสูตรที่เน้นการแข่งขัน อัดฉีดเร่งเนื้อหา พร้อมกับหน่วยงานดังเช่น สมศ.และ สทศ.ที่เน้นการประกันคุณภาพภายนอกและข้อสอบที่ยากเกินระดับชั้น ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญให้เด็กถูกผลักออก ให้ออกกลางคันเป็นอันมากจนสภาพเด็กไทยมีสถิติการเป็นยุวอาชญากร การใช้ความรุนแรง ยาเสพติด การตั้งครรภ์ก่อนวันเรียนสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกเกือบทุกพฤติกรรมทีเดียว
          9.ความขัดแย้งแตกต่างสุดขั้วของคนในชาติ การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเป็นพลเมือง (Civic Education) คุณธรรม จริยธรรม ของคนในชาติ สันติศึกษา กระบวนการสร้างและหล่อหลอมวัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านสภานักเรียน กิจกรรมจิตอาสา จิตสาธารณะ เป็นต้น
          10.การวัดและประเมินผล ระบบสอบคัดเลือกแอดมิสชั่นส์ที่เน้นการสอบแข่งขันเชิงเนื้อหาลงมาเป็นการพิจารณาผลงานนักเรียน แฟ้มผลงาน กิจกรรมสะสมมากขึ้น ปฏิรูปหรือยกเลิกหน่วยงาน สมศ.และ สทศ.เสียใหม่
          คณะกรรมการได้มีการประชุมในเชิงหลักการและเหตุผลว่าจะยกร่างหลักสูตรใหม่นี้เป็นเพียงพิมพ์เขียวเริ่มต้นให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน ต่อจากนั้นจะให้สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานรับเป็นเจ้าภาพต่อไปตามกฎหมายที่ระบุไว้ ทั้งในเชิงการมีส่วนร่วมของประชาชน การประชาพิจารณ์ในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง สถาบันผลิตครู คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ครู ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ เขตการศึกษา ฯลฯ ทั้งในเชิงวิสัยทัศน์ เป้าหมาย พันธกิจ และอื่นๆ สำหรับโครงสร้างเนื้อหาเบื้องต้นหลังจากการศึกษาเปรียบเทียบหลายประเทศทั่วโลก การอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางเป็นเวลานานที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการเรียนรู้เนื้อหา 8 กลุ่มสาระที่มีแต่เดิมลง และยกเครื่องโครงสร้างเนื้อหาใหม่เป็น 6 กลุ่มสาระประสบการณ์ดังต่อไปนี้
          1.ภาษาและวัฒนธรรม (Language and Culture)
          2.กลุ่มสาระเรียนรู้ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกร และคณิตศาสตร์)
          3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Work Life)
          4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร (Media Skill and Communication)
          5.สังคมและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity)
          6.อาเซียน ภูมิภาคและโลก (Asean Region and World)
          การกำหนดโครงสร้าง 6 กลุ่มสาระวิชานี้ให้ระบุกำกับไว้ให้เรียนรู้ไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปี เพิ่มกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project Base) ทุกระดับชั้น เน้นกระบวนการประชาธิปไตยและคุณธรรม จริยธรรมเพิ่มมากขึ้นด้วย
          ในที่ประชุมได้มีการแสดงข้อห่วงใยว่าหลักสูตรใหม่อาจไปไม่ถึงดวงดาวความสำเร็จที่ตั้งความหวังไว้ได้ แม้นจะมีหลักสูตรดีที่สุดในโลกก็ตามที เพราะ ครูไทยไม่เปลี่ยนวิธีการสอน อย่างไรครูจำนวนหนึ่งยืนยันว่าทำได้อย่างแน่นอนขอเพียงยกร่างหลักสูตรให้ชัดเจน ประชาสัมพันธ์ ประชาพิจารณ์ การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มีคู่มือครูอธิบายอย่างละเอียดทุกขั้นตอน สร้างและผลิตสื่อให้เพียงพอ มีพี่เลี้ยง (Mentors) คอยให้คำแนะนำและร่วมลงมือปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง 3 ปี จะเห็นผลการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอน
          หลักสูตรใหม่ เริ่มเดินเครื่องเห็นเป็นรูปร่างบ้างแล้ว แม้นจะเป็นเพียงการยกร่างเบื้องต้น แต่ก็ยังแก้ไขได้ และยังต้องการนานาทรรศนะในวงกว้างอีกมากมาย เชิญร่วมถกเถียงแสดงความคิดเห็นมายังคณะกรรมการทุกท่านรวมทั้งผู้เขียนด้วย หรือส่งตรงไปที่ Thai currriculum : reform
ที่มา: http://www.prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น: