วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

อ.ก.ค.ศ.เขตไม่กล้าฟันธงทุจริตครู


 นายกิตติพศ พลนิลา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษา (สพป.)ขอนแก่น เขต 4 เปิดเผยว่า กรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตสอบครูผู้ช่วย นั้น ในส่วนของ สพป.ขอนแก่น เขต 4 กำลังอยู่ระหว่างการสอบทางลับ พร้อมตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงเสนอบอร์ด อ.ก.ค.ศ.ขอนแก่น เขต 4 ที่จะมีการประชุมในวันที่ 9 เม.ย.นี้ เพื่อให้บอร์ด อ.ก.ค.ศ.เป็นผู้ชี้ขาด อย่างไรก็ตามจากที่พูดคุยกับ อ.ก.ค.ศ.หลายคน มีความเห็นว่า หลักฐานที่ สพฐ.ส่งมาให้ซึ่งมีแค่คะแนนของผู้เข้าสอบนั้น ไม่เป็นหลักฐานที่แน่นพอจะตัดสินใครได้ แม้ความรู้สึกส่วนตัว จะเห็นว่า ผู้ผ่านการคัดเลือกของ สพป.ขอนแก่นเขต 4 ทั้ง 4 ราย ส่อผิดปกติจริง เพราะได้คะแนนเต็มวิชาเดียวกันทุกคน ส่วนที่อีก 3 วิชา ก็มีคะแนนสูงทิ้งห่างผู้เข้าสอบคนอื่น ๆ แต่เมื่อไม่มีหลักฐานที่แน่นหนารองรับแล้วก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขตพื้นที่ฯ ต้องการมากที่สุด คือ คำตอบของผู้เข้าสอบ ซึ่งจะเป็นหลักฐานชี้ชัดว่า มีการทุจริตหรือไม่ ถ้าดูจากกระดาษคำตอบแล้วพบว่า ผู้ที่ได้คะแนนผิดปกติ ทำข้อสอบผิดในข้อเดียวกัน หรือพบว่า คะแนนดิบที่นับได้จากกระดาษคำตอบไม่ตรงคะแนนรวมที่ สพฐ.ส่งมาให้นั้น ก็ชี้ชัดได้ทันที ว่า มีการทุจริต นอกจากนั้น อยากให้กระทรวงศึกษาธิการส่งผลการตรวจสอบของดีเอสไอ มาให้ด้วย
          "ถ้ามีข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในตอนนี้ คงไม่พอฟันธงว่า ใครทุจริตสอบได้ เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจของ อ.ก.ค.ศ.ที่จะไม่กล้าตัดสินใจยกเลิกผลสอบใครเพราะกลัวถูกฟ้อง สุดท้ายอาจไม่มีผู้เข้าสอบรายใดถูกยกเลิกซักคน" ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 4 กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


คอลัมน์: มองอาเซียน 360 : ฤๅการศึกษาไทย...จะมองผ่านอาเซียน

          สิริรัตน์ นาคิน คณะครุศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา
            
teachervoice@matichon.co.th
          ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN) ของการศึกษาไทยทุกระดับ ทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนก็ตาม ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่มีสมาชิกทั้งหมดด้วยกัน 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และ ไทย ในระยะเวลากว่า 40 ปี แห่งการก่อตั้ง จากการเริ่มต้นของการมุ่งเน้นที่จะสร้างความร่วมมือกันทุกๆ ด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเรียนรู้ที่ไม่เพียงการเน้นแต่เปลือกนอกจนเกินไป แต่อยากให้มองไปที่แก่นแท้ของความสำคัญของอาเซียน ความสำคัญของการเรียนรู้ว่าเรารวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนเพื่ออะไร หากเราพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องราวของวัฒนธรรมของแต่ละชาติก็คงไม่ผิด แต่การเรียนรู้และรักษาความสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เรียนรู้ทางภาษา และมุมมองของการพัฒนาไปพร้อมกัน มีความกลมเกลียวรวมตัวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปสู่ภาพอนาคตของการเป็นประชาคมอาเซียนที่หลายๆ คนได้ให้ความสนใจกันอยู่ในขณะนี้ ไม่เพียงแต่เราที่ได้ให้ความสนใจ แต่ทั่วโลกต่างก็จับตามองการรวมตัวกัน เพื่ออะไร เพื่อใคร และประโยชน์สูงสุดในครั้งนี้ ใครกันจะได้เปรียบเสียเปรียบ
          จากประสบการณ์การไปศึกษาดูงานที่กัมพูชาเมื่อไม่นานนี้ จะเห็นได้ว่าบ้านเมืองเขาก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเข้าไปเยี่ยมชมวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสาย เดินผ่านไปมาก็ไม่พ้นกรุ๊ปชาวไทยที่ไปเยือนเพื่อนบ้านด้วยกันเองเสียแล้ว มองในด้านเศรษฐกิจ ก็นับว่าดีมีความตื่นตัว หากมองด้านอื่นเพิ่มเข้าไปด้วย ยังคงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้อีกมากมายทั้งวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม วิถีชีวิต และการเลือกใช้ภาษา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ หากไปเยือนบ้านไหนก็ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ (เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม) ภาษิตนี้ยังคงใช้ได้อยู่ดีทีเดียว และความแตกต่างเหล่านี้เองจะเชื่อมโยงกันอย่างไร การเรียนรู้ในระดับภาครัฐและเอกชน บางแห่งก็สร้างความร่วมมือกันโดยมีโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษา ครู อาจารย์ ให้ไปศึกษา ดูงาน หรือไม่ก็ทำโครงการแลกเปลี่ยนที่หลายๆ มหาวิทยาลัยก็เริ่มมีบ้างแล้ว เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการศึกษาที่มีมานาน และควรสานต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความเป็นมิตรแท้ทั้งในและนอกประเทศให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในหน่วยงาน องค์กรร่วมมือกันสร้าง และผลิตบัณฑิตให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เรียนจบออกไปเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
          เพราะจากที่ได้ไปเห็นและเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สะท้อนถึงสิ่งที่เราจะต้องนำมาสร้างกลยุทธ์ในการจัดสภาพการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง วิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เรียนรู้แต่เปลือกนอกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้แก่นแท้ของความเป็นอาเซียนให้ลึกลงไปด้วย ให้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของเราโดยธรรมชาติ เรียนรู้อย่างจริงจังไม่ใช่เพียงแค่เรียนรู้ตามกระแสที่กำลังนิยม ถึงเวลาที่เข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างน้อยเราก็ไม่น้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะด้านภาษาที่นับว่าเรายังด้อยอยู่มาก แต่เชื่อว่าหากเราพร้อมที่จะเรียนรู้ก็คงไม่สายเกินไป
          อย่างไรก็ตาม หากมองผ่านการศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน ต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่า เราต้องเตรียมพร้อมและยอมรับการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นไปในทางที่ดี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เป็นไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และสร้างความแปลกใหม่ให้เป็นที่ยอมรับในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะสร้างเวทีการเรียนรู้ให้เกิดความเสถียรภาพ และมั่นคงแก่นักเรียน นักศึกษาไทยของเราให้กล้าพอที่จะก้าวหน้าไปด้วยกัน ในมุมมองของนักวิชาการ มีหลากหลายแง่มุมที่ต่างก็ยังคงเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และคงต้องร่วมด้วยช่วยกันสร้างฝัน สานงานให้เป็นจริงในอนาคตอันใกล้นี้
          อีกไม่นานเราคงจะมีเพื่อนบ้านเดินเข้าออกท่องเที่ยวทั้งในรั้วมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนทางความคิด ความเชื่อ ที่มาเติมเต็มให้กันไม่มากก็น้อย แล้วเราจะละเลยไปได้อย่างไร
          เริ่มแรกต้องปรับที่ตัวเราเอง และค่อยๆ ปรับแปลี่ยนความคิดความเชื่อให้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน การเตรียมงาน เตรียมคนเพื่อรองรับอาเซียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะการค้าขาย เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคต่อไปคงได้พึ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนี่เอง เพราะความสามารถของการใช้ภาษาก็เห็นได้ชัดเจนว่า มีศักยภาพในการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนกับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี การจ้างงานก็ไม่แพงเกินควร จึงไม่แปลกใจนักที่เจ้าของกิจการทั้งหลายจะให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้ที่ต้องการเข้ามาทำงานในเมืองไทย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน การเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมไทยรู้เขารู้เรา ก็ไม่เสียหาย มีแต่ได้ประโยชน์มากกว่า
          มองย้อนกลับมาที่ตัวเราล้วนแต่ต้องเร่งรีบ เสริมสร้างศักยภาพให้กับนิสิต นักศึกษาที่เรียนจบไปให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นคง และเกิดเสถียรภาพในการทำงานอย่างจริงจัง เป็นมนุษย์งานมากกว่ามนุษย์เงินเดือนที่เรียกร้องเงินเดือนแต่ไม่ทำงานเพียงอย่างเดียวคงจะไปสู้ใครเขาไม่ได้ หากอีกฝ่ายเป็นมนุษย์ทำงาน แต่เงินเดือนไม่เรียกร้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเจ้าของกิจการ แบบนี้สิน่าคิดว่าคู่แข่งของเราคงมาแรงน่าดูทีเดียว โดยพื้นฐานคนไทยมีความเมตตาอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่เป็นเรื่องยากเลยสำหรับการเอาอกเอาใจจากงานเป็นต้นทุน และขยับขยายกิจการต่อไปเผื่อมีโอกาสเติบโตในเมืองไทย นั่นหมายถึงว่าถึงเวลาแล้วที่บ้านเราต้องให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาอย่างใส่ใจ
          ในขณะเดียวกันเมื่อไม่นานนี้หลายๆ โรงเรียนเตรียมรองรับสู่อาเซียน แต่ภายนอกไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของแก่นแท้ที่อยู่ภายใน เด็กๆ ของเราจะต้องเรียนรู้เพื่อผลักดันตนเองให้ก้าวทันเพื่อนบ้าน ก่อนที่จะสายเกินไป สิ่งที่เห็นได้ชัด คือการเปรียบเทียบด้านการเรียนภาษาอังกฤษที่เราขาดความใส่ใจมายาวนาน พอใกล้ตัวก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นต้องหวนกลับมาสนใจและให้ความสำคัญกับภาษาอีกครั้ง หากเรารู้เท่าทันก็คงไม่ต้องอยู่ในสภาพที่กำลังเดินตาม แต่จะเป็นคนที่เดินนำ และพร้อมจะสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ ขยายวงกว้างออกไปสู่เพื่อนบ้างได้อย่างภาคภูมิใจ เพียงแต่เราเดินให้ถูกทางและเปลี่ยนฐานความคิดจากที่ทำไม่ได้ เป็นทำได้ก็จะไม่น้อยหน้าใครและยังเป็นการส่งเสริมตนเอง เพื่อให้ทะยานขึ้นสู่ระดับมืออาชีพ
          สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นตัวชี้วัดการทำงาน การปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อให้ก้าวไปสู่อีกระดับได้อย่างมั่นใจ และไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปสักกี่ครั้งเราก็หมุนตามทันอย่างรู้เนื้อรู้ตัว ไม่เพียงแต่นักศึกษาที่ได้ประโยชน์ หน่วยงาน องค์กรก็ได้รับความภาคภูมิใจในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณค่าออกไปสู่สังคมได้อย่างไม่อายใคร อย่าให้การศึกษาไทยล้าหลังจนวิ่งตามไม่ทัน คิดจะทำอะไรช่วยเร่งรีบ ประสานตัวประสานใจร่วมมือกันจริงจังเสียที จะได้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีกต่อไป...
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: