วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

บทเรียนจากการสอบบรรจุครู


สมเชาว์ เกษประทุม
          ผมได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับการทุจริตในการสอบบรรจุผู้ช่วยครู ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติดำเนินการ จาก น.ส.พ.มติชนคอลัมน์มติชนมติครูบ้าง และคอลัมน์อื่นๆ บ้าง โดยมีการกล่าวย้อนไปถึงการทุจริตในการสอบบรรจุครูที่เคยเกิดขึ้น ที่จังหวัดปราจีนบุรี ในทำนองว่าเป็นการทุจริตที่คล้ายคลึงกัน และไม่แน่ใจว่าการทุจริตใน 2 ครั้งนี้ ครั้งไหนจะสร้างความเสียหายให้แก่กระทรวงศึกษาธิการมากกว่ากัน
          ผมเคยตกอยู่ในฐานะของจำเลยสังคม สมัยมีการทุจริตการสอบที่จังหวัดปราจีนบุรีเกิดขึ้นมาก่อน จึงใคร่ที่จะอธิบายขยายความให้ผู้อ่านได้เข้าใจเพื่อเป็นสาธกอุทาหรณ์แก่ผู้เกี่ยวข้อง และขอแนะนำว่าหากไม่จำเป็นแล้วไซร้อย่าได้มีความคิดที่จะเป็นผู้ดำเนินการสอบอีก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องร้อน จนอาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครได้ดีจากการเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับการสอบเลย ไม่ว่าจะเป็นการสอบบรรจุครู การสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่การสอบ ONET
          ที่ว่าผมตกเป็นจำเลยสังคมนั้นก็เนื่องมาจากช่วงสมัยที่ผมทำงานอยู่ที่สำนักงาน ก.ค. ผมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิชาการบริหารงานบุคคล ซึ่งมีงานการสอบบรรจุครูอยู่ในกองนี้ด้วย
          ประกอบกับในห้วงเวลาดังกล่าว มีข่าวการทุจริตการสอบแข่งขันของหน่วยจัดสอบครูทั่วประเทศ ทั้งการสอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (รับผิดชอบการสอบบรรจุครูให้กรมสามัญศึกษา) การสอบของ อ.ก.ค.จังหวัดทุกจังหวัด (รับผิดชอบการสอบบรรจุครูของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ) ในหลายรูปแบบ อาทิ การซื้อขายข้อสอบ การติวข้อสอบ การบอกข้อสอบและบอกคำเฉลยล่วงหน้า การแก้ไขกระดาษคำตอบ การแก้ไข ต 2 ข. (แบบกรอกคะแนน) การช่วยคะแนนสัมภาษณ์ให้สูงเป็นพิเศษ เป็นต้น
          ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ซึ่งเป็นองค์การกลางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู จึงหันมาคิดทบทวนว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาการทุจริตดังกล่าวได้อย่างไร
          ในที่สุด ก.ค.เปิดกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ.2523 ดูก็พบบทบัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการครู (ก.ค.) มีอำนาจในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู" ซึ่งท้ายมาตรานี้ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมว่า "ในกรณีที่เห็นสมควรอาจมอบหมายให้หน่วยงานทางการศึกษาใด เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันดังกล่าว ก็ได้"
          ดังนั้น ก.ค.จึงไม่รีรอลงมติมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ผ่านทางกองวิชาการบริหารงานบุคคลซึ่งผมเป็นผู้อำนวยการกองเป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่การออกข้อสอบ การพิมพ์ข้อสอบ การประมวลผลการสอบ จนถึงขั้นประกาศผลการสอบและขึ้นบัญชีไว้
          ผมได้ปรึกษากับเพื่อนร่วมงานของผมว่า "สู้ไหม" ทุกคนต่างยืนยันว่าสู้ตายจนในที่สุดผลการสอบบรรจุครูครั้งแรกของ ก.ค. เมื่อปี พ.ศ.2524 ก็ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม คณะกรรมการ ก.ค.ทุกคนได้หน้าได้ตาเสมอหน้ากัน ส่วนพวกผมก็รู้สึกเฉยๆ ครับ เพราะงานการสอบนั้นพวกเราส่วนมากอดตาหลับขับตานอนกันขนาดไหน ไม่มีใครรู้สักกี่คน ยิ่งการประมวลผลการสอบสำหรับผู้เข้าสอบประมาณ 250,000 คน ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลาค่อนข้างมาก
          พอถึงปีถัดมา ก.ค.เห็นฝีมือของพวกผมแล้วก็ไม่รีรอมอบให้สำนักงาน ก.ค. เป็นผู้ดำเนินการทันที ในที่สุดกระบวนการสอบบรรจุครู ปี พ.ศ.2525 ก็ดำเนินการไปตามครรลองที่เคยปฏิบัติแต่รัดกุมยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าเพราะมีผู้เข้าสอบเกือบ 300,000 คน
          จะมาปรากฏผลถึงกับสะดุ้งสุดตัวก็ต่อเมื่อ มีกลุ่มผู้สอบที่ อ.ก.ค.จังหวัดปราจีนบุรีรับสมัครจำนวน 50 คน ได้คะแนนเรียงลำดับจากเลขที่ 1 ถึงเลขที่ 50 โดยที่ไม่มีผู้สอบของจังหวัดใดมาคั่นกลางไว้เลยแม้แต่คนเดียว!
          ทุกคนจึงสงสัยว่า ผู้เข้าสอบแข่งขันที่จังหวัดปราจีนบุรีเก่งกล้าสามารถถึงขนาดนั้นเชียวหรือ ผู้เขียนจึงไปดูคะแนนที่สอบได้แต่ละวิชาก็ปรากฏว่า ได้คะแนนค่อนข้างมากเกือบเต็ม 100 คะแนนก็มี
          ในวันรุ่งขึ้น น.ส.พ.แทบทุกฉบับก็ลงข่าวในทำนองเดียวกันว่าต้องมีข้อสอบรั่ว ณ จุดใดจุดหนึ่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะมี น.ส.พ.หัวสีแดงฉบับหนึ่งลงข่าวชัดเจนว่า ข้อสอบต้องรั่วที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ค.
          ส่วนตัวผมมีความมั่นใจ 100% ว่า "ไม่ใช่ ไม่จริง เพราะเพื่อนร่วมงานของผมซึ่งผมคัดเลือกมากับมือไม่ชั่วร้ายดังที่มีผู้กล่าวหา"
          ก่อนที่จะนำเสนอ ก.ค.ให้ยกเลิกผลการสอบทั้งประเทศไม่เฉพาะที่ปราจีนบุรี ผมและคณะจากสำนักงาน ก.ค. ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวง ได้ขออนุญาตจาก ก.ค.เพื่อไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปราจีนบุรี โดยที่ผมก็ไม่ได้บอกว่าจะไปทำไป
          ผมได้ไปพบกับผู้เข้าสอบที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมเกือบทุกคนว่าขอให้ลองทำข้อสอบที่สอบไปเมื่อ 10 กว่าวันก่อน เชื่อไหมครับไม่มีผู้ใดได้คะแนนถึงร้อยละ 65 เลยแม้แต่วิชาเดียว!
          ถ้าเช่นนั้น ข้อสอบรั่ว ณ จุดใด ต่อไปนี้คือคำตอบ...
          ตามแนวทางการสอบสวนทางวินัยและตามแนวทางการสืบสวนสอบสวนของตำรวจซึ่งได้ทำคู่ขนานกันไป และจากคำตัดสินของศาลอาญาและศาลแพ่งได้ข้อยุติว่า
          "ข้อสอบได้ถูกเปิดซองขึ้นที่จังหวัดนครนายก โดยผู้เดินทางมารับข้อสอบคนหนึ่ง หวังที่จะได้ข้อสอบไปช่วยเหลือแก่คนที่ตนรัก หลังจากนั้นได้มีขบวนการติวข้อสอบ ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี ต่อมามีการซื้อขายข้อสอบในอัตราฉบับละ 2,000-3,000 บาท เหมือนการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล"
          ส่วนผู้ทุจริตในการสอบได้แก่ผู้แทนข้าราชการครูใน อ.ก.ค.จังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกับผู้บริหารในจังหวัดนั้นเอง
          จนบัดนี้ผู้กระทำทุจริตบางคนได้รับโทษบ้าง ไม่ได้รับโทษบ้างตามสำนวนการสอบสวนที่ไปถึงและไปไม่ถึง มีบางคนที่หนีคุกไปตายในประเทศใกล้เคียง และบางคนยังมีชีวิตอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี
          ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ทำการซื้อขายข้อสอบทุกท่านในกลุ่ม 50 คนหรือมากกว่า เพราะทุกคนไม่ได้รับโทษใดๆ เลยแม้แต่น้อยทั้งทางแพ่งและอาญา
          ผิดกับพวกผมที่รับงานของ ก.ค.มาทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่กลับมาถูกตั้งกรรมการสอบทางวินัยอย่างร้ายแรงจากกระทรวงศึกษาธิการ และถูกสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง รวมทั้งบางคนถูกฟ้องคดีอาญาด้วย
          กว่าพวกผมจะเป็นผู้เป็นคนและมีคนเชื่อใจเหมือนเดิมก็ต้องใช้เวลาอีกนานนับสิบๆ ปี จนคดีถึงที่สุดแล้ว
          ขณะนี้พวกผมไม่มีอะไรที่จะโกรธเคืองต่อผู้ที่ก่อกรรมทำเข็ญอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ก่อนนอนทุกคืน ผมจะแผ่เมตตาในทำนองว่า "ขออย่าได้จองเวรต่อกันและกันเลยทั้งชาตินี้และชาติหน้า"
          คราวนี้ขอย้อนไปดูเรื่องการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่กำลังเป็นข่าวอื้อฉาวอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการขณะนี้ว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำ คำตอบง่ายๆ ก็คือผู้ดำเนินการจัดสอบและผู้ที่มอบอำนาจให้มีการสอบครั้งนี้ขึ้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าการสอบบรรจุครูผู้ช่วยเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ภายหลังเมื่อมีความไม่ชอบมาพากลแล้วจะยกเรื่องทั้งหมดไปให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาตัดสินใจว่าจะยกเลิกผลการสอบ หรือจะประกาศผลขึ้นบัญชีผู้ที่สอบแข่งขันได้ไว้ ถือว่าเป็นการโยนเผือกร้อนไปให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาโดยแท้ และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่จะกลายเป็นจำเลยที่ 1 ทันที
          ผมโชคดีครับที่คงไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกฟ้องทั้งทางอาญาและทางแพ่งเหมือนการสอบครั้งก่อน ทั้งนี้เพราะผมได้ขอลาออกจากประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาได้ทันเวลาพอดี!
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


หนุนเลิกเกณฑ์ครูผู้ช่วยเหตุพิเศษ คืนอำนาจ'เขตพื้นที่ฯ'จัดสอบเอง

          เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีชมรมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การ ศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกร้องให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ยกเลิกหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 และหลักเกณฑ์ ว14 ที่กำหนดให้ส่วนกลางดำเนินการออกข้อสอบและตรวจสอบคะแนนเองว่า เดิมอำนาจการจัดสอบเป็นของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาอยู่แล้ว ดังนั้น ควรยกเลิกหลักเกณฑ์ ว12 เพื่อคืนอำนาจให้ เขตพื้นที่ฯตามเดิม แต่ต้องขึ้นกับการพิจารณาของที่ประชุม ก.ค.ศ. ส่วนกรณี ว14 ได้ให้อำนาจเขตพื้นที่ฯไปดำเนินการแล้วในการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป ประจำปีการศึกษา 2556
          ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป ประจำปีการศึกษา 2556 ที่คาดว่าจะรับสมัครและสอบในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ มีมติ ก.ค.ศ.อยู่แล้วให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯดำเนินการเอง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คงแค่เข้าไปช่วยกำกับติดตามดูแลความเรียบร้อยเท่านั้น และหากมีปัญหาทุจริต แต่ละเขตพื้นที่ฯต้องรับผิดชอบเอง ส่วนเรื่องที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเรียกร้องให้ สพฐ.ส่งกระดาษคำตอบในการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมาไปให้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณายกเลิกผลการสอบนั้น ขอให้แต่ละเขตพื้นที่ฯทำเรื่องขอมายัง สพฐ. จากนั้นจะสำเนากระดาษคำตอบส่งไปให้ ซึ่งขณะนี้มีบาง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้ขอมาและ สพฐ.ได้จัดส่งไปให้แล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: