วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การได้รับเงินเดือน ตามกฎ ก.ค.ศ.ฯ


วัชรี  เกิดพิพัฒน์
            ผอ.ภารกิจเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ
          ตามที่ได้มีการประกาศ กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2555 นั้น เพื่อให้การดำเนินการตาม กฎ ก.ค.ศ. ฉบับดังกล่าว เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ก.ค.ศ. จึงกำหนดวิธีการในการดำเนินการเพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ โดยได้แจ้งไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/ว3 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2556 โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
          1.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ
          ของตำแหน่งและวิทยฐานะนั้นอยู่แล้ว/ถูกลดขั้นเงินเดือนหรือลดเงินเดือน/ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรการศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่ ก.ค.ศ.รับรองเพิ่มขึ้น หรือสูงขึ้น ให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป
          2.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย
          หากได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับอยู่ก่อนวันที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้สั่งให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วย โดยให้ไปอาศัยเบิกในอันดับ คศ.1 โดยให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่มีเงินเดือนเท่าเดิม ถ้าไม่มีขั้นที่มีเงินเดือนเท่าเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่มีเงินเดือนใกล้เคียงที่สูงกว่า ไม่ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 แล้วจึงพิจารณาเลื่อนเงินเดือน
          ตัวอย่าง นาย ก. รับเงินเดือนในอันดับครูผู้ช่วย ในอัตรา 17,960 บาท ซึ่งเป็นขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วย ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 ให้สั่งให้ นาย ก. ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับ คศ.1 ขั้น 17,910 บาท ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนขั้นใกล้เคียงที่สูงกว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2556 ก่อน แล้วจึงพิจารณาเลื่อนเงินเดือนต่อไป
          3.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับเงินเดือนของตำแหน่งและวิทยฐานะในอันดับ คศ.2 คศ.3 หรือ คศ.4 อยู่ก่อนวันที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ให้สั่งให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนเดิม และให้ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับถัดไป ได้อีกหนึ่งอันดับเท่านั้น โดยให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอันดับที่สูงขึ้นในขั้นที่มีเงินเดือนเท่าเดิม หรือในกรณีที่ไม่มีขั้นที่มีเงินเดือนเท่าเดิม ก็ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่มีเงินเดือนใกล้เคียงที่สูงกว่า สำหรับผู้ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นในอันดับ คศ.2 มีผลใช้บังคับไม่ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 และผู้รับเงินเดือนเต็มขั้นในอันดับ คศ.3 หรือ คศ.4 มีผลใช้บังคับไม่ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2554
          ตัวอย่าง นาย ข. รับเงินเดือนอันดับ คศ.2 อัตราเงินเดือน 37,830 บาท ซึ่งเป็นขั้นสูงของอันดับ คศ.2 อยู่ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2556 ให้สั่งให้นาย ข. ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับ คศ.3  ขั้น 37,900 บาท ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนขั้นใกล้เคียงที่สูงกว่า (เนื่องจากอัตราเงินเดือน 37,830 บาท ไม่มีกำหนดในอันดับ คศ.3) ในวันที่ 1 เมษายน 2556 ก่อน แล้วจึงพิจารณาเลื่อนเงินเดือนต่อไป
          สำหรับการให้ได้รับเงินเดือน ในกรณีอื่นๆ ที่กำหนดให้ได้รับเงินเดือนตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


ครูประถมสอนตามยถากรรม เร่งผลิตครูช่าง - ชะลอ 7 สาขา / ชูวิทยฐานะเชิงประจักษ์

          นายสุรวาท ทองบุคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท) กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาที่สอนศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ รวม 17 แห่ง ควรต้องทบทวนแผนการผลิตบัณฑิตครูใหม่ ปัจจุบันมีเด็กในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานรวม 10 ล้านคนและลดลงเรื่อยๆ ตามอัตราการเกิดที่ปรับตัวลดลงในทุกปีแต่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาตร์ของสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 17 แห่ง ผลิตครูรวมทั้งหมดประมาณ 29,000 คนต่อปี อย่างไรก็ตาม สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่จะเลือกผลิตครูตามความพร้อมของตัวเอง ไม่ได้ผลิตตามความต้องการจริง โดยส่วนใหญ่จะเปิดอยู่ 7 สาขา ซึ่งแต่ละสาขามียอดผลิตเกิน 20,000 คนต่อปี ดังนี้ สาขาพละและสุขศึกษา 29,557 คน, ปฐมวัย 27,462 คน, ภาษาอังกฤษ 24,698 คน, สังคมศึกษา23,596 คน, คณิตศาสตร์ 22,730 คน, ภาษาไทย 20,801 คน, วิทยาศาสตร์ 19,683 คนและคอมพิวเตอร์ 12,933 คน
          นายสุรวาท กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน บางสาขาที่มีความต้องการโดยเฉพาะครูช่าง กลับมีการผลิตน้อยมาก เช่น สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ 2,159 คน, วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 1,668 คน, วิศวกรรมเครื่องกล1,491 คน, วิศวกรรมไฟฟ้า 1,283 คน, วิศวกรรมโยธา 1,166 คน, เทคโนโลยีเครื่องกล 154 คน,วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ 156 คน, การศึกษานอกระบบ 255 คน และสถาปัตยกรรม 248 คน ดังนั้น ศธ. ควรหารือกับสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตครู และหน่วยงานที่ใช้ครูต้องปรับการผลิตครูใหม่ เลิกผลิตตามความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษา แล้วหันมาผลิตเพิ่มในสาขาที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันต้องควบคุมการผลิตครูใน 7 สาขาที่ผลิตมากเกินด้วย อย่างไรก็ดี การควบคุมการผลิตครูของสถาบันอุดมศึกษาทำได้ยาก ปัจจุบันไม่มีแม้กระทั่งตัวเลขการผลิตครูที่แท้จริงจึงเสนอให้มีการตั้งกรรมการคุรุสภาแห่งชาติขึ้นมาเพื่อมาทำงานตรงนี้
          "ยังพบข้อมูลด้วยว่า มีครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 14,000 แห่ง รวมประมาณ 100,000 คน ต้องรับภาระการสอน8 สาระวิชา สอนเกินวันละ 6 ชั่วโมง ครูเหล่านี้ไม่สามารถทำแผนการสอนได้ครบทุกวิชา แต่ใช้วิธีทำแผนการสอนแค่วิชาเดียวแล้วอนุโลมให้กับอีก 7 วิชาที่เหลือ จึงเป็นการสอนตามยถากรรม ฉะนั้น จึงเสนอให้ สพฐ. ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ลงรายละเอียดให้เห็นแนวทางการสอน เป็นตัวอย่างแผนการสอนให้ครูนำไปใช้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือครูอีกทาง"
          นายสุรวาท กล่าวและว่า ยังมีปัญหาเรื่องการให้รางวัลไม่ถูกคน คนเอาใจใส่การสอนกลับไม่ได้รางวัล คือ การเลื่อนวิทยฐานะเพราะเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะนั้น กำหนดให้ครูต้องคิดค้นนวัตกรรมการสอนใหม่ๆ มาเสนอ แต่ในทางปฏิบัติ คนทำจริงด้วยตัวเองมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ไปว่าจ้างเขาทำแล้วก็ได้วิทยฐานะ จึงเป็นการให้รางวัลไม่ถูกคน แต่ถ้าครูตั้งใจคิดค้นนวัตกรรมเองจริงก็ต้องทิ้งการสอนในห้อง เป็นผลเสียกับเด็กอีก ฉะนั้นการประเมินวิทยฐานะควรเปลี่ยนมาเป็นการประเมินเชิงประจักษ์จากการสอนในห้องเรียน
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เงินเดือนเต็มขั้น คศ.2 แล้วได้อนุมัติ คศ.3 เดือนตุลาคม ไม่มีสิทธิ์ขึ้นเงินเดือนเลยหรือคะ เขาทำงานมาทั้งปี แถมเต็มขั้น คศ.2 อยู่หลายปี