วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

DSI แถลงผลสืบสวนทุจริตการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย

๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖ - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันแถลงผลการสืบสวนกรณีการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งได้สอบคัดเลือกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๖

ผลการสืบสวน พบพยานหลักฐาน ดังนี้
๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ มีบุคคลอื่นเข้าอบแทน
๒. 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ ผู้เข้าสอบได้เฉลยข้อสอบมาทั้ง ๔ วิชา โดยมีการส่งข้อความมาทาง SMS แต่ผู้เข้าสอบไม่ได้นำเข้าไปในห้องสอบ แต่ใช้วิธีการท่องจำเข้าไป
๓.
 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๓ ผู้เข้าสอบได้นำเครื่องมือสื่อสาร เพื่อใช้ส่งสัญญาณเฉลยข้อสอบ และมีการนำเฉลยข้อสอบ เข้าไปในห้องสอบ
๔. 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต ๑ ผู้เข้าสอบนำเฉลยข้อสอบเข้าไปในห้องสอบ
๕. 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๒ ผู้เข้าสอบได้เฉลยข้อสอบมาทั้ง ๔ วิชา แต่ไม่ได้นำเข้าไปในห้องสอบ แต่ใช้วิธีการท่องจำเข้าไป
๖. จากการตรวจสอบคะแนนผู้ที่สอบได้ในเขตพื้นที่ต่างๆ ปรากฏว่าผลการสอบมีผู้ที่ทำคะแนนสอบได้สูงผิดปกติจำนวน ๔๘๖ ราย จากผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น ๙,๒๔๒ ราย แต่สามารถบรรจุได้จำนวน ๒,๑๖๑ ราย
จากพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่าการสอบคัดเลือก เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๖ มีการทุจริตจริง ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณายกเลิกการสอบ เฉพาะพื้นที่ที่พบการทุจริตที่ชัดเจนดังกล่าว ได้แก่
๑) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓
๒) 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๓
๓) 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต ๑
๔) 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๒
แต่ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะต้องพิจารณาคะแนนของผู้ที่สอบว่ามีผลคะแนนสูงผิดปกติหรือไม่ ประกอบอีกด้วย
สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ที่มีผู้เข้าสอบและมีผลคะแนนสอบสูงผิดปกติ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๔๘๖ ราย กระทรวงศึกษาธิการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ร่วมกันตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีบุคคลหรือพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีการทุจริตในการสอบดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. สามารถดำเนินการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๒๐๖.๖/ว ๑๒ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕ ข้อ ๖ ซึ่งกำหนดไว้ว่า "การดำเนินการคัดเลือก หากปรากฏว่ามีการทุจริตหรือส่อไปในทางไม่สุจริตหรือดำเนินการผิดพลาดอันอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกการคัดเลือกในครั้งนั้นได้" และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระทำการทุจริตต่อไป
อย่างไรก็ดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ เชื่อว่าการทุจริตสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ มีการกระทำเป็นกระบวนการ ระหว่างเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้เข้าสอบ และมีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้น โดยมีพยานหลักฐาน ดังนี้
๑. มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการโดยกำหนดให้ส่วนราชการ สพฐ. เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบ ซึ่งเดิมสำนักงานเขตพื้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบเอง
๒. มีการจัดทำข้อสอบ โดยจ้างบริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด เป็นผู้จัดพิมพ์
๓. มีการจัดส่งข้อสอบ โดยจ้างบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเดิมสำนักงานเขตพื้นที่จะมารับข้อสอบเอง
๔. มีการสั่งให้บุคคลไปสมัครสอบต่างพื้นที่และยังให้ไปสมัครในพื้นที่อื่นอีกก่อนที่จะมีการสอบ (วันที่ ๖-๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ)
๕. มีการจัดผังที่นั่งสอบใหม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่เข้าสอบ
๖. มีการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือ(โทรศัพท์) ก่อนมีการสอบ ๒ วัน (วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๖)
๗. มีการส่งเฉลยข้อสอบมาให้ก่อนวันสอบ ๑ วัน (คืนวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖)
๘. มีการให้จดเฉลยข้อสอบเพื่อท่องเข้าไปในห้องสอบโดยได้เฉลยก่อนวันสอบ ๑ วัน (วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖)
๙. มีการจดเฉลยข้อสอบเข้าไปในห้องสอบ (วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๖)
อนึ่ง เนื่องจากลักษณะการกระทำความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในบัญชีท้ายแห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงจะได้เสนอคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อมีมติให้คดีความผิด กรณีทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นคดีพิเศษ ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๖

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี


ทุจริตสอบครู ปัญหาและทางออก
อดิศร เนาวนนท์
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ประธาน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7

          ข่าวการทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครู สะเทือนความรู้สึกของคนในสังคมจำนวนมากว่า "เริ่มต้นจะเป็นครูก็โกงเสียแล้ว" "เด็กที่ครูเหล่านี้สอนจะเป็นอย่างไร" "วงการแม่พิมพ์ของชาติยังเป็นเช่นนี้แล้วจะไปหวังอะไรได้" และยังสะท้อนความล้มเหลวของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์การทางราชการขนาดใหญ่มหึมา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีแนวคิดและกฎหมายในการบริหารจัดการองค์การในรูปแบบองค์คณะบุคคล หรือคณะกรรมการ กระจายอำนาจการบริหารจัดการไปยังเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษา (สพป., สพม.) ทั่วประเทศ (แต่ข้อเท็จจริงยังก้าวไม่พ้นการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง) ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ
          ทำไมจึงมีคนอยากเป็นครูกันมาก ทำไมต้องโกง เขาโกงกันอย่างไร มีคนใน สพฐ. ร่วมขบวนการด้วยหรือไม่          ทางออกควรทำอย่างไร ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นประธานอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7 (อ.ก.ค.ศ.) เคยจับกลโกงการทุจริตการสอบบรรจุข้าราชการครูมาตรา 38 ค (2) ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 7 จัดสอบได้ ได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาผิดผู้ทุจริต และปรับ ผู้ทุจริต "ตก" ทุกราย และในฐานะอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง จึงขอนำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อสาธารณะ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง
          ทำไมจึงมีคนอยากเป็นครูกันมาก          จากข้อมูลการรับนักศึกษาสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า แต่ละปีมีทิศทางการรับนักศึกษาสาขาดังกล่าวมากขึ้น เริ่มจากปีการศึกษา 2551 มียอดรับเพียง 26,730 คน ปี 2552 มียอด 37,890 คน ปี 2553 มียอด 52,515 คน ปี 2554 มียอด 66,128 คน และปี 2555 มียอด 57,294 คน เมื่อนำยอดรับแต่ละปีมารวมกัน หรือคิดยอดรับปีการศึกษา 2555 ว่าจะไปศึกษาจบ ช่วงปี 2560 จะมีบัณฑิตครูที่จบการศึกษาไปไม่ต่ำกว่า 240,000 คน
          นี่ยังไม่รวมผู้ที่เข้าเรียนตามหลักสูตร ประกาศ นียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) สาขาวิชาชีพครูทั้งของมหาวิทยาลัย ราชภัฏ มหาวิทยาลัยรัฐเดิมทั้งมหาวิทยาลัยเปิด-ปิด และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกจำนวนมาก
          สาเหตุที่สำคัญคือเพราะครูมีบัญชีเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ของครูเอง และยังสามารถทะลุแท่งเงินเดือนกรณีเงินเดือนเต็ม มีเงินวิทยฐานะ ระดับชำนาญการ (3,500 บาท) ระดับชำนาญการพิเศษ (5,600 + 5,600 บาท) ระดับเชี่ยวชาญ (9,900 + 9,900 บาท) และระดับเชี่ยวชาญพิเศษ (13,000 + 13,000 ถึง 15,600 + 15,600 บาท) การเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ที่ปัจจุบันเปรียบเสมือนเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งของครูไปแล้ว มีปิดเทอม มีสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งคู่สมรส บิดา มารดา อาจกล่าวได้ว่าครูเป็นอาชีพที่อยู่กับพื้นที่แต่มีค่าตอบแทน และสวัสดิการอื่นๆ ที่ดีกว่าข้าราชการอื่นหลายหน่วยงาน และรวมทั้งดีกว่าอาจารย์มหา วิทยาลัยด้วย
          นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีคนสนใจอยากจะเป็นข้าราชการครูกันจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่โอกาสของลูกหลานจะ ได้รับราชการก็คือเป็นข้าราชการครูและตำรวจ เพราะสองอาชีพนี้ใช้ต้นทุนค่อนข้างต่ำในการส่งลูกเรียน (ส่วนใหญ่เรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏ) เมื่อเทียบ อาชีพอื่นๆ
          ทำไมต้องโกง เขาโกงกันอย่างไร มีคนใน สพฐ.ร่วมขบวนการด้วยหรือไม่          เมื่อมีคนอยากเป็นครูกันมากแต่อัตราบรรจุมีน้อย หากจะสอบแข่งขันกันธรรมดาก็เป็นการยากที่จะสอบได้ การทุจริตสอบจึงเกิดขึ้น และยิ่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 47 ได้กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การ ศึกษา เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและ แต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อ.ก.ค.ศ.หลายเขตพื้นที่ได้ใช้อำนาจในทางมิชอบโดยเปิดสอบบรรจุและเรียก เงินผู้เข้าสอบหัวละหลายแสนบาท สร้างความบอบช้ำ และความอัปยศให้กับวงการศึกษาเป็นอย่างมาก แทบจะไม่มีใครเชื่อมั่นในการจัดสอบบรรจุของเขตพื้นที่เลย
          ส.พ.ฐ.และ ก.ค.ศ. ปล่อยปละละเลย ไม่เคยเอาใจใส่เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งการสอบบรรจุครู สอบผู้บริหาร ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานชัดเจน บางคนย้ายไปอยู่เขตไหนก็ถูกครูเดิน ขบวนไล่ทุกเขต แต่ สพฐ.และ กคศ.ก็ยังเลี้ยงอยู่ได้ แถมบางคนกลับได้ดิบได้ดีย้ายเข้าไปเป็นใหญ่เป็นโตในกระทรวงเสียอีก !! แล้วอย่างนี้ใครจะเชื่อมั่นกับ สพฐ.และ กคศ. จนมีเรื่องร้องเรียนจาก ส.ส.ภาค อีสาน สมัย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็น รมว.ศธ. จึงได้ใช้วิธีแบบมักง่าย ทำผิด พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 รวบอำนาจไปให้ สพฐ.ดำเนินการทั้งสอบครูผู้ช่วย สอบบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (2) และผู้บริหาร แต่ก็ไม่พ้นฝีมือของพวกทุจริต แถมยังขยายวงในการทุจริตออกไปเป็นวงกว้าง ฉาวโฉ่กันทั่วประเทศ
          กลโกงในการทุจริตการสอบบรรจุครู กรณีเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการจัดสอบบรรจุเอง กลโกงไม่มีอะไรซับซ้อน คือ
          1.โกงโดยผู้จัดสอบ (อ.ก.ค.ศ.) เช่น การบอกข้อสอบก่อนสอบ การเปลี่ยนกระดาษคำตอบภายหลังการสอบ การแก้ไขคะแนนผลการสอบ การโกงแบบนี้ต้องเป็นการฮั้วกันของ อ.ก.ค.ศ.ทั้งชุด เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ จึงทำได้โดยง่าย ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดคือ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาฯ และประธาน อ.ก.ค.ศ.
          2.โกงโดยผู้เข้าสอบ เนื่องจากแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาฯ ใช้ข้อสอบของเขตพื้นที่ตัวเอง ดังนั้น ข้อสอบแต่ละเขตจึงไม่เหมือนกัน แก๊งทุจริตทั้งหลายจึงไม่ลงทุนการโกงด้วยเทคโนโลยี เพราะกลุ่มเป้าหมายอยู่ในวงแคบ แต่โกงโดยให้มือปืนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอบ (ต้องเป็นคนเก่งแกมโกงด้วย) หาวิธี สมัครสอบให้ได้ที่นั่งในห้องสอบเดียวกันกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการส่งคำตอบให้ลอกโดยการส่งสัญญาณภาษากายเป็นท่าทางต่างๆ เพราะเขตพื้นที่ฯ ใช้ ข้อสอบเพียงชุดเดียว และมักจัดที่นั่งสอบตามหมายเลขผู้สมัคร กระทั่งในการจัดสอบบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (2) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2554 สพฐ.ได้มีหนังสือสั่งการให้จัดผู้เข้าสอบเรียงรายชื่อตามลำดับพยัญชนะ แก๊งทุจริตเข้าสอบที่เขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 7 ถึงกับลงทุนไปเปลี่ยนชื่อนำหน้าให้เหมือนกับมือปืนเพื่อให้ ได้นั่งสอบในห้องเดียวกัน จนมีสามารถสอบติดอันดับ 1-8
          ผู้เขียนในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ได้ไปแจ้งความเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานความผิดจากกฎหมายฉบับใดได้ อาศัยเพียงความเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ว่า เชื่อได้ว่ามีการทุจริตจริง มาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจปรับ ผู้เข้าสอบ ทั้ง 8 รายให้ตก และได้รายงานเรื่องให้ สพฐ.และ กคศ.ทราบ แต่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ทั้งสิ้นจาก สพฐ.และ ก.ค.ศ. ในการนำเรื่องนี้ไปเป็นบทเรียน ไม่มีการให้คำปรึกษาในทางที่จะเอาผิดกับพวกทุจริต ไม่มีการให้กำลังใจ อ.ก.ค.ศ.ที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ มีแต่จะให้หมกเม็ดเรื่องนี้เอาไว้
          ส่วนกลโกง กรณี สพฐ.รวบอำนาจไปออกข้อสอบเอง เนื่องจากทุกเขตพื้นที่ฯ ที่จัดสอบใช้ข้อสอบฉบับเดียวกันทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสทองของแก๊งทุจริตมืออาชีพ ผสมโรงกับแก๊งทุจริตในคราบของข้าราชการ สพฐ.ทั้งบิ๊กเนมและ โนเนม (หากไม่มีระดับบิ๊กเนม สพฐ.ร่วมด้วยข้อสอบ จะรั่วได้อย่างไร) ทุจริตทั้งแบบแมนนวลและเทคโนโลยี เช่น เข้าสอบแทน ส่งสัญญาณท่าทาง ใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ อยากให้ดูการป้องกันการทุจริตในการสอบตำรวจ ที่ใช้ข้อสอบ 3 ชุด ใช้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ ถอดเสื้อผ้าตรวจก่อนเข้าห้องสอบ ส่งข้อสอบให้สนามสอบทางเฮลิคอปเตอร์ ก็ยังโกงกันได้ ในขณะที่การสอบบรรจุครู ใช้ข้อสอบชุดเดียว ส่งข้อสอบทางไปรษณีย์ ไม่มีการป้องกันการใช้สัญญาณโทรศัพท์ มันจะไปเหลืออะไร
          ทางออกควรทำอย่างไร
          ผู้เขียนเชื่อในเจตนาดีของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้การสอบบรรจุคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูเป็นครูผู้ช่วย เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม เพียงแต่ฝีมือในการบริหารจัดการเรื่องนี้ยังมือไม่ถึง ประกอบกับ สพฐ.และ กคศ. ซึ่งมีอำนาจโดยตรงในเรื่องนี้ไม่เคยเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการทุจริตหลายๆเรื่องในวงการศึกษา ผู้ใหญ่ส่วนมากในกระทรวงศึกษาธิการ (และกระทรวงอื่นๆ) ล้วนเติบโตมาจากฝ่ายการเมือง จึงนึกถึงแต่ความอยู่รอดในตำแหน่งหน้าที่ของตนเองเป็นหลัก ไม่ได้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน บางครั้งยอมแม้กระทั่งการเลี่ยงบาลีทำผิดกฎหมาย หากฝ่ายการเมืองสั่ง ดังเช่น การจัดสอบบรรจุครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (2) ที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 47 บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่อย่างชัดเจน ส่วน ก.ค.ศ.มีอำนาจในการกำหนดหลักสูตร วิธีการสอบแข่งขัน และวิธีดำเนินการที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน ตลอดจนเกณฑ์ตัดสิน การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การนำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้น บัญชี เป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น และการยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของ กฎหมายคือ เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ นำไปปฏิบัติ หาก ศธ.โดย สพฐ.และ กคศ.เห็นว่า จะให้ส่วนกลางโดย สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดมาตรฐาน มีความยุติธรรม (แต่ทำไม่ได้) ต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก่อน
          ส่วนตัวผู้เขียนเองเห็นว่า ควรต้องคืนอำนาจการการดำเนินการสอบฯ ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ จะทำให้เขตพื้นที่ฯ เข้มแข็ง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดย สพฐ.ต้องมีนโยบายให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ มอบอำนาจให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่หรือใกล้เคียงดำเนินการด้านการออกข้อสอบ อ.ก.ค.ศ.ดำเนินการจัดสอบ สพฐ.ส่งตัวแทนเข้าไปควบคุมการสอบ
          ที่สำคัญคือ หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญา อย่างจริงจังกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในฝ่ายรัฐบาลจะต้องตรา หรือแก้ไขกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งให้สามารถเอาผิดผู้ทุจริตการสอบทุกวิธีทั้งทางแพ่งและอาญา โดยเฉพาะผู้ที่สมัครเข้าสอบเพื่อให้บุคคลอื่นลอกคำตอบด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ยังไม่ปรากฏว่ามีฐานความผิดจากกฎหมายฉบับใดเอาผิดพวกนี้ ได้เลย
มติชน ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2556


สพฐ.แบ่งสายผู้บริหาร ตรวจเข้มรับนร.ปี 56

          เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม การรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด ปีการศึกษา 2556  พร้อมตรวจเข้มกระบวนการสอบและจับฉลาก เพื่อความโปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะการรับนักเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครอง และประชาชน โดยจัดสายติดตามการรับนักเรียนในวันรับสมัคร วันสอบคัดเลือก และวันจับฉลาก พร้อมกันทั่วประเทศ 3.ระดับมัธยมศึกษา...
          นายชินภัทร  ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.)เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด ปีการศึกษา2556 ทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1  และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม สามารถเกณฑ์เด็กเข้าเรียน และจัดสรรโอกาสทางการศึกษาได้ครบทุกคน รวมทั้งตรวจเข้มกระบวนการสอบการจับฉลาก และรับฟังข้อเสนอแนะการรับนักเรียนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครอง
          และประชาชนในวันรับสมัครคือวันที่ 14-18 มีนาคม  2556  วันสอบคัดเลือกวันที่ 23 มีนาคม  2556   และวันจับฉลากวันที่ 31 มีนาคม  2556 พร้อมกันทั่วประเทศ โดยในส่วนกลางมีผู้บริหาร สพฐ.เป็นประธาน ติดตามการรับนักเรียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4  คณะ ประกอบด้วย
          นายชินภัทร  ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.และคณะผู้บริหาร สพฐ. ติดตามการสอบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1   ณ โรงเรียนสตรีวิทยา และการจับฉลาก ณโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย  นายอนันต์  ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ.และคณะผู้บริหาร สพฐ. ติดตามการสอบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1   ณ โรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์  สิงหเสนี) และการจับฉลาก ณ โรงเรียนหอวัง นายกมล  รอดคล้ายรองเลขาธิการ กพฐ.และคณะผู้บริหาร สพฐ. ติดตามการสอบชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และการจับฉลากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ณโรงเรียนสารวิทยา และนางเบญจลักษณ์  น้ำฟ้า รองเลขาธิการ กพฐ.และคณะผู้บริหาร สพฐ. ติดตามการสอบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ และการจับฉลาก ณ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง
          "ในส่วนของการรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2556 ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีปัญหาและไม่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด และจำนวนนักเรียนที่มาสมัครเข้าเรียนก็น้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากประชากรวัยเรียนลดลง คาดว่าจะรอง
รับและจัดที่เรียนให้กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศได้ครบทุกคน" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

ไม่มีความคิดเห็น: