วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

"พิมพ์เขียว" พัฒนาการศึกษาชาติ สภาการศึกษาเตรียมขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคมสู่ปฏิบัติ

 ปิดฉากลงเรียบร้อย สำหรับการตระเวนรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจของ "พิมพ์เขียว" ฉบับใหม่ "ยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ. 2556 - 2558 " ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเจ้าภาพลงพื้นที่ 5 ภูมิภาค ระยะเวลา 3 เดือน โดยมีผู้เข้าร่วมการปรุชุมมากกว่า 10,000 คน และมีการทำแบบสอบถาม 5 กลุ่มบุคคลได้แก่ กลุ่มนักเรียน/ นักศึกษา,ครู/ ผู้บริหารการศึกษา, ผู้ปกครอง, ชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสรุปรวมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กว่า 1 ล้านคน
          เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการยกร่างยุทธศาสตร์การศึกษาที่ได้คนทุกกลุ่ม ทุกอายุ ทุกแวดวงทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยภาพรวมทั้ง 77 จังหวัด มีความคิดเห็น ข้อเสนอคล้ายๆ กันอาจมีองค์ประกอบในบางเรื่องที่แตกต่างกันในแต่ละภาคแต่ละพื้นที่ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา อธิบายว่าเบื้องต้นภาพรวม 7 ยุทธศาสตร์ ทุกภาคเห็นตรงกันว่า 

ยุทธศาสตร์ที่ 1. การพัฒนาคุณภาพสร้างโอกาสและกระจายโอกาสทางการศึกษา การวัดและประเมินผลการศึกษามีความสำคัญ โดยเฉพาะการประเมินผลควรใช้จากการเรียนการสอนที่ดำเนินการจริง วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง และตั้งเป้าหมายไว้ในสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้อย่าเพ้อฝันจนเกินไป และอยากให้หลักสูตรต่างๆ สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก 
2. ปฏิรูปครู ถึงเวลาแล้วที่ต้องจำกัดจำนวนการผลิตครูให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น เปิดโอกาสให้ครูที่ไม่ได้เรียนสายครูแต่มีความสามารถเข้าสู่วิชาชีพครูโดยไม่ติดขัดเรื่องของใบประกอบวิชาชีพครู 
3. การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ไม่ควรกำหนดนักเรียนสามัญ : อาชีพ แต่ควรกำหนดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละต่อปี โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม4. การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา จัดทำสื่อการเรียนการสอนในรูปหลักสูตรเคลื่อนไหว, ดิจิตอลคอนเทนต์มากขึ้นในทุกระดับและอบรมครู จัดทำปผนการเรียนการสอนเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นโลกที่ไร้ขอบเขต 
5.สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ สกศ. ร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยยกร่างกรอบงานวิจัย ให้งานวิจัยตอบสนองยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ข้อ นโยบายรัฐบาย และนำงานวิจัยมาใช้มากขึ้น 
6.การเตรียมเป็นประชาคมอาเซียน จำเป็นต้องพัฒนาการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อให้พร้อมในอีก 2 ปี ข้างหน้า และอยากให้การจัดทำหลักสูตรอาเซียนให้มีความรู้อาเซียนมากขึ้น 
7. สถิติและการชี้วัดด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำสถิติ ตัวชี้วัดทางการศึกษาวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหา โดยปี 2561 นี้จะใช้ผลสถิติ ตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นทำให้ผลการประเมิน PISA ขึ้นเป็น 1 ใน 20 ลำดับจากเดิมที่อยู่ในลำดับกว่า 30 กว่า 
          ในช่วง 7 เดือนข้างหน้านี้ องค์กรระหว่างประเทศอย่าง ยูเนสโก และ OECD จะเข้ามาช่วยดำเนินการยุทธศาสตร์ระยะยาว และเทียบเคียงกับยุทธศาสตร์ทั่วโลก ว่าในแต่ละประเทศมีการวางยุทธศาสตร์การศึกษาไปในทิศทางใด โดยมี 5 เรื่องสำคัญดังนี้ 1. การทบทวนการพิจารณา ดารสังเคราะห์ในภาพรวมของยุทธศาสตร์ 2. หลักสูตรที่ใช้โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ มีสาระวิชาอะไรบ้างที่เราใช้ในประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก 3. ครูทั่วโลกมีปัญหาเรื่องเงินเดือนน้อย ภารกิจเยอะเหมือนกัน แต่ครูมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนการเรียนการสอนของประเทศนั้นๆ ฉะนั้น การปฏิรูปครูหรือยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องครูควรเป็นอย่างไร และ 4. การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การวัดผลการสอนในระดับนานาชาติที่เราสอบ หรือคนอื่นสอบในโลกนี้เป็นอย่างไร และ 5. การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะการใช้แท็บเล็ตและมือถือ ที่จะกลายเป็นแหล่งส่งข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา
          "จิ๊กซอร์" การขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด เพราะหลายครั้งที่แผนยุทธศาสตร์วางไว้อย่างถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อเข้าสู่ปฏิบัติกลับเหลวไม่เป็นท่า พลตรีศรชัย มนตริวัต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาวิชาการทหาร ชี้แนะว่า อยากให้ สกศ. ประสานกับกระทรวงกลาโหม เพราะกระทรวงกลาโหม มีทั้งโรงเรียนประถม อาชีวะ เตรียมทหาร โรงเรียนช่างฝึกฝีมือทหารและมีอุดมศึกษา มีวิทยาลัยแพทย์ พยาบาล แต่โรงเรียนเหล่านี้ยังไม่ค่อยได้ใช้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากตอนนี้มีเด็กมาเรียนจำนวนจำกัด และความเกี่ยวข้องระหว่างโรงเรียน สกศ. กับกระทรวงกลาโหมมีความร่วมมือน้อยมาก
          ด้าน รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร ที่ปรึกษาที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อยากให้เน้นยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นหลักสำคัญ เพราะการปฏิรูปครูถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษาเด็ก โดยครูสอนวิชาเดียวกันแต่วิธีการสอนต้องต่างกันตามบริบทของเด็กในแต่ละช่วงนั้นรวมถึงต้องมีการจัดทำหลักสูตรที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับ ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เห็นควรกำหนดเจ้าภาพในการดำเนินการยุทธศาสตร์แต่ละข้อย่างชัดเจนซึ่งเจ้าภาพในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทำคนเดียว แต่ขอให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เช่น มีการกระจายการบริหาร มีแผน มีการกำกับติดตามดูแล ฯลฯ ไม่ใช่แผนนี้สู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม. ส่งกลับมาให้เอาไปทำแต่ไม่รู้ว่าใครทำ เพราะทุกหน่วยงานต่างมีแผนของตนเองและมักจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงง่ายๆ หรือถ้าทำต่างหน่วยงานต่างทำ ทำเฉพาะเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย
          "สภาการศึกษา" เป็น "กรวย" ที่รวมรวบความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รศ.นรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เสนอแนะว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติค่อนข้างสูงแต่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ได้ไปปฏิบัติ สกศ. ต้องทำแผนปฏิบัตการที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและทำให้ทุกหน่วยงานรับทราบ พยายามบูรณาการหน่วยงานการศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม สถานประกอบการต่างๆ ดำเนินการตามแผนร่วมกัน เป็นต้น อนาคต สกศ. ควรมีบทบาททำให้ยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนต่างๆ ของทุกกระทรวงและนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกันทุกกระทรวงต้องดูว่าแผนที่วางไว้มีอะไรสอดคล้องบ้างและทำในสิ่งนั้น
          วันนี้อาจมีหลายคน บ่นว่าการศึกษาไม่ดี แต่หลังจาก "พิมพ์เขียว" ยุทธศาสตร์การศึกษาชาติคลอด แล้วนั้น "ดร.ศศิธารา" เชื่อมั่นว่า 2561 ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแน่ๆ คือ อีก 6 ปี ข้างหน้าผู้ที่จบการศึกษาของไทยจะไม่เหมือนเดิม นักเรียนไทย คนไทยของเรา อายุก่อน 30 ปี จะพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง สื่สารภาษาอังกฤษได้ และอาจพูดภาษาประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย รวมถึงมีความรู้ ความสามารถในเรื่องการเทคโนโลยีต่างๆ รู้จักการค้นคว้าหาความรู้ โดยไม่มีที่สิ้นสุด สกศ. จะร้องเรียงแล้วประมวลภายในเดือน เม.ย. ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่คณะอนุกรมการสภาการศึกษาเพื่อให้ความเห็นชอบ และนำเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ลงสู่การปฏิบัติได้เดือน พ.ค.นี้
คมชัดลึก ฉบับวันที่ 29 เม.ย. 2556


คอลัมน์: มติชน มติครู : จัดระเบียบ..แก้ 'ครู' ขาดแคลน
          สุนทร เชี่ยวพานิช          ในขณะที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยกำลังตื่นตัว พร้อมระคนไปกับความละล้าละลังกับข้อกังขาในความชัดเจนชนิดที่อาจเรียกได้ว่า "ไร้" เอกภาพ โดยเฉพาะบนเส้นทางของการเตรียมการที่จะรับมือกับการเปลี่ยนถ่ายมิติในการดำเนินชีวิตเพื่อเข้าสู่สังคมยุคใหม่ แต่ทุกอย่างก็ต้องก้าวผ่านไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในปี พ.ศ.2558
          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นองค์กรหลักที่สำคัญในการสร้างเยาวชนของชาติ แม้ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อมไว้คอยรับมือกับสภาพของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะได้พยายามที่จะเร่งพัฒนาระดับคุณภาพการศึกษา ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในด้านวิทยาการสมัยใหม่ให้แก่เด็กๆ ไทย ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้เป็นบุคลากรที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับสภาพของสังคมยุคไร้พรมแดน "อย่างไร้รอยต่อ" เช่น ให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักเรียน นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการเรียนการสอนรายวิชาอาเซียนศึกษา ทั้งในรูปแบบของการให้ความรู้เฉพาะเรื่อง และองค์รวมแห่งการเรียนรู้ อาทิ ให้รู้ถึงที่มาที่ไป และความจำเป็นของการที่จะต้องรวมกลุ่มกันเป็นประเทศอาเซียน บทบาทของการเป็นประเทศสมาชิก ตลอดจนในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมทั้งในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ฯลฯ
          นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมในเชิงของการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าควรที่จะพัฒนาตนเองอย่างไร จึงจะทำให้สามารถดำรงชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งต่อคนไทยด้วยกันและต่อประชากรอาเซียนได้อย่างสร้างสรรค์ และมีความสุข
          แต่สิ่งที่หลายฝ่ายต่างเป็นห่วงกันมากในขณะนี้ก็คือ ปัญหาในเรื่องการ "ขาดแคลนครู" ที่นับวันจะมีจำนวนมากเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ครูนั้นถือเป็นตัวจักรที่สำคัญในระดับต้นๆ ของการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ตัวเด็ก จากข้อมูลพบว่าในปี พ.ศ.2560 จะมีครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกษียณอายุราชการจำนวนประมาณ 100,000 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่ไม่น้อย และหากจะนับรวมกับครูทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกษียณอายุราชการไปในห้วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่เกษียณอายุราชการปกติ และเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คน ที่จะต้องพ้นไปจากแวดวงการศึกษา
          ที่สำคัญบรรดาครูที่ต้องเซย์กู๊ดบายไปทั้งก่อนหน้านี้ และที่กำลังจะโบกมืออำลาไปจากระบบการศึกษาเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากผลผลิตของภาครัฐในอดีต รวมทั้งยังได้รับการ "การันตี"จากสังคมมาเป็นอย่างดี ทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ตลอดจนความมุ่งมั่น ความอดทน ความเสียสละ และอื่นๆ
          ที่น่าสนใจก็คือบรรดาครูกลุ่มนี้ต่างก็ได้ผ่านการศึกษาเล่าเรียนอย่างเข้มข้นมาจากสถาบันที่ผลิตครูโดยเฉพาะ ในห้วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ.2516-2519 โดยในช่วงนั้นปรากฏว่าประเทศไทย ได้มีกลุ่มเด็กที่จะต้องเข้าเรียนในระดับประถมศึกษามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องครูขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ภาครัฐจึงได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนในสายวิชาชีพครูกันอย่างอึกทึก พร้อมทั้งกำหนดหลักสูตรต่างๆ ขึ้นมากมายสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นครู
          ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของภาคประชาชนให้ทั่วถึง เช่น มีการรับผู้เรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.5) เข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา (ป.ป.) การเข้ารับการศึกษาภาคค่ำ (twilight) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ปกศ.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการชั้นสูง (ปกศ.สูง) ควบคู่ไปกับการเปิดให้เรียนภาคปกติในวิทยาลัยครู (เดิม) รวมทั้งยังได้จัดตั้งวิทยาลัยครูเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังได้มีการผลิตครูโดยคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่น่าสนใจก็คือในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา บรรดาครูที่จบการศึกษาในรุ่นที่รัฐผลักดันนี้ก็ได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเป็นระบบทั้งในระดับ "ปัจเจก" และระดับ "มหภาค"ที่เหนืออื่นใด จุดเด่นของครูในรุ่นนี้ก็คือการแสดงออกถึงความเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ตลอดจนด้านทักษะและประสบการณ์ของความเป็นครูอย่างแท้จริง เช่น การสมัครเข้าสอบวิชาชุดครูทั้งในระดับประกาศนียบัตรพิเศษวิชาการศึกษา (พ.กศ.) ประกาศนียบัตรพิเศษวิชาครูมัธยมศึกษา (พ.ม.) สมัครสอบวิชาชุดครูทั้งสองระดับนี้ทางไปรษณีย์ การใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนไปเข้ารับการอบรมโครงการจัดการศึกษาภาคฤดูร้อน (อศร.) เข้าอบรมภาคค่ำในระดับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ใช้เวลาในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และปิดภาคเรียนไปเข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตามโครงการการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศบป.) รวมทั้งเข้ารับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ จนทำให้มีครูจำนวนมากสามารถเรียนจบหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่สำคัญสามารถนำพาการศึกษาของชาติให้ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างพึงพอใจ
          ทั้งนี้ เป็นเพราะเกิดจากการมีวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน ตลอดจนมีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย กรมการฝึกหัดครู สภาการฝึกหัดครู คณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ คุรุสภา วิทยาลัยครู ตลอดจนหน่วยงานต้นสังกัดของครู ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความตื่นตัวและความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองของครูในรุ่นนั้น ที่สมควรจะได้จดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การศึกษาไทยยุคหนึ่ง
          ครั้นต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาขึ้นในปี พ.ศ.2542 พร้อมทั้งได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขึ้นมาหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ พ.ศ.2547 ฯลฯ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่รับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาให้แก่เด็กไทยทั้งประเทศ จะได้มีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านนโยบายจากซีกการเมือง ที่นอกจากแกว่งไปแกว่งมาแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านข้อกฎหมายต่างๆ ฯลฯ จนทำให้เส้นทางในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่คาดหวัง
          ประกอบกับในช่วงนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างในการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ทั้งระบบ สุดท้ายจึงทำให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรกที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี ส่วนใหญ่จึงเป็นไปในลักษณะของการแสวงหาคำตอบ ซึ่งผลที่ปรากฏออกมาก็คือ นอกจากจะส่งผลทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบผลอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ยังทำให้การจัดการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาไม่เป็นที่พึงพอใจของสังคมที่ต่างก็คาดหวังกันไว้ค่อนข้างสูงที่ต้องการเห็นการปฏิรูปการศึกษาเป็นเบ้าหล่อหลอมเด็กๆ ไทยให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ควบคู่ไปกับด้านคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์ โดยเฉพาะก่อนที่ประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่เวทีของการแข่งขันยุคประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการใช้ภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่ในด้านสมรรถนะที่สำคัญๆ เช่น การคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างมีเหตุผล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การรู้เท่าทันกระแสของสังคมยุคใหม่ การดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอาเซียน การดำรงชีวิตตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอื่นๆ
          ทั้งนี้ โดยต่างก็ได้ฝากความหวังทั้งหมดนี้ไว้กับ "ครู" เหตุผลก็เพราะยังมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ครูเท่านั้นจะเป็นผู้ที่สามารถประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ไปสู่ตัวเด็กๆ ได้ดีที่สุด ทั้งนี้ โดยไม่เข้าใจถึงสภาพข้อเท็จจริงของกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ว่านอกจากจะต้องมีครูที่มีศักยภาพเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เด็กแล้ว ยังจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เอื้อ ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ สื่อการเรียนการสอน รวมทั้งความร่วมมือจากภาคสังคม และอื่นๆ ที่เหนืออื่นใดก็คือ นโยบายในด้านการจัดการศึกษาจะต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านๆ มา ดูเหมือนกระทรวงศึกษาธิการกลับมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีกันเป็นว่าเล่น ดังนั้น จึงทำให้การดำเนินงานด้านการศึกษาของชาติต้องเกิดอาการสะดุดและไม่ต่อเนื่อง ที่สำคัญยังได้ส่งผลทำให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ นอกจากจะเกิดอาการสับสนในด้านนโยบายแล้ว ต่างยังเกิดอาการอ่อนล้าไปตามๆ กัน
          อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเรื่องครูสังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะเกษียณอายุราชการภายในปี พ.ศ.2560 จำนวนประมาณ 100,000 คน รวมกับครูทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้เกษียณอายุราชการย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมาแล้ว ก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คนนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ล้อเล่น เพราะนี่ถือเป็น "หลุมดำหลุมใหญ่" ที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต
          หากกระทรวงศึกษาธิการเองยังไม่มียุทธ ศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มครูที่เกษียณอายุราชการกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่จะมีจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังมีประวัติและที่มาที่ไปที่ไม่ธรรมดา ดังนั้น การแก้ปัญหาครูขาดแคลนในยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งถือเป็นยุคของการแข่งขันนี้ จึงควรที่จะต้องกระทำกันอย่างพิถีพิถัน ที่สำคัญจะต้องเตรียมการกันเสียแต่เนิ่นๆ และมีมาตรฐาน ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะทำให้ได้ครูที่มีคุณภาพจริงๆ มาทำงานด้านการศึกษาอย่างสมน้ำสมเนื้อ
          ดังนั้น จึงต้องฝากให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย และยังเป็นนักการเมืองน้ำดีที่สังคมต่างให้การเชื่อถือ จึงควรที่จะใช้โอกาสนี้สร้างมิติใหม่ที่เป็นคุณประโยชน์ ทั้งต่อการศึกษาและประเทศชาติ คือนอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาในเรื่องการขาดแคลนครูนี้อย่างจริงจังแล้ว ยังควรที่จะต้องเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู ไม่ว่าจะเป็นคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยเปิด รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ และหน่วยงาน อื่นๆ มาร่วมกัน "จัดระเบียบ" ในการผลิตครูใหม่ทั้งระบบ เพื่อจะได้วางแผนในการสร้างครูยุค "โลกไซเบอร์" ที่มีคุณภาพจริงๆ เพื่อนำไปทดแทนครูรุ่น "เราสู้" ที่กำลังจะอำลาไปจากแวดวงการศึกษาในอีกไม่ช้า
          อย่างน้อยก็ถือเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านการศึกษาให้ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะถ้าหากสามารถคัดเลือกคนที่มีคุณภาพเข้าไปทำหน้าที่เป็นครู และที่เหนืออื่นใดในการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นครูนั้น จะต้องมีการกำหนด "สเปก" ไว้ให้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะมาเป็นครูได้นั้น ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นคนที่มีความรักและความศรัทธาต่อวิชาชีพครูเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้ที่มีทั้งบุคลิกภาพ มีความมุ่งมั่น มีความทุ่มเท และความเสียสละที่จะมาทำงานด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เอาใครก็ได้มาเป็นครู
          สุดท้ายจะได้ไม่ต้องมาโทษกันไปโทษกันมาถึงเรื่อง "คุณภาพ" การศึกษาที่ "ตกต่ำ" เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: