วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ถกยุทธศาสตร์การศึกษาฯ Trip สุดท้าย ก่อนคลอดแผนยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ


เป็นครั้งสุดท้ายแล้วสำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ.2556-2558  ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท  หัวหิน-ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายผ่านวีดิทัศน์ จากนั้น ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวสรุปภาพรวมจากการประชุมทั้ง 4 ภาค ท่ามกลาง ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,600 คน
          พลตรีศรชัย มนตริวัต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาวิชาการทหาร  กล่าวว่าปัจจัยสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาคือครู ซึ่งการพัฒนาครูเดินมาถูกทางแล้ว โรงเรียนที่มีครูเก่งๆ แม้จะอยูในที่ห่างไกลก็สามารถพัฒนานักเรียนให้เก่งได้ และควรส่งเสริมให้คนที่อยากเป็นครูให้ได้เรียนด้านครู ไม่ใช่เอาคนที่เรียนไม่เก่งหรือเรียนไม่ได้มาเป็นครู ในส่วน ของกระทรวงกลาโหมมีการจัดการศึกษาอยู่หลายหน่วยงาน เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า วิทยาลัยแพทย์ทหาร แต่ที่ผ่านมาการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงกลาโหมยังประสานงานกันน้อย อยากให้มีการประสานงานกันมากขึ้น
          รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า การจัดการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการสร้างคนให้เป็นคนดีและคนเก่ง คือเป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรมและใฝ่หาความรู้  ส่วนการจัดการเรียนการสอนจะต้องเป็นการเรียนรู้แบบวิจัยและเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based  Learning) คือสอนให้รู้ปัญหาและหาวิธีแก้ เริ่มตั้งแต่เด็กโดยจัดเนื้อหา ให้ตรงกับวัย และยุคนี้เป็นยุคของเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ดังนั้นควรจะใช้วัฒนธรรมไทยในการสื่อสารและเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ
          ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงปี 2545 เป็นยุคที่ประเทศไทยเผชิญกับความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่และยิ่งมีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น และมีบางเรื่องที่ตั้งเป้าหมายไว้แต่ยังทำไม่ได้  เช่น การเพิ่ม โอเน็ตร้อยละ 40 และจะต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาเป็น บทเรียน สิ่งใดบ้างที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งใด ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จและควรสานต่อ
          รศ.นรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทัดเทียมกัน แต่จะต้องไม่ทิ้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยและควรบรรจุให้เข้าไปอยู่ในโลกไซเบอร์ด้วย และเห็นด้วยกับการเรียนภาษาเพื่อนบ้านเพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เขมร ลาว นอกจากนี้การเรียนการสอนควรให้มีการเรียนเกี่ยวกับการเรียงความ ย่อความ และหน้าที่พลเมืองด้วย  เพราะเด็กยุคนี้เขียนเรียงความ ย่อความไม่เป็น สุดท้ายจะต้องทำแผนที่สามารถแจ้งให้ทราบว่าอีก 5 ปีประเทศไทยต้องการคนอย่างไร เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้ผลิตคนได้ตรงตามต้องการ
          นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้นำเสนอ "ยุทธศาสตร์ประเทศ" (Country Strategy) ของกระทรวงศึกษาธิการ และรายงานผลการดำเนินงานด้านการศึกษาในระยะเวลาที่ผ่านมา  โดยมีนักวิชาการศึกษาหลายท่านร่วมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
          ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ประธานกรรมการโรงเรียนนานาชาติเดอะ รีเจ้นท์  เสนอแนะว่า ควรปลูกฝัง คุณธรรมและทักษะสังคมให้กับเด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้นที่เรียกว่า C-GRIP คือการสอนให้เด็กเรียนรู้จากเหตุการณ์จริงหรือกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย Courage คือ กล้าคิด กล้าทำ Generosity ปลูกฝังเรื่องจิตอาสาช่วยผู้ที่ลำบากหรือด้อยกว่า, Resolution พัฒนาความสามารถและมองหาจุดบกพร่องของตนเองและสัญญาว่าจะไม่ทำอีก, Imagination พัฒนาความสามารถในการจินตนาการและค้นคิดของใหม่ที่เป็นประโยชน์หรือจินตนาการในการแก้ไขปัญหาที่เห็นซ้ำซากหรือเพิ่งเกิดใหม่, Principle การปลูกฝังคุณธรรมประจำใจ โดยใช้ประสบการณ์การเรียนรู้ การพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมและทักษะทางสังคมดังกล่าวข้างต้น เช่น สอนไม่ให้เด็กเกลียดชังเพื่อนต่างผิว เคารพ ความคิดเห็นของเพื่อน สามารถทำงานเป็นกลุ่มได้  ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักแบ่งปัน กล้าที่จะทำดี เป็นผู้นำและแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อน เห็นคุณค่าของตัวเอง มีความเมตตาและช่วยเหลือ ผู้อื่น
          ดร.บูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้รายงานถึงการติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษาตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ ภาคกลาง พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ครูคิดว่าวิชาในหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้มากที่สุดคือ ภาษาไทย รองลงมาคือภาษาอังกฤษ ส่วนศิลปะนำไปใช้น้อยที่สุด สอดคล้องกับนักเรียนมัธยมที่เห็นว่าภาษาไทยใช้กับชีวิตประจำวันได้มากที่สุด ศิลปะน้อยที่สุด และนักเรียนมีความเห็นว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด แต่ส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรม น้อยที่สุด ซึ่งตรงกันข้ามกลับครูและผู้บริหารที่เห็นว่า การจัดโครงการหรือกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม มีความเหมาะสมและเพียงพอ นอกจากนี้ยังพบว่าห้องสมุดโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่นักเรียนใช้มากที่สุด
          สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 99/20 ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ 10300 โทรศัพท์ 0-2668-7123 ต่อ 2413, 2414, 2416 เว็บไซต์ 
www.onec.go.th
มติชน ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2556


คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การตรวจสอบคุณวุฒิที่ใช้สมัครสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุเป็นครูผู้ช่วย
          ศรีชัย พรประชาธรรม
      ผอ.ภารกิจนโยบายและระบบบริหารงานบุคคล
          จากการที่ ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ประจำปี พ.ศ.2556 แล้ว และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในปฏิทินการสอบฯเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้มีการเปิดรับสมัครสอบแข่งขันระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2556 และสอบแข่งขันระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2556 นั้น เห็นว่าที่ผ่านมามีเรื่องขอหารือเกี่ยวกับคุณวุฒิที่ใช้สมัครสอบแข่งขันเข้ามายังสำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นจำนวนมากในหลายๆ กรณีด้วยกัน ในวันนี้จึงขอหยิบยกกรณีหนึ่งที่เห็นว่าจะเป็นการบอกกล่าว ย้ำเตือนไปยังมหาวิทยาลัย และผู้สนใจสมัครสอบแข่งขัน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบคุณวุฒิที่ใช้ในการสมัครสอบแข่งขันว่าเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้วหรือไม่อย่างไร ดังนี้
          สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้มีการเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 และได้มีการประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีผู้สอบแข่งขันได้ที่มีคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่ไม่ชัดเจน และไม่อาจพิจารณาได้ จึงมีหนังสือขอหารือคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่ผู้สอบแข่งขันได้นำมาใช้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ผู้ช่วย กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คุณวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอัญมณี มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าเป็นคุณวุฒิ และหรือสาขาวิชาที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้วหรือไม่ และไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่ตรงตามประกาศรับสมัครหรือไม่
          สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ตรวจสอบและมีการประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีอัญมณี เป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตรจากหลักสูตรที่ ก.ค.ศ.เคยรับรองไว้ จึงไม่ได้ยื่นขอการรับรองหลักสูตรใหม่นี้ เนื่องจากเห็นว่ามีโครงสร้างของหลักสูตรเหมือนกัน และเพิ่งได้ขอให้ ก.ค.ศ.รับรองคุณวุฒิดังกล่าว ดังนั้น คุณวุฒินี้จึงเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองภายหลังการเปิดรับสมัครสอบแข่งขัน จึงทำให้ผู้สอบแข่งขันได้รายนี้ขาดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
          จากกรณีที่นำมาเสนอในวันนี้ จะเห็นได้ว่าการตรวจสอบการรับรองคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่จะใช้สมัครสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะสอบแข่งขันได้ รอการบรรจุ หากคุณวุฒิที่นำมาสมัครสอบ ก.ค.ศ. ยังไม่ได้รับรองก็หมดสิทธิในการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการนะครับ ดังนั้นจึงขอฝากไปยังมหาวิทยาลัยทุกแห่งให้ตรวจสอบด้วยว่าคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่เปิดสอนได้มีการเสนอให้ ก.ค.ศ.รับรองเพื่อใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ดำเนินการก็ขอให้รีบดำเนินการโดยด่วนนะครับ เพื่อนักศึกษาของท่านจะได้ไม่เสียสิทธิเช่นเดียวกับกรณีนี้
มติชน ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2556

ไม่มีความคิดเห็น: