วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปฏิรูปหลักสูตรเปิดรับฟังครู

ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช  ทองโรจน์  ประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน   เปิดเผยว่า  ขณะนี้คณะทำงานได้ร่างหลักสูตรเสร็จไปกว่าร้อยละ 90 แล้ว  และวันที่ 15-16 ก.ค. คณะทำงานจะร่วมรับฟังความคิดเห็นจากครูระดับประถมศึกษาทุกสังกัดทางภาคอีสาน  เพื่อนำข้อเสนอต่าง ๆ ไปปรับปรุงเพิ่มเติมร่างหลักสูตรดังกล่าว   ซึ่งจะต้องสรุปร่างหลักสูตรป.1-ป.3 ให้เสร็จภายในวันที่  19 ก.ค. นี้ และหลักสูตรป.4-ป.6   ในวันที่  2 พ.ค.  ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากลุ่มครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะเสนอให้รมว.ศึกษาธิการ ชะลอการปรับหลักสูตรใหม่ 6 กลุ่มการเรียนรู้ เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรปัจจุบันเพิ่งใช้  และหลักสูตรใหม่เร่งรัดทำเร็วเกินไป โดยไม่มีคนในวงการครูเข้าไปมีส่วนร่วมนั้น ตนเห็นว่าการเสนอให้ชะลอสามารถทำได้ แต่ขอยืนยันว่าในการทำหลักสูตรนี้มีตัวแทนจากกลุ่มครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย 16 สถาบันและสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เข้ามาร่วมตั้งแต่ต้น  รวมทั้งมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มนี้มาก่อน  แต่คนที่คัดค้านคงไม่ได้เข้าร่วมตั้งแต่ต้นจึงไม่ทราบเรื่อง อีกทั้งคนที่มาร่วมทำหลักสูตรก็ได้คัดเลือกมาจากทุกสายไม่เฉพาะแค่สายครู เนื่องจากหลักสูตรที่ทำจะต้องมีความหลากหลาย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาตนได้หารือกับนายจาตุรนต์เรื่องนี้แล้วและ รมว.ศึกษาธิการ ยืนยันให้เดินหน้าต่อไป.
 เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 ก.ค. 2556

กมธ.การศึกษาค้านยุบสมศ.

          เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) นายประกอบ รัตนพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมสัญจรแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาการศึกษาของชาติร่วมกับผู้บริหาร สมศ.ว่า เจตนารมณ์กฎหมายจัดตั้ง สมศ. เพื่อประเมินและรับรองคุณภาพการศึกษาเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นระบบการศึกษา แต่สังคมกำลังสับสนซึ่งหลายส่วนบอกว่าไม่ควรมี สมศ. อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่ายังควรต้องมี สมศ. เป็นหน่วยงานประเมินความพร้อมสถานศึกษา ครู และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เพื่อนำจุดบกพร่องส่งให้ต้นสังกัดพัฒนาปรับปรุง
          "ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าเกณฑ์ประเมินของ สมศ. ควรมีหลายมาตรฐาน เพราะโรงเรียนมีความพร้อมไม่เท่ากันนั้น เห็นว่าควรมีมาตรฐานเดียว เพียงแต่โรงเรียนขนาดเล็กและกลาง อาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการเข้าสู่มาตรฐาน ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขร่วมกัน" นายประกอบกล่าว
          นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานศึกษาเปิดกันง่ายมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีหน่วยงาน และเกณฑ์รักษาคุณภาพสถานศึกษา เพียงแต่ผลประเมินอาจกระทบความรู้สึกของสถานศึกษา จึงทำให้รู้สึกว่าไปเบียดเบียนเวลาและสร้างภาระ ทั้งที่ สมศ.เปรียบเหมือนหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ถ้าสถานศึกษาด้อยคุณภาพ จะสอนเด็กต่อได้อย่างไร
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


เล็งคนนอกสางคดีทุจริตครูผู้ช่วย 'จาตุรนต์'หวั่นฝ่ายการเมืองลุอำนาจ-ไม่รีบร้อนดันกศน.ขึ้นแท่ง

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีที่นายเสริมศักดิ์พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ จะขอตรวจสอบกรณีการทุจริตสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 ต่อเนื่องจากเป็นทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นว่าต้องดูภาพรวมทั้งหมดก่อนว่าที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างไร รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆมีปัญหาอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ถูกสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เป็นผู้บริหารระดับสูงก็ควรจะต้องมาพิจารณาให้รอบคอบว่า คนที่มีความเหมาะสมจะมาดำเนินการสอบสวนควรจะเป็นใครขณะเดียวกันต้องพิจารณาด้วยว่า ควรจะเป็นคนในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)หรือควรจะคนนอกที่มาจากกระทรวงอื่นโดยเน้นว่ากระบวนการสอบสวนทุกขั้นตอนจะดำเนินไป เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ความสุจริต และป้องกันการทุจริตได้อย่างจริงจัง รวมถึงจะต้องแน่ใจว่าไม่มีการชี้นำ หรือมีความมุ่งหมายทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด
          "ส่วนจะให้นายเสริมศักดิ์ ดูแลต่อหรือไม่ คงต้องหารือกันอีกครั้งและหากมีความจำเป็น ก็คงต้องให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยดูแลกระบวนการสอบสวน ส่วนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนชุดต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ ก็ขอให้ดำเนินการต่อให้เต็มที่ไม่มีการล้มมวย ไม่มีการให้ชะลอ โดยเร็วๆ นี้จะขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาบรรยายสรุปเรื่องการทุจริตทั้งหมดของศธ. และจะขอความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะเวลานี้ที่ต้องระวังคือถ้าฝ่ายการเมืองไปสั่งอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า ไปทำตรงข้ามในทางที่ไม่ถูกต้อง อาจจะกลายเป็นให้คุณให้โทษกับคนได้"
          นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า โดยสาเหตุที่ตนต้องขอประมวลภาพรวมทั้งหมดก่อน เนื่องจากเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นใน ศธ. เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่ และเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าวก็ต้องมาดูว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ เพราะหากตั้งผู้ที่ได้ประโยชน์จากการไปปลดอีกคนหนึ่งออก ก็ต้องระวัง เพราะ ศธ.มีโครงสร้างพิเศษ คือผู้บริหารระดับ 11 ดูแลองค์กรหลักถึง 5 คน จึงต้องดูให้รอบคอบ แต่ที่รับประกันได้แน่นอน คือการดำเนินการทุกขั้นตอนจะทำให้ถูกต้อง และเกิดความยุติธรรมมากที่สุด สำหรับหน่วยงานภายนอกที่จะเข้ามาช่วยดูเรื่องนี้ อาจจะเป็นผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
          ส่วนจากกรณีที่นายเสริมศักดิ์ จะเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต พร้อมสนับสนุนให้สำนักงาน กศน.ให้เป็นองค์กรอิสระที่แยกออกจากสำนักงานปลัด ศธ.นั้น นายจาตุรนต์ ยืนยันว่ายังไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต ทั้งยังต้องหารือกับสำนักงานปลัด ศธ. ว่ายังมีงานอะไรที่ค้างคาและจะสะสางอยู่หรือไม่ ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องให้มีการแยกสำนักงานกศน. เป็นองค์กรอิสระนั้น คงต้องใช้เวลาอีกพอควรที่จะพิจารณา ซึ่งรวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่จะเสนอขอให้ปรับโครงสร้างด้วย
          "ที่ผ่านมา ศธ.มัวสาละวนกับเรื่องโครงสร้าง ทำให้เสียโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาของชาติ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายผมจึงขอเน้นการปฏิรูปการเรียนการสอนก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างจะรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายแต่จะไม่ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน" นายจาตุรนต์ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: