วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

1,224 ครูเฮ! จ่อนั่ง'รอง-ผอ.'ร.ร.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มครูร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เกี่ยวกับกรณีการประกาศผลการขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านเกณฑ์การสรรหาร้อยละ 60 เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการสอบคัดเลือกครั้งที่ผ่านมาปี 2555 ที่ได้ใช้เกณฑ์ตัดสินร้อยละ 60 และให้ขึ้นบัญชีผู้ที่สอบผ่านร้อยละ 60 เท่ากับจำนวนตำแหน่งว่างในปัจจุบันและตำแหน่งที่คาดว่าจะว่างจากการเกษียณอายุราชการในสองปีงบประมาณหรือตุลาคม 2555-2556 จนทำให้ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 บางส่วนไม่ได้รับการขึ้นบัญชีเพราะเชื่อว่าการคำนวณตำแหน่งว่างมีความคลาดเคลื่อนนั้นที่ผ่านมาตนได้มอบหมายให้นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. ไปหารือกับผู้แทนครูกลุ่มดังกล่าว รวมถึงผู้แทนครูและผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.ศ. และพบว่าการคำนวณตำแหน่งว่างมีความคลาดเคลื่อนจริง และมีตำแหน่งว่างมากเกินกว่าที่ประกาศขึ้นบัญชี ซึ่งปัญหานี้เกิดจากก่อนขึ้นบัญชี สพฐ.จะสอบถามจำนวนอัตราที่ต้องการบรรจุไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และเขตพื้นที่ฯ ก็จะสอบถามไปยังโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่โรงเรียนจะแจ้งอัตราว่างที่ต้องการบรรจุใหม่มายังเขตพื้นที่ฯ เท่านั้น แต่จะเหลืออัตราไว้สำหรับโยกย้ายอีกส่วนหนึ่ง ทำให้ยังมีอัตราว่างแฝงอยู่
          "จากปัญหาดังกล่าว ในการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งต่อไป มีแนวโน้มจะเห็นชอบให้ครูกลุ่มดังกล่าวได้ขึ้นบัญชี ตามจำนวนที่ว่างหรือคาดว่าจะว่างจริง โดยยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิม คือ ให้ขึ้นบัญชีผู้ที่ได้คะแนนเกินร้อยละ 60 เท่ากับจำนวนที่ว่างหรืออัตราเกษียณที่คาดว่าจะว่าง ไม่ใช่ขึ้นบัญชีทั้งหมดทุกคน เพราะไม่สามารถเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดการฟ้องร้อง โดยคาดว่าจะมีครูในกลุ่มดังกล่าวได้ขึ้นบัญชีตามอัตราว่างที่มีจำนวนหนึ่ง ส่วนผู้ที่ไม่ได้ขึ้นบัญชี ก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ เพราะการขึ้นบัญชีเป็นไปตามประกาศเดิม และยืนยันว่าระหว่างนี้จะไม่มีการเปิดสอบใหม่แน่นอนในระหว่างนี้จนกว่าจะครบ 2 ปี โดยครูในกลุ่มดังกล่าวที่มาร้องเรียนมีทั้งหมด 1,224 คน" นายจาตุรนต์กล่าว
          ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในการประชุม ก.ค.ศ.ที่ผ่านมา ยังหารือเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2556 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะสอบในช่วงต้นปี 2557 โดยมีการเสนอ หลักเกณฑ์ให้เขตพื้นที่ฯ จัดสอบเอง และใช้คะแนนสอบสัมภาษณ์เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก ส่วนกำหนดวันสอบนั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรจะไปจัดสอบในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เพื่อให้บัณฑิตที่จบการศึกษาได้มีโอกาสสอบด้วย จากเดิมที่สอบในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะเดียวกันรายละเอียดต่างๆ ในหลักเกณฑ์ก็ควรพิจารณาให้รอบคอบ รวมถึงให้ไปดูสาขาที่เปิดสอบ โดยขอให้เน้นในสาขาที่ขาดแคลนมากขึ้น เพราะเท่าที่ดูตัวเลขมีการเปิดรับครูสาขาขาดแคลนไม่มากเท่าที่ควร ขณะที่บางสาขาที่ไม่ขาดแคลนกลับเปิดรับมาก ที่ประชุมจึงมอบให้ ก.ค.ศ.ไปหารือกับ สพฐ.ให้มีความชัดเจน และนำข้อสรุปที่ได้ เข้าหารือในการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งต่อไป
          ด้านนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.ขาดแคลนครูอยู่ประมาณ 4,000-5,000 คน ในบางเขตพื้นที่ฯ ซึ่งไม่ได้จัดสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา หรือเรียกบรรจุบัญชีที่ขึ้นไว้หมดแล้ว สพฐ.จึงต้องเร่งจัดสอบครูผู้ช่วย ปี 2556 รอบ 2 โดยเร็ว และหากเลื่อนสอบออกไปเป็นช่วงมีนาคมหรือเมษายนก็สามารถทำได้ แต่ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาในภาพรวมได้ทั้งหมด

          --มติชน ฉบับวันที่ 28 ธ.ค. 2556

ตามรอยพระยุคลบาท ’ครูแห่งแผ่นดิน’ 
ผู้คนทั่วโลกขนานพระนามพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "The Great King" แล้วเพราะพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงทำงานและทรงเสียสละพระองค์เองตลอดเวลา คนทั่วโลกก็ขนานพระนามพระองค์ว่า "Working Monarch"เพราะพระองค์ทรงทำงานด้วยความเหนื่อยยาก โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม2554 ที่ผ่านมา ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า"
พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน"
          ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา 5 ธันวาคม2556 ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือ "ตามรอย พระยุคลบาท...ครูแห่งแผ่นดิน"ที่วางอยู่บนแผงวันนี้ราคา120 บาทจะทำเป็นของขวัญปีใหม่ก็ดีทีเดียว ผลงานเขียนโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ถวายงานใกล้ชิดพระองค์ท่านมากว่า 35 ปี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้พสกนิกรชาวไทยได้รับความรู้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนและทรงปฏิบัติให้ดู เพื่อให้ประชาชนชาวไทยเดินตามรอยพระยุคลบาท
          ด้วยเป็นที่ทราบกันดีว่า...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น "ครู" ที่สั่งสอนคนไทยมาโดยตลอดความเป็นครูของพระองค์ คือ"ทรงทำให้ดู" ดังนั้นพระองค์จะทรงเน้นการปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดู และทรงจูงใจให้นักเรียนมาสนใจ แต่ไม่เคยทรงสั่งหรือบังคับให้ทำ จะทรงสอนอย่างละเอียดให้เข้าใจในทุกแง่มุม และที่สำคัญจะทรงเน้นย้ำเสมอว่า การสอนควรยึดรากฐานเดิมของสังคมไทยไว้ ไม่ควรคัดลอกจากต่างประเทศมากเกินไปแต่อาจนำหลักการมาเปรียบเทียบปรับปรุงได้เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้ขาดความเป็นตัวของตัวเอง
          ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมากซึ่งถ้า
คนไทยสนใจศึกษาโครงการ ที่พระองค์พระราชทานนั้น ก็จะได้รับความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ดำเนินชีวิตนำไปสู่ความสุขได้ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับภูมิประเทศและวิถีชีวิตของคนไทย
          ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้เขียน กล่าวในฐานะลูกศิษย์ของพระองค์ว่า "การได้ถวายงานใกล้ชิดพระองค์ ทำให้ได้รับความรู้ที่พระองค์ได้สอนในเรื่องของแผ่นดิน สอนให้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติการใช้ชีวิต การทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น ถ้าพลาดในเรื่องใด จะทรงแนะนำ ทรงตักเตือน ทรงนำเอกสารให้อ่าน และทรงอธิบายสม่ำเสมอ ซึ่งไม่มีตำราใดๆ และไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งใดที่จะสอนได้ครบถ้วนดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอน ด้วยความสำนึกใน
พระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่พระองค์ทรงสอนขึ้นมาผ่านหนังสือ ตามรอยพระยุคลบาท...ครูแห่งแผ่นดิน"
          หนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของครูแห่งแผ่นดินในหลากหลายแง่มุมที่เป็นประโยชน์แก่คนไทย และควรค่าแก่การศึกษาทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้ประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการครอง
แผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎรพระองค์ทรงเป็นผู้นำประเทศที่สอนให้คนไทยรู้จักหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรากฐานของวิถีชีวิตของคนไทย พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อเกษตรกรก่อให้เกิดการพัฒนาการเกษตรตามแนวพระราชดำริโครงการในพระราชดำริของพระองค์ล้วนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนไทยและประเทศอย่างแท้จริง
          ดร.สุเมธ ได้กล่าวต่อไปว่า "ประชาชนชาวไทยมีความชื่นชมศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อถามลึกลงไปว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทำอะไรอยู่ทรงสอนอะไร ก็ไม่มีใครตอบได้ แน่นอนว่าเราชอบได้ยินรับสั่งของพระองค์โดยเฉพาะในวันที่ 4 ธันวาคม ซึ่งจะรับสั่งเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปีทุกคนฟังถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ วันรุ่งขึ้นก็ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ทุกคนก็จะลืมไปหมดแล้วว่าพระองค์ได้สอนอะไรซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นครู ทรงสอนมากว่า 60 ปี ถ้านำมาถ่ายทอดเป็นตำราเรียนก็จะมีมาก แต่จะมีสักกี่คนที่จะอ่านแล้วทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง"
          นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังเปิดเผยความประทับใจในการถวายงานว่า "ในฐานะส่วนตัวผมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อตัวผม และในฐานะเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ผมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ ผมสังเกตเห็น ความยากลำบากที่ทรงตรากตรำพระวรกาย ถ้าตรงจุดไหนในราชอาณาจักรไทยมีปัญหา พระองค์ทรงพร้อมที่จะเสด็จฯ ไปแก้ไขด้วยพระองค์เอง"
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักแผ่นดิน ทรงรักประชาชน ทรงทำทุกอย่างเพื่อแผ่นดินไทย ให้ประชาชนชาวไทย ขณะที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ของประชาชน ทรงรับฟังปัญหาจากปากคำของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง และทรงเข้าไปแก้ไข ไม่ทรงวางเฉย แม้ในขณะที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็จะทรงติดตามงานทุกเรื่องทุกด้านตลอดเวลาทุกวัน ทำให้เห็นได้ว่าพระองค์ไม่เคยทอดทิ้ง คนไทยแม้ในเวลาที่ทรงพระประชวร
          ถ้าคนไทยได้ศึกษาทำความเข้าใจคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่า คำสอนของพระองค์ล้วนเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับวิถีความเป็นไทย เป็นหลักปฏิบัติที่ทุกคนสามารถลงมือทำได้ และถ้าได้นำมาปฏิบัติและยึดถือเป็นแบบอย่างแล้ว ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สุขบนความพอเพียงอย่างยั่งยืน
          การได้เกิดมาอยู่ใต้เบื้องพระยุคลบาท นับเป็นบุญอย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทย เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรง"ครองแผ่นดินโดยธรรม" โดยการใช้ธรรมะที่ชื่อว่า "ทศพิธราชธรรม" ในการครองแผ่นดิน ทรงครองแผ่นดินด้วยความรักและความเมตตาต่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด อีกทั้งยังทรงเป็น"ครูแห่งแผ่นดิน" ที่เป็นแบบอย่างและสอนให้คนไทยรู้จักหลักเศรษฐกิจพอเพียง อันจะยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่แผ่นดินและพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ พระองค์จึงทรงเป็นพระผู้สถิตในดวงใจของประชาชนคนไทย เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

เลื่อนสอบโอเน็ต

          รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ.ได้กำหนดการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2557 และโอเน็ต ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งทั่วประเทศนั้น สทศ.ได้จัดการประชุมหารือกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนวันสอบโอเน็ต ป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2556 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เลื่อนวันสอบโอเน็ต ป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2556 จากเดิม ป.6 สอบวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ประกาศผล 15 มีนาคม 2557 เลื่อนเป็นสอบ 8 กุมภาพันธ์ 2557 ประกาศผล 19 มีนาคม 2557 และโอเน็ต ม.3 จากเดิมสอบวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2557 ประกาศผล 16 มีนาคม 2557 เลื่อนเป็นสอบ 8-9 กุมภาพันธ์ 2557 และประกาศผล 19 มีนาคม 2557
          "นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. ได้หารือการสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ประจำปีการศึกษา 2557 มีมติให้ยืนยันวันสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ปีการศึกษา 2557 ในวันที่ 4-5 มกราคม 2557 ตามเดิม โดยแนะนำให้ผู้ปกครองและนักเรียนตรวจสอบสนามสอบ รวมทั้งศึกษาเส้นทางและวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อให้เดินทางถึงสนามสอบก่อนเวลาสอบ จะได้เตรียมความพร้อมก่อนสอบ ทั้งนี้ สทศ.ขอให้นักเรียนติดตามข้อมูลข่าวสารการสอบต่างๆ ของ สทศ.ได้ทางเว็บไซต์ 
www.niets.or.th" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เงินเดือนแรกบรรจุ 15,050 บาท สำหรับตำแหน่งครูผู้ช่วย

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่สนใจจะสอบบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยทุกท่าน สำหรับบทความในวันนี้ได้นำเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขันเป็นข้าราชการครูมาให้ความรู้เพิ่มเป็นเรื่องสุดท้าย คือเรื่อง บัญชีอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อัตราเงินเดือนแรกบรรจุ) สำหรับปี 2556 และปี 2557 ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ดังนี้ (ดูตาราง)สำหรับการสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยของส่วนราชการต่างๆ ที่กำลังจะประกาศรับสมัครในเร็ววันนี้นั้น หากได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไปจะได้รับอัตราเงินเดือน ดังนี้
1.ผู้ที่สอบบรรจุด้วยคุณวุฒิปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย รับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย อัตรา 15,050 บาท
2.ผู้ที่สอบบรรจุด้วยคุณวุฒิปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย รับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย อัตรา 15,800 บาท
3.ผู้ที่สอบบรรจุด้วยคุณวุฒิปริญญาโททั่วไป แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย รับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย อัตรา 17,690 บาท
4.ผู้ที่สอบบรรจุด้วยคุณวุฒิปริญญาเอก แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย รับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย อัตรา 21,150 บาท
สำนักงาน ก.ค.ศ.หวังว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้นำเสนอเกี่ยวกับการ เตรียมตัว เพื่อสอบแข่งขันเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สอบ เพื่อจะได้ใช้ในการตัดสินใจเข้ามาสู่วิชาชีพครู อันจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาชาติต่อไป

ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.

ไม่มีความคิดเห็น: