วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

ก้าวต่อไป ก.ค.ศ. ปี 2557

สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.2557 "คุณครู" ที่เคารพทุกท่าน ในสัปดาห์ส่งท้ายปีเก่า พ.ศ.2556 ได้นำเสนอผลการดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาให้ทราบ ไปแล้ว สัปดาห์นี้จึงขอนำเสนอทิศทาง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่สำนักงาน ก.ค.ศ. จะต้องดำเนินการในปี พ.ศ.2557 มาให้เพื่อนข้าราชการครูฯได้รับทราบโดยทั่วกัน ดังนี้ 

1.กำหนดปฏิทินการสรรหา/เลือกตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนคุรุสภา ผู้แทน ก.ค.ศ. และผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. และใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2556 และเดือนมีนาคม 2557 ตามลำดับ 

2.จัดการประชุมชี้แจงการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน ก.ค.ศ. และการเลือกตั้งอนุกรรมการ ผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้งในส่วนราชการ 

3.ดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งว่างจำนวน 48 ตำแหน่ง เพื่อให้มีผู้บริหาร (ตัวจริง) บริหารงานในเขตพื้นที่การศึกษาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น 

4.พัฒนาระบบข้อมูลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นปัจจุบัน และนำระบบการตรวจสอบคำสั่งด้วยอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการตรวจสอบคำสั่ง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 

5.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดตำแหน่งให้เป็นตำแหน่งที่มีระดับสูงขึ้นตามกรอบอัตรากำลัง สำหรับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภทวิชาการให้เป็นระดับชำนาญการพิเศษในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยการประเมินค่างาน ซึ่งเป็นไปตามอัตรากำลังใหม่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 1,163 ตำแหน่ง 

6.เร่งรัดให้มีการประกาศใช้หลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ ได้แก่ หลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะตามข้อตกลง (PA : Performance Agreement) และหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตามกรอบแนวคิด (TPK : Theoritical Pedagogical) เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับการประเมินวิทยฐานะอีกแนวทางหนึ่ง 

7.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลอื่นๆ ให้มีความ เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน 


นอกจากที่กล่าวข้างต้น ยังมีงานด้านการบริหารงานบุคคลอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ต้องดำเนินการเพื่อ "คุณครู" โปรดติดตามต่อไป 

วิวัฒน์ แหวนหล่อ 
รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. 

อีก 10 ปีข้างหน้า ครูสังคมศึกษาเกษียณมากที่สุด!

          ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ซึ่งมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้นำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะเกษียณอายุราชการ ใน 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2557-2567) ว่า มีจำนวน 218,644 คน หรือร้อยละ 53.02 ของครู สพฐ. ทั้งหมด โดย
สาขาสังคมศึกษา จะเกษียณฯมากสุดคือ 52,145 คน
รองลงมา วิทยาศาสตร์ 18,447 คน
ภาษาไทย 15,947 คน
การงานอาชีพ 12,667 คน
ศิลปะ 8,941 คน
ภาษาต่างประเทศ 7,947 คน และ
คณิตศาสตร์ 6,265 คน
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางแผนและพัฒนานโยบายการผลิตครูในอนาคต.


ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2557



ศธ.เดินหน้าทำแผนแม่บทไอซีที วางเป้าเข้าถึงเด็กทุกคนใน 5 ปี

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จาก การประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อ เร็ว ๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทเทคโน โลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ศธ. (พ.ศ. 2557-2559) ซึ่งเป็นแผนที่จะใช้ในการขับเคลื่อนงานไอซีทีเพื่อการศึกษาทั้งระบบ โดยขณะนี้มีความคืบหน้ากว่า 70% แล้ว และกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายต่อไป ทั้งนี้แผนแม่บทฯ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. เพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถของผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาในด้านไอซีที 2. พัฒนามาตรฐานสาระความรู้สื่อการเรียนรู้แบบอิเล็กทรอนิกส์ 3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที 4. พัฒนาระบบไอซีทีเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการบริการ และ 5. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการศึกษา
          ด้าน ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมเน้นย้ำว่าแผนแม่บทฯ ต้องครอบคลุม และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าควรจะให้ไอซีทีเข้าถึงสถานศึกษาทุกแห่งได้ภายในปีใด อย่างไร ส่วนเป้าหมายที่จะทำให้ไอซีทีเข้าถึงเด็กและเยาวชนภายใน 5 ปี ก็ต้องมาดูว่าจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอะไรมารองรับ และต้องใช้งบประมาณเท่าใด ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบคัดกรองเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ ต้องมีการพัฒนาครูและบุคลากรที่ชัดเจนด้วย ทั้งนี้ให้มีการปรับปรุงร่างดังกล่าวเพื่อนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 9 ม.ค.นี้.

 --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2557


ไม่มีความคิดเห็น: