วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

ศธ.วาง 6 มาตรการ

   ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ซึ่งมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนตามโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งแม้ว่าปีค.ศ. 2012 ผลคะแนนของนักเรียนในภาพรวมจะดีขึ้น แต่ก็จะต้องเตรียมการเพื่อทำให้การสอบในปีค.ศ. 2015 มีผลคะแนนที่ดียิ่งขึ้นให้ได้ตามเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา โดยมาตรการ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1. สร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริหารทั้งจากส่วนกลาง และเขตพื้นที่การศึกษา ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนที่จะเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการสอบ PISA โดยเฉพาะเรื่องการคิดวิเคราะห์ 2. จัดหาข้อสอบ และสร้างคลังข้อสอบตามแนว PISA  3. สร้างบทอ่าน แบบฝึกหัด และบทเรียน เพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านการอ่าน 4. สร้างและใช้เครื่องมือมาตรฐาน เพื่อวัดความสามารถในการอ่าน และเขียนภาษาไทย เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่าน และความเข้าใจ 5. ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เรียนที่มีผลคะแนน PISA ต่ำได้พัฒนาตนเองให้มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น และ 6. สร้างความเข้มแข็งของระบบประเมินติดตามให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคะแนน  PISA ทั้งนี้แต่ละมาตรการได้มีการกำหนดกิจกรรมการดำเนินงานไว้แล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดตัวศูนย์ขับเคลื่อน PISA ซึ่งจะตั้งขึ้นภายในบริเวณ ศธ. จากนั้นจะมีการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจในเรื่อง PISA ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหาร ครู และผู้เรียน
          "การสอบ PISA ในปีค.ศ. 2015 จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำสอบ โดยจะให้ผู้เรียนสอบผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ให้แก่นักเรียนด้วย สำหรับเนื้อหาการสอบที่จะเน้นทักษะการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการนั้น หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องจะไปศึกษาว่า ข้อสอบลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร อีกทั้งสถานศึกษาใดที่นักเรียนมีคะแนนต่ำก็จะได้เตรียมพัฒนาทั้งครู และนักเรียน เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการสอบ PISA ในรอบต่อไปด้วย" ปลัด ศธ. กล่าว
          ดร.สุทธศรี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้นำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะเกษียณอายุราชการ ใน 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2557-2567) ว่า มีจำนวน 218,644 คน หรือร้อยละ 53.02 ของครู สพฐ. ทั้งหมด โดย สาขาสังคมศึกษา จะเกษียณฯมากสุดคือ 52,145 คน รองลงมา วิทยาศาสตร์  18,447 คน ภาษาไทย 15,947 คน การงานอาชีพ 12,667 คน ศิลปะ 8,941 คน ภาษาต่างประเทศ 7,947 คน และคณิตศาสตร์ 6,265 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางแผนและพัฒนานโยบายการผลิตครูในอนาคต.

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2557


กำชับเขตพื้นที่เร่งจ่ายเงินตามแผน สพฐ.

          นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2557 เพราะรัฐบาลได้กำหนดแผนการใช้จ่ายเงินในทุกหมวด ทั้งงบประมาณบุคลากร งบประมาณการลงทุน งบประมาณดำเนินงาน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเร่งให้มีการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายได้ตามแผนตามที่กำหนดไว้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบการหมุนเวียนของเงินทั้งประเทศ ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่กำหนดไว้ล่าช้าออกไป
          รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า แต่ขณะนี้สิ้นไตรมาสที่ 1 แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำชับไปยังผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยถ้าเป็นงบฯลงทุนหรืองบฯที่จะก่อหนี้ผูกพันทุกรายการ ขอให้เร่งดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 14 ก.พ. 57 สำหรับงบประมาณดำเนินการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เขตพื้นที่ฯ จัดทำแผนรายไตรมาส และให้ใช้จ่ายเงินให้ได้ตามไตรมาสที่กำหนด ส่วนกรณีที่เป็นงบฯ ดำเนินการอบรมข้าราชการ ต้องจัดให้เสร็จก่อนเปิดเทอม
          รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวต่อว่า รัฐบาลกำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นไตรมาสที่ 1 ต้องเบิกจ่ายได้ร้อยละ 31 ไตรมาสที่ 2 เบิกได้ร้อยละ 57 ไตรมาสที่ 3 เบิกได้ร้อยละ 80 ไตรมาสที่ 4 เบิกได้ร้อยละ 100
          รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่เป็นเงินเดือน งบฯบุคลากร และงบฯค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็ก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดสรรให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้า กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพราะถือเป็นงบประมาณที่ลงไปถึงเด็กโดยตรง อยากให้ทุกคนสบายใจได้ว่า เราไม่ได้บกพร่องเรื่องนี้ แม้จะมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นก็ตาม

          --ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2557

คุรุสภาจัดระดมสมองครูอาเซียน

          ศ.กิตติคุณ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า คุรุสภามีแผนจัดทำโครงการศึกษาวิชาชีพครูในอาเซียน ปี 2557 โดยจะเชิญผู้แทนครูของแต่ละประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนมาประชุมหารือทางวิชาการร่วมกัน เพื่อหาทางออกว่า วิชาชีพครูในอาเซียนมีปัญหาอะไร และควรมีมาตรฐานเป็นเช่นไร เพื่อให้นำ ผลที่ได้จากการหารือไปผลักดันวิชาชีพครูในประเทศของตนเองต่อไป อย่างไรก็ตามเท่าที่ได้ประมวลภาพครูในกลุ่มประเทศอาเซียนเบื้องต้นพบว่ามีปัญหาที่สำคัญคือ คนที่เข้ามาเป็นครูไม่ค่อยมีคนเก่ง ยกเว้นประเทศเดียวคือสิงคโปร์ ที่มีการคัดเลือกคนเก่งมาเป็นครู รวมถึงความก้าวหน้าของวิชาชีพครูในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ไม่ดึงดูดให้คนเข้ามาทำอาชีพครู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกย่อง หรือเงินค่าตอบแทนอยู่ใน ระดับปานกลาง ตลอดจนการพัฒนาวิชาชีพครูก็ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ และที่สำคัญรัฐบาลก็ไม่ค่อยให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง
          "เท่าที่ได้ศึกษาข้อมูลด้านวิชาชีพครูของประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือ รัฐบาลไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิชาชีพครูเท่าที่ควร เห็นได้จากงบประมาณที่ให้กับด้านการศึกษายังมีไม่มาก ค่าตอบแทนพิเศษของครูก็ไม่ได้รับ ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาทำกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้คนเรียนครูโดยให้ทุนการศึกษาแล้วยังรับประกันการมีงานทำ และให้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าด้วย แต่หลายประเทศก็ยังไม่ได้ทำ" ศ.กิตติคุณ ไพฑูรย์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยนั้น คุรุสภาอาจจะจัดประชุมวิชาชีพครูในประเทศก่อน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเสนอต่อที่ประชุมครูอาเซียน จากนั้นจะนำข้อสรุปที่ได้ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาวิชาชีพครูให้ได้มาตรฐานและเป็น ที่ยอมรับของสังคมต่อไป.

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: