วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

ประกาศสำนักงาน ก.ค.ศ. เรื่องการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน ก.ค.ศ.

 สำนักงาน ก.ค.ศ.ประกาศให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2553 ที่ครบวาระ ซึ่งตามมาตราที่ 7(5) กำหนดให้มีกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจากการเลือกตั้งจำนวน 12 คน ประกอบด้วย 

1. ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา จำนวน 1 คนและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 1 คน

2.ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษาตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 1 คน และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 1 คน

3.ผู้แทนข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 3 คน และในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 1 คน

4.ผู้แทนข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จำนวน 1 คน

5.ผู้แทนข้าราชการครูสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 1 คน

6. ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษา...สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพื้นที่การประถมศึกษา จำนวน 1 คน และในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 1 คน 

โดยมีปฏิทินในการดำเนินการ ดังนี้ 
- ประกาศการเลือกตั้งฯ วันที่ 13 มกราคม 2557 
- ประกาศรับสมัคร วันอังคารที่ 28 ถึงวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2557 
- วันเลือกตั้ง วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 
- ประกาศผลการเลือกตั้ง ภายในวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2557

ข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาที่สนใจ สามารถสมัครเข้ารับการเลือกตั้งได้ ณ สถานที่ส่วนราชการต้นสังกัดที่กำหนด 

นอกจากนี้ ได้เตรียมการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. ดังนี้ 

- จัดทำคู่มือดำเนินการเลือกตั้ง 
- จัดประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกตั้ง ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนราชการ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับสมัครการเลือกตั้ง การตรวจสอบคุณสมบัติ การประเมินผู้มีสิทธิ์เข้ารับการเลือกตั้งและการดำเนินการเลือกตั้ง และการรายงานผลการเลือกตั้ง 
- ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม 

ทั้งนี้ขอให้ผู้มีสิทธิ์ได้ไปเลือกตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่ ที่มีความเหมาะสม มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นตัวแทนในการบริหารงานบุคคล สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อไปด้วย 
                                                                       ที่มา : www.kroobannok.com


สวัสดีวัน 'ครู' หัวใจสำคัญส่งเสริมการศึกษา-พัฒนาชาติ

          "นักเรียนทำความเคารพ...สวัสดีครับวันครู" วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม หรือวันครูของทุกปีตามประกาศคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2500 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ นับได้ว่าเป็นอีกวันสำคัญที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาจะได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกับครูบาอาจารย์
          ตั้งแต่โบราณจะถือกันว่า "ครู" คือแม่พิมพ์แห่งชาติและเป็นผู้มีพระคุณลำดับที่สาม เพราะนอกจากพ่อแม่แล้ว ครูจะเป็นผู้แนะนำ ให้ความรู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา เพิ่มพูนสติปัญญา ใกล้ชิด และอบรมพฤติกรรมให้เด็กเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ผมจึงไม่พลาดที่จะนำเรื่อง "ครู" มาเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้  จำนวนนักเรียนในห้องเรียนสมัยตอนผมเป็นเด็กกับตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ทำให้ปัจจุบันการทำหน้าที่ของ "ครู" ต้องทุ่มเทหนักขึ้น โดยในรายงานของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านนโยบายการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ คือ สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนักเรียนในสังกัดกว่า 8.8 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลอัตรา "ครู" มี 3.96 แสนอัตรา
          แต่ตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนต่ออัตรากำลังครูที่กำหนดควรจะต้องอยู่ที่ 4.78 แสนอัตรา จึงถือได้ว่าประเทศไทยยังขาดแคลนครูเกือบแสนอัตรา และหากมองให้ลึกลงไปจะพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า "ครู" ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 60 โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 45 ปี ด้วยประสบการณ์สอนกว่า 22 ปี และครูมีรายได้เฉลี่ยราวๆ เดือนละ 15,218 บาท มีภาระงานในหนึ่งสัปดาห์เฉลี่ยที่ 27.3-30.1 ชั่วโมง
          จากที่ผมหยิบยกตัวเลขความต้องการครู และชั่วโมงการปฏิบัติหน้าที่มาเพื่อชี้ให้เห็นว่า คุณครูของเราจะต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ และจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างหนักเพื่อให้เยาวชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ  และเพื่ออบรมบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ก่อนที่เยาวชนเหล่านี้ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต
          ประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปีที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 11 ล้านล้านบาท แต่มีการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้จากทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น คิดเป็นเพียง 5% ของจีดีพีทั้งประเทศ โดยส่วนตัวผมมองว่ายังน้อยอยู่ ภาครัฐน่าจะมีการพิจารณาลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตใหม่และบรรจุครูให้สัมพันธ์กับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ขาดแคลน
          นอกจากนี้ ก็น่าจะเน้นพัฒนาครูแกนนำและเครือข่ายครู เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้พัฒนาการเรียนรู้ในโรงเรียนรูปแบบใหม่ สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม พร้อมพัฒนาวิชาชีพครูชั้นสูงๆ จำแนกตามอัตรากำลังบุคลากรในสถานศึกษา ตั้งแต่กลุ่มผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติการ และผู้สนับสนุนการสอน ทั้งด้านวิชาการและมาตรฐานแห่งจรรยาบรรณครูและส่งเสริมให้มีการยกย่องเชิดชูครูดีเด่นและครูผู้เสียสละ เพื่อให้ครูดีๆ ได้มีกำลังใจในการสร้างเยาวชนที่ดีและเก่งให้กับประเทศต่อไป       

 ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

สพฐ.ลุยโรงเรียนอัตราแข่งขันสูง
      
            นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ในส่วนของจำนวนการรับนักเรียนต่อห้องนั้นจะมีการประชุมผู้บริหารโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ซึ่งจะต้องรอฟังความเห็นจากโรงเรียนก่อน เพราะตนจะมอบให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาให้มากที่สุด สพฐ.จะให้เพียงกำหนดการรับสมัครที่เป็นภาพรวม เช่น วันที่รับสมัคร ประกาศผล วันสอบสัมภาษณ์ ส่วนรายละเอียดจำนวนรับหรือสัดส่วนต่างๆ จะต้องเป็นอำนาจของโรงเรียน เพราะโรงเรียนจะรู้สภาพดีที่สุด แต่ที่สำคัญ สพฐ.คงต้องเน้นย้ำเรื่องของการรักษาสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเท่าเทียม ส่วนประกาศ การรับนักเรียนที่ประกาศออกไปแล้วหากฟังความเห็นของสถานศึกษาแล้วจำเป็นต้องปรับก็สามารถปรับได้
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กที่จบ ม.3 เรียนต่อสายอาชีวศึกษานั้น โรงเรียนได้มีการแนะแนวการเรียนต่อนักเรียน ม.ต้น เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเรียนอาชีวศึกษาและสนับสนุนให้เด็กไปเรียนสายอาชีพ ประกอบกับการลงพื้นที่ก็ พบว่า สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีการเข้าไปตั้งโต๊ะรับสมัครนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของ สพฐ.มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งทราบว่ามีนักเรียนให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนจำนวนไม่น้อย ซึ่งตนอยากให้ สอศ.ออกมารับประกันว่าเด็กที่สนใจและสมัครเข้าเรียนกับ สอศ.แล้วจะได้เข้าเรียนอย่างแน่นอน
          “ผมลงพื้นที่มาได้ข้อเท็จจริงว่ามีเด็กสนใจเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น ต่อไปต้องอยู่ที่ สอศ.จะรับ ประกันได้หรือไม่ว่าเด็กเหล่านี้จะได้เข้าเรียน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่สนองนโยบายกระทรวง และเป็นนโยบายของประเทศ ที่จะต้องเร่งผลิตกำลังคนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 มิฉะนั้นจะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนสายอาชีพแทน ทั้งนี้ พื้นที่ที่เด็กให้ความสนใจเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคใต้นักเรียนนิยมเรียนสายอาชีพอยู่แล้ว” นายอภิชาติกล่าว.         


ที่มา: http://www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: