วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

ศธ.เดินหน้ายกระดับ Pisa ตั้งเป้าปี' 61 วางแผนขับเคลื่อนในวันที่ 22 ม.ค. นี้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรมว.กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ศธ.เตรียมเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Pisa (Programme for International Student Assessment of the OECD) หลังจาก ที่ผลประเมิน Pisa ปีล่าสุด (2012) นั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จากประเทศที่ร่วมโครงการทั้งหมด 65 ประเทศ คะแนนประเมินติดอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายทั้ง 3 วิชา ทำคะแนนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนานาประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า ผลสัมฤทธิ์การจัดการศึกษาของไทยยังไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาการคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับผลการประเมิน Pisa ศธ.จึงประกาศเป้าหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 มกราคมนี้ เพื่อให้การประเมินครั้งถัดไปในปี 2558 คะแนนทุกวิชาต้องเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และภายในปี 2561 หรือในการประเมิน Pisa ครั้งที่ 2 นับจากนี้ คะแนนสอบทั้ง 3 วิชาของประเทศไทย จะต้องเพิ่มขึ้นไปเป็น 500 คะแนน ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของนานาประเทศ
          รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ยังได้กล่าวด้วยว่า เป้าหมายดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายเบื้องต้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาในการทดสอบวัดผล โดยวิชาการอ่านซึ่งในการประเมินครั้งล่าสุด ประเทศไทยได้ 441 คะแนน ค่าเฉลี่ยของทุกประเทศ 496 คะแนนนั้น จะต้องเพิ่มขึ้นไปเป็น 470 คะแนน ในการประเมินปี 2558 และเพิ่มเป็น 500 คะแนน การประเมินปี 2561 วิชาคณิตศาสตร์ ประเทศไทยได้ 427 คะแนน ค่าเฉลี่ย 494 คะแนน จะต้องเพิ่มเป็น 460 คะแนน ในปี 2558 และ 500 คะแนน ในปี 2561 ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยได้ 444 คะแนน ค่าเฉลี่ย 501 คะแนน จะต้องเพิ่มเป็น 470 คะแนน ในปี 2558 และเพิ่มเป็น 500 คะแนนในปี 2561 นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้ ศธ.ยังได้ฝากคำถามให้ไปคิดมาด้วยว่า ภายในปี 2561 นั้น อันดับของประเทศไทยจะต้องหนีจากอันดับที่ 50 ในปัจจุบัน ขึ้นไปที่อันดับเท่าใด
          ทั้งนี้ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลทดสอบ Pisa โดยจะระดมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กทม. และเทศบาลมาร่วมเป็นกรรมการด้วยเพื่อมาดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานจะรับไปดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนให้คะแนน Pisa ของไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนยุทธศาตร์มาพอสมควรแล้ว เพียงแต่ตน ต้องการให้เรียงลำดับแผนงานต่างๆ ออกมาเป็นปฏิทินการดำเนินงาน หรือ Roadmap ให้ชัดเจน พร้อมกำหนดให้ชัดว่า แต่ละแผนงาน นั้น ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ เพราะ ศธ.ได้ของบประมาณ ปี 2557 ประมาณ 210 ล้านไว้แล้วเพื่อโครงการยกระดับผลการประเมิน Pisa แต่ยังไม่มีการลงรายละเอียดการใช้งบประมาณ อย่างไรก็ตาม ตนได้ มอบนโยบายให้คณะกรรมการฯ เร่งสรุปยุทธศาสตร์ให้เสร็จภายใน การประชุมครั้งที่ 2 เพื่อจะได้รีบนำไปขับเคลื่อน เนื่องจากเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ มีเด็กเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งนี้เมื่อมีการจัดทำยุทธศาสตร์เสร็จเรียบร้อยและกำหนดเป้าหมายชัดเจนแล้ว ศธ.จะจัดให้มีการแถลงข่าวให้ทราบโดยทั่วกัน
         
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

คัดเด็กปี 5 เข้าครูมืออาชีพ 57
          ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ตามที่มีนิสิตนักศึกษา สอบถามเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นจำนวนมากว่าจะมีโครงการครูมืออาชีพต่อไปหรือไม่นั้น ขอให้สบายใจได้แล้ว จะมีการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปแน่นอน เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ได้เห็นชอบหลักการให้ สกอ.ดำเนินโครงการผลิตครูมืออาชีพปี 2557 เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ให้ไปศึกษาข้อดีและข้อเสียของ โครงการฯ เพื่อนำมาปรับปรุง โดยมอบหมายให้ ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นประธาน เพื่อดูแนวทางการบริหารงานโครงการให้เดินหน้าทันปี 2557 นี้
          ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวว่า ตนได้ให้ คณะทำงานไปช่วยกันรวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการผลิตครูมืออาชีพแล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่า จะสรุปแนวทางของโครงการได้ เพราะมีข้อสรุปเบื้องต้นอยู่แล้ว และจะนำเสนอต่อนายจาตุรนต์อีกครั้ง สำหรับข้อเสนอการดำเนินการโครงการผลิตครูมืออาชีพเบื้องต้น จะคัดเลือกนิสิต นักศึกษาครูที่ศึกษาชั้นปีที่ 4 ในปีการศึกษา 2555 ซึ่งขณะนี้นิสิต นักศึกษา กลุ่มดังกล่าวกำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2556 โดยเป็นนิสิต นักศึกษาในสาขาวิชาเอกที่เป็นความต้องการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาอาชีวศึกษา (สอศ.) มีผลการเรียนอยู่ในระดับดี ส่วนวิธีการคัดเลือกอาจจะใช้วิธีการสอบคัดเลือก แต่ต้องหาคนกลางเข้ามาช่วยสอบ เพื่อความยุติธรรม.
         
 --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2557

ขยายผลโรงเรียนในพระราชดำริ
          นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า  ตนได้เฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านเก่า อ.นาทวี จ.สงขลา ซึ่งดำเนินการตามโครงการพระราชดำริ โดยโรงเรียนดังกล่าวไม่ได้เป็นโรงเรียนพระราชดำริโดยตรง แต่นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าฯ สงขลา ได้ขยายผลโครงการพระราชดำริ โดยการคัดเลือกโรงเรียน 25   โรง ในพื้นที่มาดำเนินการ และจัดงบประมาณสนับสนุนให้โรงเรียนละ 100,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 2.5 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริตามที่โรงเรียนมีความพร้อม อาทิ การเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ บางโรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพ หรือเน้นทางด้านการฝึกอาชีพให้เด็ก ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ เป็นต้น
          รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า การขยายผลโครงการพระราชดำริในครั้งนี้ เป็นกรณีพิเศษ เพราะโดยทั่วไปจังหวัดต่างๆ จะทำโครงการเฉพาะของโรงเรียนพระราชดำริโดยตรง แต่ ผู้ว่าฯ สงขลา เห็นว่าน่าจะดำเนินโครงการนี้ได้ จึงเลือกบางโครงการมาดำเนินการ ไม่ใช่ทำเต็มรูปแบบทั้งหมด ซึ่งแนวคิดนี้ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เห็นด้วยอย่างมาก และต้องการให้จังหวัดต่างๆ นำแนวคิดนี้ไปดำเนินการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งถ้าสามารถทำได้ก็จะเกิดโครงการพระราชดำริในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ
         

 --ข่าวสด ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2557

เปลี่ยนวิธีสอน-ย้ำนำร่องหลักสูตรใหม่ปี 57
          นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงกรณีสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เตรียมเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ได้วิจัยร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรมว.ศึกษาธิการ โดยสรุปว่า ยังไม่ควรเร่งนำหลักสูตรที่กำลังทำใหม่ไปใช้ในปีการศึกษา 2557 เพราะต้องใช้เวลาและควรหารือกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก่อน โดยเสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนครู ที่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้นก่อนว่า เห็นด้วยว่าควรปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของครู แต่ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนครูถือเป็นเรื่องยากที่สุด และที่สำคัญ คือ หน่วยงานที่ดูแลการพัฒนาครู อย่างสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ก็มีปัญหาอยู่ ฉะนั้น จึงต้องมองไปที่การปรับระบบการผลิตครูใหม่ แทนการปรับเปลี่ยนครูที่สอนอยู่ในเวลานี้
          "หลักสูตรผลิตครูในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่ต้องการครูที่สอนได้ทั่วไป เหมือนแพทย์จีพีที่ตรวจรักษาโรคทั่วไปได้ ขณะที่การผลิตครูปริญญาตรีกลับให้เลือกวิชาเอก ที่แยกเป็นเอกประถมฯ มัธยมฯ วัดผล หรือแนะแนว พอส่งลงสนามจริงๆ กลับสอนหนังสือไม่ได้ การเปลี่ยนการสอนด้วยระยะเวลาสั้นๆ คงทำไม่ได้ ทั้งนี้ได้เสนอสถาบันที่ผลิตครูไปแล้วว่า ควรผลิตครูทั่วไปในระดับปริญญาตรี และผลิตครูวิชาเอกปริญญาโท ซึ่งฝ่ายผลิตครูก็ไม่ได้ว่าอะไร โดยเร็วๆ นี้จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง" นายภาวิช กล่าว
          ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ส่วนการนำหลักสูตรใหม่ไปใช้นั้น เบื้องต้นเห็นร่วมกันว่า ควรนำไปใช้ในภาคเรียนที่ 1/2557 นี้ แต่จะใช้พร้อมกันทั้งประเทศ หรือใช้เฉพาะ ป.1, ป.4, ม.1 และ ม.4 ตลอดจนใช้ในช่วงชั้นที่ 1 และ 3 หรือใช้เฉพาะโรงเรียนนำร่องก่อน คงมีแนวทางที่ชัดเจนหลังจากประชุมกำหนดแผนปฏิบัติงานในวันที่ 31 ม.ค.นี้

         
                                                     ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod

ไม่มีความคิดเห็น: