วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

สพฐ.เรียกบัญชีว่าที่ ผอ.เลือกโรงเรียน


นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมการที่จะเรียกผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บริหารสถานศึกษา(ผอ.สถานศึกษา)ที่ขึ้นบัญชีไว้ทั้งหมดมา เพื่อเลือกโรงเรียนที่จะไปปฏิบัติงาน ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะดำเนินการในวันที่ 8 ก.พ. 2557 ตั้งแต่ เวลา 09.00 น. ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา โดยจะให้ผู้ที่ขึ้นบัญชีไว้ทั้งหมดกว่า600 คน ได้มาเลือกสถานศึกษาที่จะไปปฏิบัติงาน โดยจะเรียกเรียงตามลำดับบัญชี ครั้งละ 100 คน หากใครไม่เลือกสถานศึกษาที่จะไปปฏิบัติงานในครั้งนี้ก็จะว่าสละสิทธิ์
          เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า การเลือกโรงเรียนดัง กล่าวจะมีการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วย โดยจะตั้งจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่โชว์รายชื่อโรงเรียนที่ว่างทั้งหมดไว้ด้านนอก เมื่อ โรงเรียนใดที่ถูกเลือกไปแล้ว รายชื่อก็จะหายไปจากระบบ จะเหลือเฉพาะโรงเรียนที่ยังไม่ถูกเลือก เพื่ออำนวยความสะดวกและไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หลังจากที่ให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็น ผอ. สถานศึกษาเลือกโรงเรียนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่จนหมดบัญชีแล้ว จากนั้นประมาณ 15-30 วัน สพฐ. จะเรียก รอง ผอ.สถานศึกษาที่ขึ้นบัญชีมาเลือกสถานศึกษา โดยใช้วิธีเดียวกับ ผอ.สถานศึกษา ส่วนการเปิดสอบเพื่อขึ้นบัญชีใหม่นั้น ผมได้หารือกับ รมว.ศึกษาธิการ ว่า จะให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้จัดสอบ โดยต้องเสนอขอ ก.ค.ศ. ก่อน
          "เป็นครั้งแรกที่สพฐ.นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลือกโรงเรียน โดยก่อนจะให้มาเลือก สพฐ.จะนำรายชื่อโรงเรียนทั้งหมดมาขึ้นเว็บไซต์ของสำนักงาน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปดูก่อนว่าจะเลือกโรงเรียนใดบ้าง เพื่อจะได้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ทั้งนี้ ผมได้เตรียมการไว้ด้วยว่า ในกรณีการเลือกโรงเรียน หากครั้งนี้ไม่มีใครเลือกลงไปปฏิบัติหน้าที่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังว่างอยู่ประมาณ 80 อัตรา ผมจะเสนอขอ ก.ค.ศ.คัดเลือกคนที่อาสาไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อที่โรงเรียนจะได้มีผู้บริหารเสียที" นายอภิชาติ กล่าว.

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2557

ร่างเกณฑ์วิทยฐานะใหม่เน้นข้อตกลง
          นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแนวใหม่ ว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.กำลังพัฒนาหลักเกณฑ์ฯ โดยแบ่งเป็น 2 หลักเกณฑ์ ได้แก่ 1. หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะด้วยการประเมินสมรรถนะ (Theoretical PEdagogical knowledge) หรือTPK ใช้สำหรับสายงานสอนและสายงานนิเทศการศึกษา ที่ต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะทั้งด้านความรู้ ความสามารถเชิงทฤษฎีในกลุ่มการเรียนรู้ และด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพและประสบการณ์วิชาชีพ
          เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อไปว่า 2.หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะในรูปแบบข้อตกลง (Performance Agreemen) หรือ PA ใช้สำหรับสายงานบริหารสถานศึกษาและสายบริหารการศึกษาที่ต้องเสนอแนวทางการพัฒนางานในรูปแบบที่เป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมการปฏิบัติงาน และผลงานที่แสดงถึงการพัฒนางานในความรับผิดชอบ ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา การบริหารและจัดการศึกษา รวมทั้งนโยบายเร่งด่วนและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับคุณภาพผู้เรียน โดยต้องประเมินข้อตกลงทั้งด้านการประพฤติปฏิบัติตนและผลจากการปฏิบัติงาน
          "เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนส่วนราชการและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรนำกรอบแนวคิด TPK และ PA มาบูรณาการเป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน แต่ให้ใช้กรอบแนวคิดของ PA เป็นหลัก โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมินตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานวิทยฐานะและให้มีการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน ที่ผู้ขอรับการประเมินจะต้องผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐานก่อน ซึ่ง สำนักงาน ก.ค.ศ.จะนำความเห็นดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเฉพาะกิจฯ ภายในเดือนมกราคมนี้" เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว.

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: