วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

ศธ.เร่งจี้การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศให้ทุกแห่งยึดกรอบมาตรฐานสากล

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศธ.เป็นประธาน  ว่า รมว.ศธ.ได้ติดตามความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเรียนรู้ โดยเฉพาะในด้านภาษาต่างประเทศ หลังจากได้ลงนามในประกาศ ศธ.เรื่องนโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่าน ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำเสนอความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ว่า ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพปัญหาและแนวทางพัฒนาการเรียนการสอน ประชุมกำหนดร่างประกาศ รวมถึงประชุมเพื่อพิจารณาร่างแนวปฏิบัติตาม ก่อนออกประกาศ สพฐ.พร้อมจัดพิมพ์แนวปฏิบัติเผยแพร่ แก่สถานศึกษา และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย สพฐ.จะประเมินความพร้อมของสถานศึกษาในสังกัด เพื่อเลือกรูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับระดับความพร้อมของสถานศึกษา และเตรียมจัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น เพื่อพัฒนาภาษาของนักเรียน ในช่วงปิดภาคเรียน แบ่งเป็นระดับ ป.3 จำนวน 10 ค่าย ป.4-ป.5 จำนวน 183 ค่าย ม.3 จำนวน 76 ค่าย และ ม.3 กลุ่ม รร.ขยายโอกาส 72 ค่าย
          ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ สพฐ.ยังจัดทำกรอบมาตรฐานความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่เป็นสากล หรือ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) เพื่อนำมาใช้เป็นเกณฑ์สำหรับจัดการเรียนการสอน โดยครูผู้สอนจะถูกประเมินความสามารถด้านการใช้ภาษาตามกรอบ CEFR โดยสถานศึกษาจะต้องปรับการเรียนการสอนใหม่ให้เป็นแบบธรรมชาติ หรือ Communicative Languages Teaching (CLT) ซึ่งเริ่มจากการฟัง พูด อ่าน และเขียน นอกจากนี้ สพฐ.ยังรายงานถึงมาตรการในการส่งเสริมการยกระดับความสามารถของการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งการขยายโครงการพิเศษ ได้แก่ English Program (EP) Mini EP International Program (IP) English Bilingual Education (EBE) และ English for Integrated Studies (EIS) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาห้องเรียนพิเศษ รวมถึงเน้นจัดการเรียนการสอนสนทนาภาษาอังกฤษแบบทั่วไปและแบบเข้มข้น  นอกจากนี้ ตน ยังได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กลับไปศึกษาว่าควรจัดทำประกาศภาษาอังกฤษ เช่น การเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ หรือทำเป็นแนวปฏิบัติหรือไม่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น ทั้งการสื่อสารและการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐาน

                                                                          ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ศธ.ดิ้นเปิดทางคนเก่งเป็นครู หวังแก้ปัญหาขาดแคลนครู


          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้รับรายงานการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.กับคุรุสภาเกี่ยวกับประกาศคุรุสภาเรื่องการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2557 ซึ่งมีหลายประเด็นปัญหา โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนครูในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่เป็นปัญหามาก เพราะครูที่ผลิตจากระบบโดยตรงไม่มีความรู้ความสามารถที่จะสอนสายอาชีพได้ ส่วนคนที่มีความรู้สามารถและมีประสบการณ์แต่ไม่จบสายครู ก็ต้องมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ ทำให้หลายคนไม่สนใจเข้ามาเป็นครูอย่างถาวร ส่งผลให้ขาดแคลนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามตนได้ให้องค์กรหลักไปรวบรวมปัญหาทั้งหมดมาดูว่าจะแก้ไขหลักเกณฑ์ได้อย่างไรบ้าง และดูสาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนครู โดยเชื่อมโยงกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนของประเทศเพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ชัดเจน
          "ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของประเทศถ้าทำกันจริงคงไม่กระทบต่อวิชาชีพครู เพราะโดยระบบผลิตปัจจุบันไม่สามารถผลิต ครูมาสอนอาชีวศึกษาได้ ดังนั้นการจะเอาคนสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาสอนก็จะไม่กระทบกับคนที่เรียนครูอยู่แล้ว ซึ่งผมจะทำหนังสือรวบรวมปัญหาในภาพรวมของ ศธ.ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนอย่างเป็นทางการเพื่อนำเสนอให้คุรุสภาพิจารณา แต่ถ้ายังไม่ครอบคลุมทุกประเด็นจะให้มีการหารือนอกรอบกับประธานกรรมการคุรุสภาอีก" นายจาตุรนต์ กล่าว.


          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2557 


สรุปตัวบ่งชี้ประเมินภายนอกรอบสี่ ใช้แน่แล้วโอเน็ต-วีเน็ต-ยูเน็ต


          ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนัก งานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมศ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงการกำหนดตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (ปี 2559-2563) ว่า ควรนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต รวมทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา หรือวีเน็ต และการทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือยูเน็ต มาเป็นตัวบ่งชี้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงว่าควรนำมาใช้ แม้จะมีกระแสวิจารณ์ว่า โอเน็ตไม่ได้สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของนักเรียนและข้อสอบยังไม่ได้มาตรฐาน แต่ที่ประชุมเห็นว่าข้อสอบสามารถพัฒนาได้ และ สทศ.ก็รับที่จะไปพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานการจัดทดสอบต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ส่วนจะใช้คะแนนใดสัดส่วนเท่าใดนั้นต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะการดูคุณภาพของศิษย์จะดูเฉพาะการสอบอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูองค์รวมทั้งสุขภาพกาย จิตใจ และสติปัญญาด้วย
          ผอ.สมศ. กล่าวว่า เราคงปฏิเสธคะแนนเหล่านี้ไม่ได้ เพราะ สทศ.เป็นหน่วยงานกลางที่จัดทำข้อสอบ จึงทำให้คะแนนที่ออกมามีความเที่ยงธรรม แม้มาตรฐานข้อสอบจะถูกตั้งคำถาม แต่ข้อสอบก็เป็นฉบับเดียวกันทั้งประเทศ ถ้าจะเบี้ยวก็เบี้ยวเหมือนกันหมด แต่ก็ยังทำให้เรารู้คะแนนในภาพรวมได้ ส่วนที่ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ลงจาก 8 กลุ่ม เหลือ 6 กลุ่ม ซึ่ง สทศ.ก็จะจัดสอบให้เหลือ 6 วิชา และในอนาคต สมศ.ก็จะปรับเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการปรับหลักสูตรด้วย แต่สำหรับการประเมินรอบสี่ยังคงเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์
          "สำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนจะใช้ผลวีเน็ต ผลการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพหรือวีคิว และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ หรือ วีคิวเอฟ โดยนำคะแนนแต่ละส่วนมาเป็นตัวบ่งชี้ แต่ต้องหารืออีกครั้งว่าจะใช้แต่ละส่วนในสัดส่วนเท่าใด ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาจะใช้ผลยูเน็ตเป็นตัวบ่งชี้ ส่วนกลุ่มโรงเรียนนานาชาติจะเป็นครั้งแรกที่ สมศ.จะนำผลการสอบวัดความเป็นไทย หรือไทยเนส มาเป็นตัวบ่งชี้ในการประเมิน ซึ่งจะวัดเรื่องภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย เพราะที่ผ่านมาจะไม่มีการประเมินเรื่องเหล่านี้ โดย สทศ.จะเป็นผู้จัดสอบให้ แต่ทางสถานศึกษาหรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดสอบ" ผอ.สมศ.กล่าว.


          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: