วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

สพฐ.รณรงค์พัฒนาคุณภาพพิซ่าเร่งยกระดับแก้จุดอ่อน - กระตุ้นเสนอยุทธศาสตร์

นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมจัดประชุมใหญ่รณรงค์สร้างความตระหนักให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง มีความเข้าใจเรื่องการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน เพื่อยกระดับโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือพิซ่า (PISA) ให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพิซ่า คือ การทำให้สังคมตระหนักว่าการวัดผลพิซ่าคืออะไร เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร โดยสพฐ.เตรียมจัดรณรงค์ ครั้งใหญ่ 3 รุ่น คือรุ่นที่ 1 จัดในวันที่ 25 มี.ค. รุ่นที่ 2 ในวันที่ 26 มี.ค. และรุ่นที่ 3 ในวันที่ 27 มี.ค. ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีผู้เข้าร่วม 400 คน จาก 4 ภูมิภาค โดยจะเชิญนายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน การจัดครั้งนี้จะเชิญผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียนท้องถิ่น กทม. อาจารย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง
          รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญของการจัดรณรงค์ คือ 
1.จะแจ้งให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของพิซ่า 
2.ผลการประเมินโครงการพิซ่าที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อจะทำให้รู้ว่ากระบวนการเรียนการสอน วิธีการและเครื่องมือที่ใช้วัดผลประเมินการเรียนรู้ของเด็กไทยยังมีจุดอ่อน และเพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยมีคะแนนพิซ่าที่ต่ำอยู่
3.การเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาพิซ่า
          "งานนี้เป็นงานใหญ่ เหมือนเราเตรียมจัดโอลิมปิกอีก เพราะเรามีเวลาเตรียมตัวเพียง 3 ปี จึงต้องเรียกทุกหน่วยงานมาประชุมว่าจะเดินไปทางไหน เพื่อให้สำเร็จในการแก้ปัญหาและการยกระดับคุณภาพผู้เรียน" รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าว
         

 --ข่าวสด ฉบับวันที่ 13 มี.ค. 2557

ทดลองใช้ข้อสอบชิงทุนอำเภอ แจงรุ่น4 รอบ3 ไม่เน้นเก่งมาก
          ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการรับสมัครสอบคัดเลือกเข้าโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 รอบ 3 เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ ที่ยังมีทุนเหลืออยู่จำนวน  1,619 ทุน ซึ่ง ศธ.ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมาและจะรับสมัครถึงวันที่ 11 เมษายน  2557 และกำหนดสอบในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 โดยหลังจากที่เปิดรับสมัครไปกว่า 1 สัปดาห์ มีนักเรียนยื่นใบสมัครแล้วหลายร้อยคน และคาดว่าจะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะยังเหลือเวลารับสมัครอีกเกือบหนึ่งเดือน
          ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดสอบนั้น มอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกข้อสอบ และจะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ดำเนินการจัดสอบและกำหนดสถานที่สอบ โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นว่า เพื่อให้ข้อสอบได้มาตรฐานและไม่ยากเกินไป จะให้มีการทดลองทำข้อสอบก่อน ว่านักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 3.00 จะว่าข้อสอบยากเกินไปหรือไม่ เพราะหากเด็กไม่สามารถทำข้อสอบได้ ก็จะทำให้มีผู้ผ่านการคัดเลือกน้อยตามหลักเกณฑ์ที่ต้องได้คะแนน 70% อีก ทั้งนี้การคัดเลือกนักเรียนที่รับทุนนี้จะเน้นการให้โอกาสเป็นสิ่งแรก ไม่จำเป็นต้องคัดเด็กที่เก่งมาก ๆ แค่ขอให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียนจบได้ ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับทุนสามารถดาวน์โหลดเอกสารใบสมัครและดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ 
www.odos.moe.go.th โดยยื่นใบสมัครทางไปรษณีย์ หรือ สมัครด้วยตนเอง ณ สพม.ที่รับผิดชอบในจังหวัดนั้น ๆ.
                                                                 --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 มี.ค. 2557 

ศธ.ไฟเขียวโครงการผลิตครูมืออาชีพ 57 เปิดทางเด็กปี5ทุกสถาบันชิงตำแหน่ง 1ต.ค.นี้บรรจุเป็นขรก.ครู1,140อัตรา
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูมืออาชีพ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานโครงการผลิตครูมืออาชีพ ปี 2557 ต่อสำหรับกลุ่มนักศึกษาครูชั้นปีที่ 3 ปีที่ 4 และปีที่  5 โดยในส่วนของนักศึกษาปี 5 ที่กำลังจบการศึกษาในปีการศึกษา 2556 นี้ จะรับเข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 5 จำนวน 1,140 อัตรา เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 แต่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกแข่งขันร่วมกับผู้ที่จบการศึกษาในปีก่อน ๆ ที่จะเปิดโอกาสให้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ อาทิ มีผลการเรียนเฉลี่ย หรือ จีพีเอเอ็กซ์ ไม่น้อยกว่า 3.00 เรียนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน เป็นต้น และหลังจากสอบคัดเลือกได้แล้วผู้ผ่านการคัดเลือกต้องเข้ารับการอบรมและพัฒนาต่อไป ส่วนนักศึกษาครูที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 นั้น ขั้นตอนการดำเนินการจะมีการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตก่อน จากนั้นจึงจะคัดเลือกนิสิต นักศึกษาครู เข้าร่วมโครงการ
          รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ จำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการแต่ละปี จะพิจารณาพร้อมกับอัตราที่สามารถบรรจุได้ เช่น ในปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอัตราที่สามารถบรรจุได้ 1,000 อัตรา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 140 อัตรา จึงทำให้มีอัตราบรรจุได้ 1,140 อัตรา ส่วนสาขาวิชาใดที่จะได้รับการบรรจุจะมีการกำหนดอีกครั้ง เนื่องจาก สพฐ.ต้องไปสำรวจความต้องการการบรรจุในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ซึ่งเท่าที่ทราบ ขณะนี้วิชาคณิตศาสตร์ยังขาดอัตราครูอยู่จำนวนมาก เนื่องจากเกิดปัญหาจากตัวป้อนเด็กที่เรียนสาขานี้มีน้อย อย่างไรก็ตามการคัดเลือกนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมโครงการยังยืนหลักการเดิม คือ การใช้ภูมิลำเนาของนิสิต นักศึกษา ในการบรรจุเข้ารับราชการครูในภูมิลำเนา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายของครูในอนาคต
          "การขาดแคลนครูในบางสาขาวิชานั้น เราต้องแก้นโยบายตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษา โดยต้องทำให้เด็กเข้าใจ รัก และอยากเรียนในสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น มิฉะนั้นตัวป้อนในสาขาวิชาดังกล่าวจะขาดแคลนอย่างมาก และเกิดปัญหาได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นตัวกระตุ้นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีแรงจูงใจมาเรียนครู" นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวมีแนวโน้มที่การคัดเลือกข้าราชการครูในสังกัด สพฐ.จะเป็น การคัดเลือกแบบระบบปิด คือ จะเป็นการคัดเลือกตั้งแต่เข้าเรียนระดับปริญญาตรี มีกระบวนการบ่มเพาะนักศึกษาเหล่านี้เป็นพิเศษ เพื่อให้มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างสมบูรณ์ และได้รับการบรรจุเมื่อเรียนจบการศึกษา.
                                                                  --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 มี.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: