วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

สพฐ.ประเมินภูมิรู้ครูสอนอังกฤษ

ดร.กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแนวปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างแนวปฏิบัติที่ สพฐ.ได้ยกร่างไว้ ซึ่งหลังจากนี้จะขับเคลื่อนการดำเนินงานในเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา โดยพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและการทดสอบให้เป็นไปตามกรอบอ้างอิงทางภาษาของสหภาพยุโรป หรือ ซีอีเอฟอาร์ (CEFR) มีการจัดกระบวนการเรียนตามธรรมชาติของมนุษย์ คือ เรียนจากการใช้ภาษาและเรียนเพื่อ ใช้ภาษาเรียงลำดับจากการฟัง พูด อ่าน เขียนและเน้นการใช้ โดยทั้งเขตพื้นที่ฯและโรงเรียน ต้องไปทำแผนปฏิบัติงานของตนเองที่เป็น รูปธรรม
          รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ซีอีเอฟอาร์ ได้จำแนก ผู้เรียนออกเป็น 3 กลุ่ม 6 ระดับความสามารถ ดังนี้ ระดับ เอ 1 สามารถใช้และเข้าใจประโยคง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ระดับ เอ 2 สามารถ ใช้และเข้าใจประโยคในชีวิตประจำวันในระดับกลาง ระดับ บี 1 สามารถพูด เขียน และจับใจความสำคัญของข้อความทั่ว ๆ ไปได้ จัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางในประเทศ ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ ระดับบี 2 สามารถใช้ภาษาในระดับดี พูดและเขียนได้แทบทุกเรื่องอย่างถูกต้อง คล่องแคล่วขึ้น รวมทั้งอ่าน และทำความเข้าใจกับบทความที่มีเนื้อหายากขึ้นได้ ระดับ ซี 1 สามารถพูดแสดงความรู้สึกได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องหยุดคิดหา คำศัพท์ เขียนข้อความที่ซับซ้อนได้ชัดเจนถูกต้องตามโครงสร้างไวยากรณ์ และระดับ ซี 2 สามารถใช้ภาษาได้อย่างดีเยี่ยมใกล้เคียงเจ้าของภาษา โดย สพฐ.กำหนดว่าจบ ป.6 ต้องมีความสามารถ ระดับ เอ 1 ม.3 มีความสามารถระดับเอ 2 และ ม.6 มีความสามารถระดับ บี 1
          "ในปลายเดือนมีนาคมนี้ สพฐ.จะสำรวจความพร้อมในการจัดการเรียนภาษาอังกฤษของโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศเพื่อแบ่งกลุ่มพัฒนาและเลือกแนวทางในการจัดการเรียนการสอน แบ่งเป็นโรงเรียนที่พร้อมน้อย พร้อมปานกลาง และพร้อมสูง นอกจากนี้ในเดือนเมษายนนี้ จะประเมินครูผู้สอนภาษาอังกฤษทุกคนเพื่อพัฒนาให้ถึงเกณฑ์มาตรฐานของซีอีเอฟอาร์ภายในปี 2561 โดยครูผู้สอนภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาต้องมีความสามารถระดับบี 1 ส่วนครูผู้สอนชั้นมัธยมศึกษาต้องมีความสามารถระดับบี 2" ดร.กมล กล่าวและว่า ในช่วงปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ สพฐ.จะจัดค่ายภาษาอังกฤษสำหรับเด็กประถมศึกษาเกือบทุกอำเภอรวม 800 ค่าย และจัดค่ายอบรมครูภาษาอังกฤษ 6 ค่าย และในปีการศึกษา 2557 นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษครั้งใหญ่.


        
  --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 11 มี.ค. 2557 


สพฐ.จัดโฟกัสกรุ๊ปหลักสูตรใหม่ 24 มี.ค.


          นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ความคืบหน้าในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับใหม่ ใช้แทนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์  ประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ยกร่างขึ้นเสร็จเรียบร้อย จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักสูตรของ สพฐ.ในวันที่ 21 มีนาคม จากนั้นจะต้องนำมารับฟังความคิดเห็นอีกรอบ หรืออาจจะใช้วิธีรับฟังความเห็นก่อนจะประชุมคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร เมื่อได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้วจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาหลักสูตรของ กพฐ.
          ด้าน ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าวว่า วันที่ 24 มีนาคมนี้ คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ จะร่วมกับ สพฐ.จัดโฟกัสกรุ๊ปครั้งใหญ่อีกรอบ เชิญผู้เกี่ยวข้องประมาณ 150 คน อาทิ คณบดีคณะครุศาสตร์-คณะศึกษาศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ผู้บริหารการศึกษา และสมาคมด้านหลักสูตร มาร่วมวิจารณ์หลักสูตรใหม่ เมื่อเสนอร่างหลักสูตรเข้าสู่การพิจารณาของ กพฐ.แล้ว กพฐ.จะต้องตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ทราบว่า กพฐ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการรองรับไว้แล้ว โดยมอบให้ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นประธาน
          "เมื่อ กพฐ.ผ่านร่างหลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2557 จะมีการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรใหม่ในโรงเรียนหลัก 1,000 โรงก่อน ซึ่งจะเป็นโอกาสได้เก็บข้อมูลมาพัฒนาหลักสูตรอีกครั้งก่อนมีการประกาศใช้จริง จากการทำโฟกัสกรุ๊ปในหลายๆ กลุ่มพบว่า ร่างหลักสูตรใหม่นี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หลายฝ่ายพูดว่าเป็นหลักสูตรที่อยากเห็นมานานแล้ว ทั้งนี้ ร่างหลักสูตรใหม่จะมี 6 กลุ่มการเรียนรู้ โดยในระดับประถมศึกษาจะเน้นการเรียนแบบบูรณาการและไปแตกวิชาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย"
          

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เรียนฟรีนวัตกรรมการเกษตรจบทำงานที่ซีพี


          สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เดินหน้าผลิตบัณฑิตด้านนวัตกรรมการจัดการเกษตร โดยให้ทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร จบแล้วต้องทำงานในเครือซีพี อย่างน้อย 2 ปี
          อาจารย์นิวัฒน์ ไม้แก่นสาร รองคณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า ปีการศึกษาที่ผ่านมา เป็นปีแรกที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้เปิดคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรขึ้นมาในระดับปริญญาตรี เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมานักศึกษาที่จบจากคณะเกษตร ส่วนใหญ่จะมีความรู้ความสามารถในด้านการส่งเสริมการเกษตรเป็นหลัก ในความเป็นจริงในยุคนี้แล้วนักศึกษาที่จบระดับปริญญาตรี ควรจะมีความรู้ในการบริหารด้านนวัตกรรมการเกษตรด้วย สถาบันจึงเปิดคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรขึ้นมา มีเป้าที่จะรับนักศึกษาปีแรก 50 คน แต่มีนักศึกษามาเรียนทั้งหมด 40 คนเป็นนักศึกษาที่รับทุนเรียนฟรี 100%
          "ทุนทั้งหมดที่เราให้นักศึกษาเป็นทุนจากบริษัทซีพี ออลล์ (มหาชน) จำกัด ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น จำนวน 15 ทุน ของซีพี กรุ๊ป 15 ทุน และกลุ่มมิตรผล 10 ทุน รวมทั้งหมดให้ทุนรายละ 2.7 แสนบาท ตลอดหลักสูตร ส่วนการเรียนการสอนจะเน้นให้เด็กมีประสบการณ์จริง ปีแรกนักศึกษาต้องฝึกงานในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 1 เทอม ปีที่สองต้องฝึกในกลุ่มพืชของซีพี พอปีที่สามเน้นฝึกงานด้านการแปรรูป พอปีสุดท้ายฝึกอีก 9 เดือน รวมแล้วเวลาฝึก 1 ปีกับ 5 เดือน เมื่อจบแล้วต้องทำงานในบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อย่างน้อย 2 ปี โดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนเหมือนพนักงานคนอื่น ปีการศึกษาต่อไปก็รับ 50 คนเน้นผู้ที่เกรด 3 ขึ้นไป" อาจารย์นิวัฒน์ กล่าว
          ด้าน สุปิยะ ตันศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ซีพีออลล์ ให้ทุนแบบ 100% ให้นักศึกษา สาขาวิชาการจัดการค้าปลีก คณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์อยู่แล้ว โดยนักศึกษาที่จบต้องมาทำงานเป็นรองผู้จัดการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 6 เดือนก่อนที่จะขึ้นเป็น ตำแหน่งผู้จัดการต่อไปอย่างเป็นเวลา 2 ปี โดยได้รับเงินเดือนบวกค่าตำแหน่งเหมือนพนักงานรายอื่นทุกประการ


       
   ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: