วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กคศ.เลิกข้อสอบ 'ภาค ข' ส่อทุจริตจัดสอบใหม่ 3 กค.เพื่อโปร่งใส

นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) เปิดเผยภายหลังประชุม กคศ.ซึ่งมี นางผานิตย์ มีสุนทร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็น ประธาน ว่า ที่ประชุมได้ พิจารณากรณี กลุ่มผู้เข้าสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้องเรียนว่า การสอบคัดเลือก ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่ฯ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ข้อสอบภาค ข วิชาความรู้ ความสามารถด้านการวิเคราะห์กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้ของกลุ่มทั่วไป มีข้อสอบซ้ำกับข้อสอบภาค ก วิชาความรู้ความสามารถด้านการบริหารงานในหน้าที่ของกลุ่มประสบการณ์ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า ข้อสอบซ้ำกันจริง เป็นเหตุให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบและเกิดความไม่เป็นธรรม
          ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส และเป็นธรรมในกระบวนการสรรหา จึงมีมติให้ยับยั้งการตรวจข้อสอบและการประกาศผลสอบ ภาค ข ซึ่งเดิมจะประกาศผลวันที่ 25 มิถุนายน นอกจากนี้ให้ยกเลิกการสอบภาค ข ของกลุ่มทั่วไปที่จัดสอบวันที่ 21 มิถุนายน ในช่วงบ่าย ทั้งของเขตพื้นที่การ ศึกษาทั่วไป และเขตพื้นที่การศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจฯ โดยให้ดำเนินการ จัดสอบภาค ข ของกลุ่มทั่วไปใหม่ใน วันที่ 3 กรกฎาคม และจะประกาศผลสอบ ภาค ข ในวันที่ 4 กรกฎาคม สำหรับ ผู้สมัครคัดเลือกในกลุ่มทั่วไปที่จะต้องสอบภาค ข ใหม่ มีทั้งสิ้น 888 คน ได้แก่ ผู้สมัครคัดเลือกในกลุ่มปกติ แบ่งเป็น สพป. 690 คน สพม. 177 คน ส่วนผู้สมัครคัดเลือกในกลุ่มเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วย สพป. 21 คน
       
   ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


วัดระดับความรู้นักเรียนจากการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ
          
สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา รายงานสำรวจผลวัดระดับความรู้ของนักเรียนจากการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติของนักเรียนโดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,088 คน ร้อยละ 50.83 เป็นเพศหญิงส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศชายร้อยละ 49.17
          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.41 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 16 ถึง 18 ปี และกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า ร้อยละ 33.64
          เมื่อสอบถามถึงการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 92.28 รู้จักการสอบ O-Net มากที่สุด รองลงมาร้อยละ 90.63 รู้จักการสอบ GAT/PAT
          กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ ร้อยละ 52.48 เคยเข้าสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติมาแล้ว 2 ประเภท ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.09 เคยเข้าสอบมาแล้ว 1 ประเภท
          ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.12 "ทราบ"ถึงวัตถุประสงค์ของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติที่ตนเองเคยเข้าสอบ แต่อย่างไรก็ดีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือร้อยละ 38.88 ยอมรับว่า"ไม่ทราบ"
          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบสองในสามหรือร้อยละ 65.17 ทราบว่าสายการศึกษาที่ตนเองกำลัง/เคยศึกษาต้องเข้าสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติเป็นประเภทใดบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.83 "ไม่ทราบ" ในประเด็นดังกล่าว
          ในด้านประสบการณ์การเข้าสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 36.21 ระบุว่าจากประสบการณ์ที่เคยเข้าสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติตนเองนั้นพบว่ามีเนื้อหาข้อสอบน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่มีความสอดคล้องกับเนื้อหาบทเรียนที่ได้เรียนมา รองลงมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.8 ระบุว่า มีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาบทเรียนที่เรียนมาประมาณครึ่งหนึ่ง
          สำหรับความคิดเห็นต่อการทดสอบทางการศึกษารดับชาตินั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.71 และร้อยละ 47.7 มีความคิดเห็นว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติจะมีส่วนช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้และเพิ่มศักยภาพให้กับนักเรียนนักศึกษาไทยได้ตามลำดับ
          ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือร้อยละ 36.31 และร้อยละ  36.58 คิดว่าไม่มีส่วนช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้และศักยภาพให้นักเรียนนักศึกษาไทยได้ตามลำดับ
          กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 49.08 มีความคิดเห็นว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติมีความจำเป็นแค่บางประเภท ส่วนกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในสี่หรือร้อยละ 22.98 คิดว่ามีความจำเป็นทุกประเภท ถัดมากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.08 ระบุว่าไม่มีความจำเป็นทุกประเภท ถัดมากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.08 ระบุว่าไม่มีความจำเป็นเลย
          ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 54.32 มีความคิดเห็นว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติจะไม่ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีความสนใจ/ตื่นตัวในการเรียนในชั้รเรียนมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.62 และร้อยละ 46.69 ยอมรับการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีความเครียดและมีภาระค่าใช้จ่ายทางหารศึกษามากขึ้นตามลำดับ
          สำหรับความคิดเห็นต่อการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.31 มีความคิดเห็นว่าการจัดการทดสอบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปไม่มีความจำเป็น
          สิ่งสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าต้องคำนึงถึงในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาสูงสุด 3 อันดับได้แก่ เนื้อหาบทเรียน คิดเป็นร้อยละ 81.71 วิธีการจัดการเรียนการสอนคิดเป็นร้อยละ 79.23 และคุณภาพ/วิธีการสอนของครูอาจารย์ คิดเป็นร้อยละ 76.38 A*
          "กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 48.62 และร้อยละ 46.69 ยอมรับว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีความเครียดและมีภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษามากขึ้น"
         

 ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: