วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ยอดสมัครคัดผู้อำนวยการ สพท.กว่าพันราย

นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีตำแหน่งว่าง 50 ตำแหน่ง และมีผู้มีคุณสมบัติที่สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ถึง 1,700 ราย โดย ก.ค.ศ.กำหนดให้มีการรับสมัคระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2557 นั้น 

ปราฏว่ามีผู้สมัครในกลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์ รวม 1,109 ราย ประกอบด้วย ผู้สมัครคัดเลือกในกลุ่มปกติ แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 838 ราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 234 ราย ส่วนผู้สมัครคัดเลือกในกลุ่มเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น สพป. 33 ราย และสพม. 4 ราย

สำหรับกลุ่มทั่วไป จะมีการจัดสอบในวันที่ 21 มิถุนายน 2557 ที่โรงเรียนหอวัง กทม. โดยภาคเช้าเป็นการสอบภาค ก (ความรู้ความสามารถด้านการบริหารงานในหน้าที่) และภาคบ่ายเป็นการสอบภาค ข (ความรู้ความสามารถด้านการวิเคราะห์กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้) ซึ่งผู้ที่ผ่านภาค ก และ ข ที่ได้คะแนนในแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จะมีสิทธิ์สอบภาค ค (ประเมินสมรรถนะทางการบริหาร) ในวันที่ 6-7 กรกฎาคม 

ส่วนกลุ่มประสบการณ์ จะมีการสอบภาค ก ในวันที่ 21 มิถุนายน ที่โรงเรียนหอวัง กทม. เช่นเดียวกัน แต่จะมีการประเมินภาค ข ในวันที่ 2-7 กรกฏาคม โดยจะมีการประกาศผลการคัดเลือกทั้งสองกลุ่ม ภายในวันที่ 15 กรกฏาคม ที่สำนักงาน ก.ค.ศ. และทางเว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. www.otepc.go.th

นสพ.มติชน


อนุโลม 4 สถาบันฝึกสอนโรงเรียนตกประเมิน 

          ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี เสนอให้คุรุสภาอนุโลมให้นักศึกษา จากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) พระนครศรีอยุธยา  มรภ.นครปฐม มรภ.กาญจนบุรี และ มรภ.เพชรบุรี ที่เข้าร่วมโครงการกองทุนการศึกษา ของสำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี สามารถไปฝึกสอนในโรงเรียนที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ โดยไม่ถือว่าผิดหลักเกณฑ์การฝึกปฏิบัติการสอนของคุรุสภา จากที่คุรุสภากำหนดว่ามหาวิทยาลัยจะต้องส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่ได้รับการรับรองจาก สมศ. เท่านั้น
          ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนที่อยู่ในโครงการดังกล่าวมี  63 โรง ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการรับรองจาก สมศ. แต่ขอย้ำว่าการอนุโลมครั้งนี้เป็นการเฉพาะสำหรับนักศึกษาที่อยู่ในโครงการนี้เท่านั้น และเพื่อให้การฝึกปฏิบัติการสอนมีคุณภาพ ที่ประชุมได้ให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ของสถาบัน 4 แห่ง ไปวางแนวทางการฝึกสอน และแผนการ นิเทศก์งานร่วมกับโรงเรียน แล้วเสนอมาให้คุรุสภาพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่าการฝึกปฏิบัติการสอนของนิสิต นักศึกษา จะมีปัญหาว่าที่โรงเรียน สมศ.รับรองส่วนใหญ่จะอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยมาก จึงทำให้นิสิต นักศึกษา ไม่สะดวกในการเดินทางมาฝึกสอนและไม่สะดวกในการนิเทศก์งานของอาจารย์ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมี มติให้สภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ไปช่วยทบทวนหลักเกณฑ์ แนวทางการฝึกปฏิบัติงานของนิสิต นักศึกษา ทั้งปริญญาตรี โทและเอก เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสอดคล้องกับระเบียบการฝึกสอนของคุรุสภา
          "การให้ ส.ค.ศ.ท. ช่วยดูเรื่องการฝึกปฏิบัติการสอนของผู้ที่เข้ามาเรียนสายวิชาชีพครูระดับปริญญาโท และเอกด้วย ก็เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีจากสาขาอื่นมาเรียนปริญญาโท และเอกในสายการศึกษามากขึ้น ซึ่งหลักสูตรที่มีอยู่ เป็นหลักสูตรที่เน้นวิชาการ เมื่อจบปริญญาเอก จะไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็ไม่สามารถเป็นครูได้" ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว.
       
    --เดลินิวส์ 


ไม่มีความคิดเห็น: