วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สมศ.ปรับรูปแบบการประเมินฯ รอบสี่คาดหวังเสร็จในหนึ่งปี ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559- 2563) จะปรับเปลี่ยนเป็นการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ทั้งประเทศ หรือ ABA (Area Based Assessment) คือจะประเมินเป็นรายจังหวัด โดยจะประเมินสถานศึกษาในจังหวัดทุกระดับการศึกษาพร้อมกัน ตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บรวบรวมข้อมูล และทำให้เห็นภาพรวมการศึกษาทุกระดับของทั้งจังหวัดในเชิงกว้างและเชิงลึกภายในเวลาเพียง 1 ปี โดยจะรายงานผลการจัดการศึกษาของ จังหวัดให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ สามารถนำผลมาวิเคราะห์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร งบประมาณ ในระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม สร้างความร่วมมืออันจะก่อให้เกิดกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัด ทั้งนี้ สมศ. จะประกาศให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบรายละเอียดของการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่แต่ละจังหวัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 ปี
          ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวยืนยันว่า ผลการประเมินฯ สมศ. จะสะท้อนให้เห็นภาพรวมของคุณภาพการจัดการศึกษาที่เด่นชัดทั้งจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของแต่ละจังหวัด พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ระดับสถานศึกษา ต้นสังกัด และระดับนโยบาย ดังนั้น สมศ. จะเชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมาร่วมรับทราบผลคุณภาพการศึกษาของแต่ละจังหวัด เพื่อนำข้อมูลผลการประเมินไปประกอบการวางแผนนโยบายด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และบูรณาการการ พัฒนาจังหวัดในมิติต่างๆ ของจังหวัดให้มีศักยภาพ สอดคล้อง กับความต้องการด้านแรงงานและอาชีพ ให้สามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูป โครงสร้างบุคลากร การกระจายโอกาสทางด้านการศึกษา การ เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อน คุณภาพการศึกษาทั้งระบบให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด
          ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวย้อนหลังถึง การดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ในสองรอบที่ผ่านมา ว่า แต่ก่อนจะเป็นลักษณะการประเมินแบบกระจายสถานศึกษาทั่วทั้งประเทศในทุกระดับการศึกษาตามรอบการประเมิน ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งจะได้รับการประเมินและทราบผลการประเมินอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีทยอยกันไป การสรุปภาพรวมในแต่ละพื้นที่ต้องรอจนกว่าการประเมินภายนอกเสร็จสิ้นทุกสถานศึกษาในทุกห้าปี ในขณะที่สถานการณ์และบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่งเปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้พัฒนาปรับปรุงสถานศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทันต่อสถานการณ์ และสอดคล้องกับบริบทหรือความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง สมศ. จึงปรับเปลี่ยนเป็นการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ ในช่วงการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ เพื่อสร้างความชัดเจนของข้อมูลที่เป็นสภาพจริงของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดว่ามีคุณภาพมาตรฐานเป็นอย่างไร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการนำผลการประเมินไปใช้ร่วมกับแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัด และเพื่อสร้างผลกระทบสู่การพัฒนา กระตุ้นให้ทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมายได้เข้ามามีส่วนร่วมและระดมทรัพยากรในการพัฒนาคุณภาพของจังหวัดในทุกๆ ด้าน รวมทั้งด้านการศึกษา อันจะนำสู่การคุ้มครอง ผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตาม เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
          ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประเมินฯ รอบสี่ สมศ. จะเน้นวงจรคุณภาพ ให้เกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคล เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ บุคลากร นักเรียน นิสิตนักศึกษา ผู้ปกครอง รวมถึงศิษย์เก่า เพื่อให้ส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพของสถานศึกษา โดยเฉพาะการสร้างบรรทัดฐานเรื่อง "วัฒนธรรมองค์กร" และ "ธรรมาภิบาล" ดังนั้นจะต้องเริ่มจากการกำหนดปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ ประเพณีปฏิบัติ และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของสถานศึกษาที่ถูกต้องและเกิดผลได้จริง ซึ่งเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมองค์กร
          สำหรับการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่เริ่มขึ้นในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ซึ่ง สมศ. ได้ดำเนินการเป็นโครงการนำร่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จำนวน 8 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 20 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 จำนวน 35 จังหวัด และในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จำนวน 14 จังหวัด ได้พบว่าการให้ข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนารายจังหวัดมีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัด ส่งผลให้การแก้ไขพัฒนาคุณภาพสอดคล้องกับเป้าหมายของจังหวัดมากกว่า โดยหลังจากการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ในแต่ละปี สมศ. จะจัดงาน "มหกรรมคุณภาพการศึกษา" เพื่อนำเสนอผลการประเมินต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ต้นสังกัดของทุกระดับการศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักเรียน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงศูนย์เครือข่าย สมศ. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนในระดับจังหวัด ในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
 

      ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

'อภิชาติ'บี้ รร. เลิกเอาเปรียบเด็ก

          นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ทั่วประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้มอบหมายให้ไปชี้แจงต่อ ผอ.โรงเรียนในแต่ละ สพท.เรื่องการให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยให้เน้นการใช้อาจารย์ที่เป็นเจ้าของภาษา หรือผู้ที่อยู่ในประเทศที่ใช้ภาษานั้นเป็นภาษาหลัก มาทำหน้าที่สอนภาษาให้แก่นักเรียน เพราะที่ผ่านมาพบว่าหลายโรงเรียนใช้ครูผู้สอนภาษาจากประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาโดยตรง เช่น ใช้ครูชาวฟิลิปปินส์ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่เป็นเจ้าของภาษาหรือใช้ภาษาอังกฤษโดยตรงมาสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้สำเนียงภาษาอังกฤษของเด็กแปร่งไป เป็นต้น ส่วนการสอนภาษาจีนนั้นก็อยากให้เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดย 1 ห้องเรียนไม่ควรมีนักเรียนเกิน 10-15 คน เพราะการอัดนักเรียนเข้าไปมาก ๆ จะทำให้การเรียนไม่ได้ผลเท่าที่ควร
          "ผมต้องการให้โรงเรียนที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศและมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม รับประกันคุณภาพการจัดการเรียนการสอนด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าเก็บเงินเพิ่มแล้วไม่ได้ใส่ใจถึงผลการเรียนของเด็ก เพราะถือเป็นการเอาเปรียบเด็ก"เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า นอกจากนี้ตนยังได้กำชับให้ ผอ.สพท.ทุกคนให้ความสำคัญกับการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในเขตพื้นที่ของตัวเอง เพื่อจะได้รู้สภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของสถานศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมามีข้อมูลว่า ผอ.สพท.หลายคนแทบไม่เคยลงพื้นที่ตรวจสถานศึกษาเลย มักอยู่แต่ในห้องแอร์ หรือไม่ก็ไปเฉพาะแค่เปิดงานอบรมเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง.


          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 พ.ค. 2557 

ไม่มีความคิดเห็น: