วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

มั่นใจ 3 รมต.ศธ. พาการศึกษาฉลุย

เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และตนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ว่า ขอยังไม่แสดงความเห็น อยากให้รอหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อน ซึ่งคิดว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลในภาพรวมทางด้านการศึกษาทุกภาคส่วน น่าจะส่งไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และน่าจะได้มีการส่งต่อข้อมูลมายัง พล.ร.อ.ณรงค์แล้ว จากนี้น่าจะมีการมอบหมายงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ดูแลกันต่อไป
          ด้านนายนิวัติ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เพชรบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ในส่วนของ ศธ. มองว่านายกฤษณพงศ์น่าจะเป็นตัวหลักดูแลอุดมศึกษา ส่วน พล.ร.อ.ณรงค์เท่าที่ติดตามผลงาน มีคอนเซ็ปต์การศึกษาค่อนข้างดี ส่วน พล.ท.สุรเชษฐ์ ตนไม่ทราบแบ๊กกราวด์ อย่างไรก็ตาม มองว่าผู้บริหารสูงสุดมีหน้าที่ในการตัดสินใจ ฉะนั้นแม้ไม่มีพื้นฐานทางด้านการศึกษามาก่อน แต่หากมีทีมงานที่ดีในการรวบรวมข้อมูลและควรต้องเป็นข้อมูลที่ปราศจากอคติดทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ และความกลัวด้วย ก็เชื่อว่าจะสามารถตัดสินใจได้ดีและนำพาการศึกษาไปได้ ส่วนตัวจึงมองว่าควรให้โอกาสบุคคลทั้ง 3 ทำงานก่อนแล้ว เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่าทำได้หรือไม่ได้ และได้รับความร่วมมือจากแวดวงการศึกษามากน้อยแค่ไหน สำหรับงานเร่งด่วนที่ควรทำในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาอยู่ในตอนนี้ ก็คือเรื่องคุณภาพการศึกษา ตามมาด้วยการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เท่าเทียมกันและปลูกฝังค่านิยมที่พึงมี
          นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โฉมหน้ารัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีแต่งตั้ง ซึ่งผสมผสานกันระหว่างอำนาจการตัดสินใจ ฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊นั้น ตนให้คะแนน 75 จาก 100 คะแนน ซึ่งถือว่านายกฯให้ความสำคัญกับกระทรวงศึกษาฯ เป็นลำดับ ต้นๆ และเป็นกระทรวงที่มีปัญหารุมเร้ามาก จึงได้ส่งรัฐมนตรีช่วย 2 คนมาดูแล ดังนั้น ควรใช้สถานการณ์พิเศษนี้ ทำเรื่องปฏิรูปการศึกษา โดยเริ่มจาก 1.ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศิลปวัฒนธรรม สัมมาอาชีวะ ทุนตะวันตก คุณลักษณะสำคัญของเด็กไทย การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการกับปรัชญาตะวันตกอย่างไรที่จะพัฒนาเด็กไทยได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ 2.สังคายนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการที่ฉุดรั้งระบบการศึกษาไทยทำให้ไม่สามารถจับต้องเนื้อหาการศึกษาได้ ซึ่งต้องแก้ไขทั้งกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเรื่องโครงสร้าง ควรแยกอุดมศึกษา ไปจัดตั้งกระทรวงใหม่ แล้วเหลือแค่ 6-7 กรมให้ปลัด ศธ.ดูแล กระทรวงศึกษาฯจะได้เล็กลงและมีการกระจายอำนาจให้พื้นที่ได้ดูแลกันเอง โดยเขตพื้นที่ฯอยู่ภายใต้คณะกรรมการศึกษาประจำจังหวัด 3.สังคายนาระบบฝึกหัดครูทั้งระบบตั้งแต่การรับคน การผลิต ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ฯลฯ ซึ่งต้องมาทบทวนกันใหม่เพื่อแก้ไขคุณภาพครู จากการลงพื้นที่พบว่าครูสอนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะมัวแต่ทำเอกสารเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ผู้บริหารทิ้งโรงเรียนและศึกษานิเทศก์ก็นิเทศแต่โครงงาน ขณะที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ก็สนใจแต่เรื่องโยกย้าย การวิ่งเต้น
          นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า 4.สังคายนาการวัดผล การประกันคุณภาพภายในและภายนอกซึ่งต้องรื้อใหม่หมด โดยเฉพาะสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ต้องยอมรับว่า สมศ.ใช้งบประมาณจำนวนมากแต่คุณภาพไม่เกิด 5.ปฏิรูประบบงบประมาณ อย่างที่นายกฯกล่าว ศธ.เอางบไปใช้เยอะมาก แต่คุณภาพการศึกษากลับต่ำ งบลงไปที่ตัวเด็กแค่ 3% ขณะที่งบเงินเดือนครูและบุคลากรสูงถึง 76% ดังนั้น จึงต้องรื้อระบบงบประมาณกันใหม่ 6.รื้อระบบกฎหมายของ ศธ.โดยเฉพาะกฎหมายสมัยที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) จัดทำขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งนี้ ต้องปฏิรูปการศึกษา โดยดูว่ากฎหมายใดที่เป็นปัญหาแล้วดำเนินการแก้ไข ซึ่งหากรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะรองหัวหน้า คสช. เข้าใจเรื่องปฏิรูปการศึกษาตรงกันและประสานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตลอดจนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างใกล้ชิดได้ ก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคได้อย่างรวดเร็ว และ 7.ส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็ก
          "ถ้า คสช.โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ., สนช.และ สปช.ทำงานเชื่อมโยง สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน ก็เชื่อว่าจะสามารถพลิกโฉมการศึกษาให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ภายในหนึ่งปี" นายสมพงษ์กล่าว
        
  --มติชน ฉบับวันที่ 3 ก.ย. 2557 


ศธ. สั่งไอซีทีเร่งเอาผิดรับจ้างทำการบ้านผ่านเว็บ-ชี้กระทบความมั่นคง

          ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุการรับจ้างทำการบ้านเข้าข่ายกระทบความมั่นคงของชาติด้านการศึกษา พร้อมสั่งกระทรวงไอซีทีเนินคดีตามกฎหมาย  นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยถึงกรณีการรับจ้างทำการบ้านผ่านทางเว็บไซต์ ว่า อาจเข้าข่ายกระทบความมั่นคงของชาติด้านการศึกษา ส่งผลเสียหายต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็ก และเยาวชนที่จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติ ฝึกฝน เรียนรู้ จึงถือได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ และผู้ปกครองย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเบื้องต้นจะทำหนังสือถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้พิจารณาดำเนินการปิดเว็บไซต์ และดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกง หรือความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากความผิดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านการศึกษาของประเทศ และยังมีโทษทางวินัยและจรรยาบรรณ หากผู้รับจ้างเป็นข้าราชการครู
          สำหรับการรับจ้างทำการบ้าน เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นผ่านระบบออนไลน์จำนวนมาก เจาะกลุ่มเป้าหมายนักเรียนนักศึกษาที่ไม่ต้องการทำการบ้าน รายงาน หรือแม้แต่วิทยานิพนธ์ด้วยตนเอง ซึ่งการดำเนินการรับจ้างกระทำผ่านออนไลน์ โดยให้ชำระเงินก่อนเริ่มดำเนินการ และจัดส่งผลงานให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 10 บาท สำหรับงานเขียนธรรมดา โครงงาน 50 บาท

--อินโฟเควสท์ โดย สุดทีวัล สุขใส 


สพฐ.แจกคู่มือรับมือสารพัดภัย

          ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ภัยที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ต่าง ๆ รวมถึงภัยสังคม ภัยจากบุคคลต่าง ๆ นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เล็งเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างรูปแบบหรือนวัตกรรมสำหรับการช่วยเหลือเมื่อสถานการณ์ไม่ปกติขึ้นในสถานศึกษา ในรูปแบบของคู่มือรับภัยธรรมชาติและภัย อื่น ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริหาร บุคลากร และนักเรียน ในการรับมือและให้การช่วยเหลือตามขั้นตอนเมื่อเกิดเหตุการณ์
          "ที่ผ่านมามักจะมีภัยต่าง ๆ ทั้งภัยธรรมชาติและภัยสังคมเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้มีเด็ก เยาวชนและประชาชนได้รับความเดือดร้อน เสียหาย จนถึงเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องมีคู่มือสำหรับให้ความรู้ และข้อควรปฏิบัติ รวมถึงวิธีการจัดการกับปัญหา ตั้งแต่การป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการเยียวยาเมื่อเกิดภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพอนามัยของเด็ก ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงมักกลายเป็นเรื่องใหญ่ และในความเป็นจริงหลายคนก็ไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรก่อนหลัง ดังนั้นในเบื้องต้น สพฐ. จะได้จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติมอบให้แก่สถานศึกษาบางแห่งเพื่อทดลองใช้ก่อนจะขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่นต่อไป" ดร.กมล กล่าว.
   
       --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ก.ย. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: