วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ 2/2558

ศึกษาธิการ - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  พันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้ตรวจราชการ และผู้บริหารหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีประเด็นสำคัญ สรุปดังนี้
ความก้าวหน้าการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบกระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่ประชุมได้รับทราบ สป.ได้รายงานผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ ในไตรมาสแรก (1 ตุลาคม 2557-30 มกราคม 2558) ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายตามระบบ GFMIS โดยมีผลการเบิกจ่าย (ทุกงบ) จำนวน 184,385 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับในปีงบประมาณนี้ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ได้ตั้งไว้ในไตรมาสแรก  ในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุน ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 8,362 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของงบลงทุนที่ได้รับในปีงบประมาณนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 3 เดือนแรกในกลุ่มมาตรการเพื่อการสร้างงาน งบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็งของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 12,959 ล้านบาท ซึ่งนางผานิตย์ มีสุนทร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการติดตามงบลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานความก้าวหน้าของหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สพฐ. 8,796 ล้านบาท สอศ. 2,375 ล้านบาท และ สกอ./มหาวิทยาลัยของรัฐ 71 แห่ง 1,788 ล้านบาท
ทั้งนี้ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ย้ำในที่ประชุมด้วยว่า ขอให้มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการด้วยความรอบคอบ พร้อมทั้งกำชับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณให้ปฏิบัติตามระเบียบอย่างโปร่งใส
- ร่างหลักเกณฑ์ฯ เลื่อนเป็นวิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement)
สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement) โดยสาระสำคัญของการประเมินตามหลักเกณฑ์นี้เพื่อเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งประเมินจากผลในการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งจะทำให้ครูไม่ทิ้งห้องเรียน
รายละเอียดตามร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558
รายงานผลการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับผลการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยปราศจากเงื่อนไขการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ” เพื่อพัฒนาการศึกษา สนับสนุนการแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงศึกษาธิการได้รับจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 154 โครงการ เป็นเงิน 3,453 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้วในไตรมาสแรก 688 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร  โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ 486 ราย รวมเป็นเงิน 29 ล้านบาท  การจัดกีฬาในจังหวัดชายแดนภาคใต้  มาตรการดูแลความปลอดภัยครูและบุคลากรทางการศึกษา  โครงการสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
- รายงานผลการตรวจราชการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานผลการตรวจราชการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในปี 2558 ในประเด็นนโยบายสำคัญเรื่อง “การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ของเขตตรวจราชการที่ 17 (พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) และเขตตรวจที่ 18 (กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี) ซึ่งมีสรุปผลการตรวจประเด็นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 4 ประเด็น ได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐาน : หน่วยงานในเขตพื้นที่ได้กำหนดศูนย์อาเซียนศึกษา และทุกโรงเรียนได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
- ความพร้อมของนักเรียน 
: ผลสัมฤทธิ์รายวิชาหลักของนักเรียนในระดับ ป.6 และ ม.3 ยังต่ำกว่าเกณฑ์ระดับประเทศ มีการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและภาษาอาเซียน จัดการแข่งขันตอบปัญหาอาเซียน พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการเรียนรู้
- ความพร้อมของครู 
: มีการอบรมครูด้านภาษาและกระบวนการคิด การใช้ ASEAN Curriculum เป็นการพัฒนาหลักสูตรร่วมอาเซียนในกลุ่มโรงเรียน
- การขยายเครือข่าย 
: การแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และดำเนินความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน
นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู เพิ่มการใช้หลักสูตรรวมอาเซียนในระดับมัธยมศึกษา เพิ่มบทบาทของ กศน. และทบทวนเนื้อหาสาระของการเรียนรู้ เรื่อง การอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน

  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- โครงการประชุมวิชาการนานาชาติการศึกษาพิเศษ
ที่ประชุมรับทราบการเตรียมการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษ นวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอน ครั้งที่ 1 (The International Conference on Special Education : Innovation to Enhance Learning Initiatives and Practices) ในระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่ง สพฐ.ได้จัดร่วมกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการยกระดับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีผู้ประชุมชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน


ไม่มีความคิดเห็น: