วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 190/2559 ประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติหน้าที่ของศึกษาธิการภาค

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมร่วมกับศึกษาธิการภาค เพื่อรับฟังปัญหา พร้อมทั้งมอบแนวทางนโยบายในการปฏิบัติงาน เมื่อวันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อต้องการรับฟังปัญหาและข้อขัดข้องจากการลงพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่ของศึกษาธิการภาคทั้ง 18 ภาค รวมทั้งปัญหาในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งศึกษาธิการภาคได้รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอต่าง ๆ จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานที่ผ่านมา
 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานของ กศจ. ซึ่งพบปัญหาการตีความตามข้อกฎหมายเพื่อใช้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น การตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ด้านต่างๆ อย่างน้อย 3 ด้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น จึงได้มอบให้ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) จดประเด็นต่าง ๆ เพื่อเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้พิจารณาและจัดทำเอกสารคู่มือการปฏิบัติราชการเผยแพร่ให้เกิดความชัดเจนต่อไป
นอกจากนี้ มีประเด็นการสอบรรจุครูผู้ช่วยรอบใหม่ เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อ ทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการกระชั้นชิดเกินไป ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน ละเอียดรอบคอบ ทั้งด้านการบริหารจัดการ การเบิกจ่ายงบประมาณ การมอบอำนาจต่างๆ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดรับสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยออกไปในช่วงปลายเดือนนี้ แม้อาจจะมีผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนบ้างก็ตาม
ส่วนประเด็นอื่นๆ จากการลงพื้นที่ เช่น การประสานการปฏิบัติงานในแต่ละจังหวัด ยังไม่มีการบูรณาการร่วมกัน, ผู้แทนหน่วยงานอื่นๆ ภายในจังหวัดของ กศจ. มีบทบาทในการให้ข้อเสนอแนะแก่ กศจ.ค่อนข้างน้อย, ผู้แทน ก.ค.ศ.บางคน ไม่สามารถให้ความเห็นด้านกฎระเบียบหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.ได้, การแต่งตั้งรองศึกษาธิการจังหวัดจากจังหวัดอื่นที่ไม่ตั้งอยู่ในจังหวัด มีการประสานงานไม่ดีเท่าที่ควร, ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนภาคประชาชนใน กศจ. ไม่เข้าใจระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ, แนวทางการปฏิบัติงาน กศจ. ยังไม่ชัดเจน เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งมีผลให้การพิจารณาอาจไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ฯลฯ ได้มอบให้เลขาธิการ ก.ค.ศ. รวบรวมประเด็นข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคได้รับทราบและกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า นอกจากประเด็นสภาพของ กศจ. ดังกล่าวแล้ว ได้ขอให้ศึกษาธิการภาคได้พิจารณาติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ตามยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 10 ยุทธศาสตร์ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม คือ ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพดูแลในเรื่องนี้, การรับฟังข้อคิดเห็นจากสภานักเรียน,  การเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากรไปปฏิบัติงานในโครงสร้างของศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด, การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการใช้เหตุผลในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งฝากให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปรียบเทียบคะแนนผลสอบรายวิชาต่างๆ ในการสอบ O-NET ของโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กับโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการด้วย


ไม่มีความคิดเห็น: