วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 523/2559 รมว.ศธ."นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์" ให้นโยบาย ผอ.สพท.ทั่วประเทศ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟัง

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การพบปะกับ ผอ.สพป./สพม.ทั้ง 225 เขตในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มอบนโยบายเพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยมีนโยบายหลักที่เป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้
● น้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ใส่เกล้าฯ และมอบเป็นนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่หน่วยงานในสังกัด
จากการที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีนั้น พระองค์ทรงขอให้ผู้บริหารทุกคนสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะพระราชปณิธานของพระองค์ท่านถือเป็นพรอันสูงสุด รวมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะน้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 ใส่เกล้าฯ และมอบเป็นนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่หน่วยงานในสังกัดต่อไป
สำหรับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีใจความสำคัญว่า "การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 2 ด้าน คือ 1) ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง 2) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education)"
ในส่วนของการสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระองค์ทรงเฝ้ามองการศึกษาไทย พระองค์ได้ทรงมีแนวพระราชกระแสฯ ที่ได้ทรงพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับนักเรียน ครู และการศึกษา และเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ต่อการพัฒนาการศึกษาไทย ดังนี้
1) นักเรียน
  • ครูต้องสอนให้เด็กนักเรียนมีน้ำใจ เช่น คนเรียนเก่งช่วยติวเพื่อนที่เรียนล้าหลัง มิใช่สอนให้เด็กคิดแต่จะแข่งขัน (Compete) กับเพื่อน เพื่อให้คนเก่งได้ลำดับดี ๆ เช่น สอบได้ที่หนึ่งของชั้น แต่ต้องให้เด็กแข่งขันกับตนเอง” (11 มิ.ย.2555)
  • ครูไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยีมาก แต่ต้องมุ่งปลูกฝังความดีให้นักเรียนชั้นต้น  ต้องอบรมบ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองดี เด็กโตก็ต้องทำเช่นกัน” (6 มิ.ย.2555)
  • เราต้องฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะมากขึ้น จะได้มีความสามัคคีรู้จักดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความรู้และประสบการณ์แก่กัน” (5 ก.ค.2555)
  • ทำเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเป็นคนดี นักเรียนรักครู ครูรักนักเรียน” (9 ก.ค.2555)
ในบรรดานโยบายปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด มีนโยบายเพียงส่วนน้อยที่จะคิดถึงเด็ก กระทรวงศึกษาธิการจึงให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนอย่างมาก โดยต้องการเห็นเด็กตื่นขึ้นมาอยากไปโรงเรียน สนุกกับการเรียน เด็กอยากเรียน และครูอยากสอน อีกทั้งมุ่งเน้นให้เด็กทำกิจกรรมกลุ่มหรือเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Tutoring) ตัวอย่างเช่น นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่สามารถให้มุ่งเน้นการทำกิจกรรมกลุ่มได้ หรือหากครูสอนไม่ทันในชั่วโมงเรียน สามารถนำเนื้อหามาสอนเสริมในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ได้ แต่ขอให้ปรับรูปแบบการเรียนการสอน ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องเรียน โดยต้องกระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้นที่จะเรียน (Active Learn) และครูกระตือรือร้นที่จะสอน (Active Teach)
2) ครู
  • เรื่องครูมีความสำคัญไม่น้อยกว่านักเรียน ปัญหาหนึ่ง คือ การขาดครู เพราะจำนวนไม่พอและครูย้ายบ่อย ดังนั้น ก่อนคัดเลือกเด็กที่จะพัฒนาต้องพัฒนาครูก่อน ให้พร้อมที่จะสอนเด็กให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงจะต้องคัดเลือกครูและพัฒนาครู ต้องตั้งฐานะในสังคมของครูให้เหมาะสม และปลูกจิตสำนึกโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิธีการคือ การให้ทุนและอบรม กล่าวคือ ต้องมีความรู้ทางวิชาการในสาขาที่เหมาะสมที่จะสอน ต้องอบรมวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นครูที่แท้จริง คือ มีความรักความเมตตาต่อเด็ก ควรเป็นครูท้องที่เพื่อจะได้มีความผูกพันและคิดที่จะพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดของตน ไม่คิดย้ายไปย้ายมา” (11 มิ.ย.2555)
  • ต้องปรับปรุงครู...ครูจะอายุ 40-50 ปี ก็ต้องเรียนใหม่ ต้องปฏิวัติครูอย่างจริงจัง” (6 มิ.ย.2555)
  • ปัญหาปัจจุบันคือ ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหารเพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน  ระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี reward” (5 ก.ค.2555)
  • ครูบางส่วนเวลาสอนนักเรียนจะสอนไม่หมดแต่เก็บไว้บางส่วน หากนักเรียนต้องการรู้ทั้งหมดวิชา ก็ต้องเสียเงินไปสมัครเรียนพิเศษกับครูท่านนั้น จะเป็นการสอนในโรงเรียนหรือส่วนตัวก็ตาม” (5 ก.ค.2555)
กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของครู นอกจากจะดูแลเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ แล้ว ผู้บริหารต้องคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ครูย้ายบ่อย เพราะจากงานวิจัยพบว่าการย้ายของครูเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำร้ายเด็กนักเรียนดังนั้น สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน กคศ.) ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย
นอกจากนี้ จะมีการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลื่อนวิทยฐานะของครู เนื่องจากที่ผ่านมามีครูที่สอนดีและอยู่กับเด็ก แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนเพราะไม่ได้ทำผลงานทางวิชาการ โดยโรงเรียนจะใช้เกณฑ์การทำวิทยานิพนธ์หรือทำวิจัยแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะบริบทของมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะให้ความสำคัญกับปริมาณการสอนของครู กล่าวคือ ครูที่สอนมากควรได้รับการเลื่อนวิทยฐานะ ไม่ใช้หลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะจากการทำผลงานเหมือนวิทยานิพนธ์ที่ทำให้เกิดกรณีจ้างคนอื่นทำ อีกทั้งครูที่ขยันสอนควรได้รับรางวัลด้วยการประเมินเชิงคุณภาพจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก และการประเมินเชิงปริมาณคือ การนับจำนวนชั่วโมงสอนของครู ซึ่งครูอาจจะสอนเพิ่ม สอนเสริม หรือไปช่วยสอนในวิชาอื่นก็ได้ แต่ผู้ที่ได้รับวิทยฐานะไปแล้ว ก็ไม่ต้องกังวล เพราะจะไม่ยกเลิกวิทยฐานะ เพียงแต่ปรับหลักเกณฑ์ให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นคือ "คนสอนดี สอนมีคุณภาพ ควรได้รับรางวัล แต่หากคนที่สอนดีได้รับวิทยาฐานะแล้ว กลับไม่ขยันสอนหนังสือเช่นเดิม ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร"


ไม่มีความคิดเห็น: