วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย

มติครม.5สิงหาคม2551
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) เป็นประธานกรรมการ ในการประชุมครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 ที่อนุมัติหลักการพื้นฐานของยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้กระทรวงศึกษาธิการประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อทำความตกลงเกี่ยวกับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในรายละเอียดต่อไป รวมทั้งให้นำประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า ในปีการศึกษา 2549 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 จำนวน 637,004 คน จากทุกเขตพื้นที่การศึกษาพบว่า มีนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน 79,358 คน คิดเป็นร้อยละ 12.45 ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความห่วงใยของสังคมไทยโดยทั่วไปที่พบว่า นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บางคนยังอ่านเขียนไม่คล่อง นักเรียนระดับมัธยมศึกษาบางคนมีปัญหาเรื่องความเข้าใจการอ่านและความอ่อนด้อยเรื่องการเขียนหรือผู้จบระดับอุดมศึกษาบางคนความสามารถทางภาษายังไม่เพียงพอแก่การปฏิบัติงานคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ตระหนักในคุณค่าภาษาไทย มีผู้สนใจเรียนรู้ภาษาไทยให้ลึกซึ้งและแตกฉานน้อยมาก ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการเรียน การสอนภาษาไทย โดยมีเป้าประสงค์ที่จะเร่งรัดส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถภาษาไทยในระดับที่สูงขึ้น มีพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นเพื่อการแสวงหาความรู้และ การประกอบอาชีพ รวมทั้งเห็นความสำคัญและร่วมอนุรักษ์ภาษาไทย
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. วัตถุประสงค์
1.1. เพื่อให้นักเรียนทั่วไป สามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมเต็มศักยภาพมีนิสัยรักการอ่าน การเขียน รู้จักคิดวิเคราะห์ และการแสวงหาความรู้พร้อมกับสามารถพัฒนาความรู้ภาษาไทย การพัฒนาภูมิปัญญาและภูมิธรรมที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันที่สลับซับซ้อนขึ้น
1.2 เพื่อให้นักเรียนใช้ภาษาถิ่นในชีวิตประจำวันที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารชายแดนของประเทศและที่อยู่ในพื้นที่พิเศษได้พัฒนาความสามารถการใช้ภาษาไทยอย่างเต็มศักยภาพ โดยครูผู้สอนจัดสภาพความพร้อม ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน สื่อการสอน การวัดและประเมินผลให้หลากหลายสอดคล้อง และเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมของนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย
1.3 เพื่อให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษได้พัฒนาความสามารถการใช้ภาษาไทยโดยจัดสภาพความพร้อมตามหลักวิชาปรับเปลี่ยนวิธีสอน สื่อการสอน การวัดและประเมินผล สอดคล้องกับนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย
2. วิสัยทัศน์ นักเรียนได้เรียนรู้ภาษา วรรณคดีและวรรณกรรมไทย มีทักษะการใช้ภาษาไทยตามมาตรฐานหลักสูตร ได้พัฒนาสูงสุดเต็มศักยภาพ รวมทั้งตระหนักและเห็นคุณค่าภาษาของชาติ
3. พันธกิจ กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งรัดส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถภาษาไทยในระดับที่สูงขึ้น มีพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นเพื่อแสวงหาความรู้และการประกอบอาชีพ รวมทั้งเห็นความสำคัญและร่วมอนุรักษ์ภาษาไทย
4. เป้าหมาย
4.1 นักเรียนทั่วไปที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกคนอ่านออกเขียนได้ และที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นต้นไปทุกคนอ่านคล่องเขียนคล่อง มีความรู้ความสามารถภาษาไทยตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร ควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด มีพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น มีผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทยกว่าร้อยละ 50 ใช้ภาษาสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์และสร้างสรรค์
4.2 นักเรียนที่ใช้ภาษาถิ่น และภาษาถิ่นในชีวิตประจำวันซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารชายแดนของประเทศและที่อยู่ในพื้นที่พิเศษได้พัฒนาความสามารถการใช้ภาษาไทยเต็มตามศักยภาพ ตามมาตรฐานการเรียนรู้หลักสูตร ควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด มีพื้นฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น มีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ภาษาไทยสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ใช้ภาษาสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์และสร้างสรรค์ โดยการจัดการเรียนการสอนและสื่อลักษณะพิเศษ สอดคล้องกับนักเรียน
4.3 นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถการใช้ภาษาไทยเต็มตามศักยภาพ สามารถเรียนร่วมกับผู้อื่น จัดให้มีโอกาสศึกษาต่อและประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจ นักเรียนที่มีความสามารถดีเด่นด้านภาษาไทย ทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่มได้พัฒนาในระดับสูงยิ่งขึ้น โดยการจัดการเรียนการสอนและสื่อลักษณะพิเศษที่สอดคล้องกับนักเรียน
5. ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ
5.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปฏิรูปการจัดกระบวนการเรียนรู้ภาษาไทยให้สัมฤทธิ์ผลสอดคล้องกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม และรายบุคคล
5.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 เร่งรัดพัฒนายกระดับคุณภาพครูภาษาไทย
5.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับคุณภาพสื่อการเรียนการสอนภาษาไทย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ