วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

รูปแบบการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษา SINTPAE Model (เป็นของเก่าปี 2545 นำมาให้ศึกษาครับ)

รายงานการวิจัยและพัฒนา เรื่อง รูปแบบการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษา SINTPAE Model
โดย ผศ. ดร. ชัญญา อภิปาลกุล และคณะ พ.ศ. 2545

ผลการวิจัยและพัฒนา
1. รูปแบบการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษา “เรียนรู้สู่ปฏิบัติ” (SINTPAE Model) ผู้วิจัยได้นำผลจากการศึกษาเอกสารและผลการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารสถานศึกษา มาจัดทำเป็น รูปแบบการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษา “เรียนรู้สู่ปฏิบัติ” หรือ SINTPAE Model โดยเป็นรูปแบบการพัฒนาที่เน้นทั้งความรู้วิชาการและการฝึกปฏิบัติจริงในสถานศึกษา

ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาชุดเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Study : S)
คณะวิจัยได้จัดทำชุดเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้ศึกษาล่วงหน้าก่อนเข้ารับการฝึกอบรมอย่างเข้ม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ชุดเรียนรู้ดังกล่าวมีจำนวน 6 เล่ม ประกอบด้วย
1) การบริหารงานวิชาการที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้
2) การบริหารงานงบประมาณที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้
3) การบริหารงานบุคคลที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้
4) การบริหารทั่วไปที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้
5) การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้
6) การวิจัยและการนำผลการวิจัยไปใช้ในสถานศึกษาที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ในขั้นตอนการศึกษาชุดเรียนรู้ด้วยตนเองนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องประเมินตนเองก่อนโดยมีแบบประเมินตนเองจำนวน 60 ข้อ ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล การบริหารทั่วไป การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม และการวิจัย ผลการประเมินตนเองนั้น จะมีเกณฑ์ชี้วัดว่าผู้บริหารควรจะศึกษาชุดเรียนรู้เล่มใดต่อไปผู้บริหารสถานศึกษาต้องผ่านการประเมินผลจากการศึกษาชุดเรียนรู้ด้วยตนเองในแต่ละเล่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะถือว่าผ่านการประเมินในขั้นตอนที่ 1

ขั้นตอนที่ 2 การฝึกอบรมอย่างเข้ม (Intensive Training : INT)
ผู้ดำเนินการพัฒนาต้องจัดให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้ม โดยเนื้อหาในการฝึกอบรมมีความสัมพันธ์กับชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ประกอบด้วย 2 หมวด ดังนี้
หมวด 1 : การพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการปฏิรูปการเรียนรู้
ก. กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (4 วัน)
ข. การวางแผนกลยุทธ์ในการปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษา (3 วัน)
ค. การประกันคุณภาพการศึกษาในระดับสถานศึกษา (3 วัน)

หมวด 2 : การบริหารสถานศึกษาที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้
ก. บทบาทหน้าที่และความสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษา (3 วัน)
ข. การสร้างวิสัยทัศน์การบริหารและการจัดการศึกษา (3 วัน)
ค. กระบวนการบริหารและการจัดการศึกษา (PDCA) (4 วัน)
ในการฝึกอบรมแบบเข้มใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ และควรคัดเลือกวิทยากรที่มีทั้งความรู้ ประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการปฏิบัติงานมาเป็นวิทยากรฝึกอบรม
และในการดำเนินการฝึกอบรมอาจมีการฝึกอบรมเป็นช่วงตามที่เห็นสมควร ไม่จำเป็นต้องเสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน แต่ต้องดำเนินการฝึกอบรมให้จบหลักสูตรภายใน 3 เดือนผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องผ่านการประเมินย่อยแต่ละหมวดตามโครงสร้างของหลักสูตรและประเมินผลรวมตามเกณฑ์ ต่อไปนี้
1) มีระยะเวลาในการเข้ารับการฝึกอบรมภาควิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด
2) ผ่านการประเมินย่อยตามชิ้นงานที่วิทยากรฝึกอบรมมอบหมายให้ปฏิบัติทุกชิ้น
3) ผ่านการประเมินผลรวมจากชิ้นงานสำคัญที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานภายใน 2 หมวดวิชา ตามโครงสร้างของหลักสูตรอย่างน้อย 1 ชิ้น

ขั้นตอนที่ 3 การฝึกปฏิบัติงานในสถานศึกษาต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้ (Practice - Workshop : P)
จัดให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานในสถานศึกษาต้นแบบการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 วัน เพื่อให้เรียนรู้ประสบการณ์จากนักบริหารที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จในการบริหารสถานศึกษา โดยในการฝึกปฏิบัติงานนี้ ให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาจะผ่านเกณฑ์ขั้นตอนที่ 3 ต้องมีระยะเวลาการฝึกปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และผ่านการประเมินผลชิ้นงานที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติอย่างน้อย 1 ชิ้น

ขั้นตอนที่ 4 การประยุกต์ใช้กับสถานศึกษาของตนเอง (Action : A)
ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องนำความรู้จากการศึกษาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการฝึกอบรมแบบเข้ม และประสบการณ์ ที่ได้รับจากการฝึกปฏิบัติงาน ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาของตนเอง โดยดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาจริงในสถานศึกษานั้น ๆ
ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผลและพัฒนาต่อไป (Evaluation & Development : E)
ประเมินผลเมื่อสิ้นสุดกระบวนการโดยใช้แบบติดตามและประเมินผลผู้บริหารสถานศึกษาที่คณะวิจัยได้สร้างขึ้น และใช้ผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาตนเองต่อไป ตามวงจรรูปแบบการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา “เรียนรู้สู่ปฏิบัติ ”ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามรูปแบบดังกล่าว รวมกันต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะถือว่าผ่านการประเมิน

2. ชุดเรียนรู้ด้วยตนเอง คู่มือ และสื่อประกอบการฝึก อบรม
2.1 ชุดเรียนรู้ด้วยตนเอง โครงสร้างของชุดเรียนรู้ ประกอบด้วย ข้อแนะนำการใช้ แบบประเมินตนเองก่อนการศึกษาชุดเรียนรู้ เนื้อหาและสาระสำคัญ กิจกรรม แบบประเมินตนเองหลังการศึกษาชุดเรียนรู้ โดยขอบข่ายเนื้อหาสาระของชุดเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้ง 6 เล่ม มีดังนี้
เล่มที่ 1 การบริหารงานวิชาการที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื้อหาโดยสังเขป ได้แก่ หลักการ แนวคิดในการบริหารงานวิชาการ ความหมายและความสำคัญของงานวิชาการ การบริหารหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาและการจัดสายการบริหารงานวิชาการ การนิเทศ ติดตามและประเมินผลงานวิชาการ แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา กิจกรรมบริหารวิชาการ
เล่มที่ 2 การบริหารงานงบประมาณที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื้อหาโดยสังเขป ได้แก่ พัฒนาการและความจำเป็นในการนำระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานมาใช้ในการปรับปรุง
ระบบงบประมาณที่ใช้ในปัจจุบัน ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน การนำระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานไปใช้ในหน่วยงานปฏิบัติ แผนปฏิบัติการตามระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้
เล่มที่ 3 การบริหารงานบุคคลที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื้อหาโดยสังเขป ได้แก่ แนวคิดและหลักการในการบริหารงานบุคคล ระบบการบริหารงานบุคคล และวิธีการสรรหาบุคคล การวางแผนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การจัดบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง การพัฒนาบุคคล การพิจารณาความดีความชอบ การบริหารงานบุคคลที่นำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้
เล่มที่ 4 การบริหารทั่วไปที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื้อหาโดยสังเขป ได้แก่ ความหมาย หลักการ แนวคิดและทฤษฎีการบริหารการศึกษา การนำหลักการ แนวคิด และทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในการบริหาร การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ การควบคุมคุณภาพของงาน การบริหารโดยใช้ข้อมูล การบริหารเวลาการบริหารสถานศึกษารูปแบบใหม่ และการบริหารเชิงกลยุทธ์
เล่มที่ 5 การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื้อหาโดยสังเขป ได้แก่ ทฤษฎีความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนและการบริหารแบบมีส่วนร่วมรูปแบบและลักษณะของการมีส่วนร่วม การบริหารแบบมีส่วนร่วมในโรงเรียน บทบาทของผู้มีส่วนร่วมและประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับการบริหารแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้
เล่มที่ 6 การวิจัยและการนำผลการวิจัยไปใช้ในสถานศึกษาที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื้อหาโดยสังเขป ได้แก่ความเข้าใจในพื้นฐานการวิจัยประเภทต่างๆ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัยเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในทางการศึกษา แหล่งของผลงานวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน

2.2 คู่มือการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาตาม
รูปแบบ “เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” (SINTPAE Model) เป็นคู่มือสำหรับผู้ดำเนินการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาตามรูปแบบ “เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาผู้บริหารตามรูปแบบ 5 ขั้นตอน รวมทั้งแบบประเมินผลผู้บริหารสถานศึกษา และเกณฑ์การประเมินผล
2.3 สื่อประกอบการฝึกอบรมผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้วิจัยได้จัดทำ CD-ROM เป็น Power Point ประกอบเสียง จำนวน10 เรื่อง เพื่อให้ผู้ดำเนินการฝึกอบรมได้ใช้ประกอบการฝึกอบรมผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย
1) ความหมายและความสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษา
2) บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะผู้นำการปฏิรูปการเรียนรู้
3) การปฏิรูปการศึกษา : การศึกษาขั้นพื้นฐาน
4) การสร้างวิสัยทัศน์ในการบริหารและการจัดการศึกษา
5) การวางแผนกลยุทธ์ในการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับสถานศึกษา
6) การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา
7) การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
8) กระบวนการบริหารและการจัดการศึกษาตามวงจร PDCA ในการปฏิรูปการเรียนรู้
9) การวิจัยและนำผลการวิจัยไปใช้ในสถานศึกษาที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้
10) การประกันคุณภาพการศึกษา

เอกสารฉบับเต็ม
http://www.onec.go.th/publication/sintpae/sintpae.pdf

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล