วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประชุมเชิงนโยบายเพื่อระดมความคิดการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ ครั้งที่ ๒

ประชุมเชิงนโยบายเพื่อระดมความคิด เรื่อง "การพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน ครั้งที่ ๒" ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๒

สรุปความคืบหน้าจากการประชุมวันแรก (๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๒)
รมว.ศธ. กล่าวว่า การประชุมในวันแรกเป็นประเด็นหลักที่ได้ข้อสรุปมาแล้วจากการประชุมครั้งที่ ๑ ที่ จ.เพชรบุรี ซึ่งต้องการจะเห็นระบบการเรียนการสอน นอกจากการสอนแบบท่องจำที่มีความจำเป็นพื้นฐานแล้ว ทำอย่างไรที่จะให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น โดยได้คำตอบในเบื้องต้นที่จะต้องปรับ ๓ ส่วน ได้แก่

๑.หลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากทำให้เด็กรู้ในวิชาที่เรียนและวิชาการแล้ว ก็ต้องสอนให้เด็กมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ด้วย ซึ่งทักษะการคิดอย่างน้อยต้องสอนให้เด็กสามารถหาความหมายได้, สอนให้เด็กคิดแบบสร้างสรรค์ได้, คิดตัดสินใจได้, คิดแก้ปัญหาได้ และขั้นสูงสุดคือคิดแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหนักๆ รวมถึงมีคุณลักษณะ ๓D/ดี ฯลฯ จึงต้องไปพิจารณาว่าหลักสูตรสอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องดูเนื้อหาหลักสูตรที่จะใช้ในปีหน้าว่ามีประเด็นซ้ำซ้อนหรือเกินความจำเป็นที่เด็กต้องเรียนหรือไม่ หากมีจะต้องปรับปรุงอย่างไร สำหรับการส่งเสริมให้เด็กสามารถเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์ เราจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ดังนั้น จึงต้องมีหลักสูตรการเรียนในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมมากขึ้น นำไปสู่การสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้น และต้องมีการปรับตารางสอน เพื่อให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

๒.ครู ต้องมีการอบรมพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ซึ่งมีโครงการอบรมครู ๔๕๐,๐๐๐ คน สังกัด สพฐ. ภายใน ๑ ปี ประเด็นหลักเรื่องครูที่จะดำเนินการต่อไป คือ เรื่องกระบวนการสอน ถือเป็นหัวใจสำคัญว่า ครูจะสามารถสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกระบวนการวัดผล ว่าเที่ยงตรง แม่นยำเพียงใด ครูออกข้อสอบได้ตรงเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นหรือไม่ หัวใจสำคัญอีกเรื่อง คือ กระบวนการแนะแนวของครู ว่าจะประกอบด้วยหลักสูตรการแนะแนวอย่างไร แนะแนวให้เด็กได้ค้นพบตัวเองและแก้ปัญหาได้อย่างไร

๓.สื่อการเรียนการสอน ควรค้นหาสื่อต้นแบบที่หลายประเทศทำและประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาปรับปรุงดัดแปลง จะช่วยให้เร็วขึ้น นอกเหนือจากการคิดค้นเองบางส่วน และต้องมีการผลิตสื่อเป็นเครื่องมือในกระบวนการสอนของครู

๔.การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ซึ่งเป็นกระบวนการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มีผลสรุปดังนี้
๔.๑ ผู้ออกข้อสอบ O-Net จะต้องออกข้อสอบให้สอดคล้องกับการเรียนการสอน
๔.๒ ข้อสอบ ต้องเป็นข้อสอบที่สามารถใช้วัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเด็กได้ด้วย ซึ่ง ศธ.กำลังปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น
๔.๓ ผู้ออกข้อสอบข้อสอบ O-Net ควรมาจากหน่วยงานที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง สพฐ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเรียนจำนวนกว่า ๓๐,๐๐๐ โรงเรียน และเปิดโอกาสให้ครูจากหลายๆ สังกัดได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกข้อสอบมากยิ่งขึ้น
๔.๔ ควรมีการวิจัยพัฒนาการออกข้อสอบ O-Net ให้มีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถชี้วัดได้อย่างเที่ยงตรง แม่นยำ และเหมาะสมมากขึ้นในอนาคต

๕.การคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (Admissions) ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า การนำทั้ง ๔ ส่วนเข้ามาประกอบการสอบ Admissions ยังมีความเหมาะสมอยู่ ได้แก่ ผลคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรชั้น ม.ปลาย หรือ GPAX, แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net, แบบทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และแบบทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) โดยที่ประชุมเห็นควรให้นำคะแนน O-Net มาเป็นตัวเทียบเคียงกับคะแนน GPAX เพราะ GPAX เป็นคะแนน ที่แต่ละโรงเรียนจะให้กับเด็กแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีมาตรฐานแตกต่างกันในการให้คะแนน รวมทั้งข้อสอบก็มีความแตกต่างกันด้วย ดังนั้น เพื่อให้คะแนน GPAX มีมาตรฐานอย่างเดียวกัน จึงให้นำมาเทียบเคียงกับ O-Net ซึ่งใช้ข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศ เหตุที่ยังจำเป็นต้องใช้คะแนน GPAX ก็เพื่อให้เด็กสนใจเรียนในห้องเรียนมากยิ่งขึ้น สำหรับการรับตรง ควรเน้นเด็กในพื้นที่และเด็กมีความสามารถพิเศษ หรือการรับตรงในประเด็นอื่น ควรจะเป็นข้อสอบร่วม หรือใช้คะแนน GAT, PAT ที่เด็กต้องสอบอยู่แล้ว มาใช้ในการพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อเด็กจะไม่ต้องสอบหลายครั้ง ไม่ต้องวิ่งรอกสอบทีละมหาวิทยาลัย เนื่องจากยังจะต้องสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (Admissions) ซึ่งจะเป็นภาระกับเด็กเกินสมควร นอกจากนี้ จะมีการนำเรื่องความดีเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาคัดเลือกเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้วย โดยจะนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นเหล่านี้ ไปยังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต่อไป

๖.การผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา
- ศธ.มีนโยบายต้องการให้เด็กมาเรียนสายอาชีวะมากขึ้น โดยปรับสัดส่วนการเรียนสายสามัญกับสายอาชีวะ เป็น ๕๐:๕๐ สาเหตุที่ต้องการให้เด็กเรียนสายอาชีพเท่ากับสายสามัญ เพราะความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมบริการ การเกษตร หรือด้านอื่นๆ ยังคงสูงอยู่ ในขณะที่ ศธ.ผลิตเด็กเรียนสายอาชีพไม่เพียงพอป้อนสู่ตลาด นอกจากนี้ ผู้ที่เรียนสายอาชีพจะมีโอกาสมีงานทำสูงกว่าเรียนสายสามัญ
- เน้นเปิดการเรียนการสอนสายอาชีพในโรงเรียนสายสามัญ ก็คือ โรงเรียนสังกัด สพฐ. ซึ่งได้มอบหมายให้ สพฐ. และ สอศ. ประชุมพิจารณาว่า จะทำอย่างไรที่จะให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง และมีปัญหาอุปสรรคน้อยที่สุด คือ โรงเรียนที่สอนมัธยมปลาย สามารถเปิดห้องเรียนวิชาชีพ ปวช.๑-๓ ได้ โดย สอศ. จะเข้าไปช่วยเสริม และเมื่อเรียนจบในโรงเรียนมัธยมนั้นแล้ว ก็อาจจะได้วุฒิ ปวช.
- การทดสอบอาชีวศึกษาระดับชาติ หรือ V-Net มีนโยบายและข้อสรุปว่า ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ เมื่อเรียนจบจะมีการสอบ V-Net ซึ่งจะใช้ข้อสอบสายอาชีพเดียวกันทั้งประเทศ ออกโดย สทศ. โดยจะมีการสอบครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ จะทดสอบในชั้น ปวช.๓ ซึ่งข้อสอบแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ วิชาสามัญ ๒๕% เป็นการสอบวิชาสามัญประยุกต์ในสาขาวิชาที่เรียน เช่น คณิตศาสตร์ประยุกต์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และส่วนที่ ๒ วิชาชีพ ๗๕% ข้อสอบแบ่งตาม ๕ สาขาวิชาหลัก คือ คหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และศิลปกรรม ใครเรียนในสาขาวิชาใด ก็สอบวิชาชีพในสาขาวิชาหลักนั้น

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า จะนำผลสรุปจากการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ นำไปผลักดันเป็นนโยบายและบังคับให้มีการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และได้กล่าวขอบคุณผู้ให้ความคิดเห็น ขอให้มั่นใจได้ว่า จะรับความคิดเห็นไปขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: