วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รมว.ศธ.มอบนโยบายแก่ผู้บริหารอาชีวศึกษา

รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สอศ. ดังนี้

๑. การบูรณาการการทำงานในแต่ละจังหวัด

ศธ.มีมติชัดเจนแล้วว่า ทั้ง ๕ องค์กรหลักในทุกจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งมีแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดและแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัดเป็นตัวกำกับ ต้องทำงานในลักษณะบูรณาการ โดยต้องถือแผนปฏิรูปรอบสอง เป็นหลัก จึงขอให้ไปศึกษารายละเอียดของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ว่ามีกรอบอย่างไร และต่อไปอาจต้องทดสอบเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษารอบสองด้วยว่า มีความเข้าใจมากน้อยเพียงไร รวมทั้งขอให้ศึกษานโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการตามลำดับด้วย ซึ่งจะมีแผนกำกับการทำงาน ๓ แผน ประกอบด้วย แผนการศึกษาแห่งชาติ ขณะนี้ปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว มีอายุ ๑๕ ปี ขณะนี้เดินมาครึ่งทางแล้ว เหลือเวลาอีกครึ่งหนึ่ง ต้องศึกษาว่า แผนชาติดีอย่างไร เป้าหมายคืออะไร, แผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด

โดยในแต่ละจังหวัดจะมีประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด ทำหน้าที่คล้ายเป็นศึกษาธิการจังหวัด เพื่อความเป็นเอกภาพ และมีมติแล้วว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ ซึ่งในอนาคตการกลั่นกรองบุคคลที่จะขึ้นมาทำหน้าที่ ผอ.สพท.เขต ๑ จะต้องเข้มข้นขึ้น มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ เป็นตัวแทนของ ศธ.ในแต่ละจังหวัดอย่างแท้จริง โดยจะมีองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม สถาบันศาสนาและสถาบันอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด อาชีวศึกษา ก็จะเป็นหนึ่งในนั้น ทั้งอาชีวศึกษารัฐบาล และเอกชน

๒. การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ๑๙ สถาบัน

โดย สอศ.จะพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันตามอำนาจหน้าที่ และความเหมาะสมว่า จะจัดตั้งจำนวนเท่าไรก่อน และมีข้อดีคือ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งทรัพยากรบุคคล งบประมาณ ปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้เกิดการประหยัดในทุกด้านมากขึ้นเมื่อรวมกันเป็นสถาบัน ในอนาคตเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมและมีความพร้อม บางสถาบันอาจเปิดสอนระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป้าหมายหลักคือการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อเดินไปสู่คุณภาพ ขยายโอกาส และแสวงหาการมีส่วนร่วมที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง

ในการศึกษาระดับปริญญาตรีของสถาบันอุดมศึกษาจะเน้นวิชาการเป็นหลัก แต่ปริญญาตรีของอาชีวศึกษาเน้นเรื่องการปฏิบัติการเป็นหัวใจสำคัญ มีสัดส่วนเน้นการปฏิบัติ ๗๐-๗๕% เน้นวิชาการ ๒๐-๒๕% ปริญญาตรีของอาชีวศึกษาเป็นปริญญาตรีสายปฏิบัติการ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม บริการ ภาคเกษตรกรรม และภาคสังคมอื่นๆ ที่จะใช้ผลิตผลของ ศธ. โดยมีหัวใจสำคัญ คือ คุณภาพ

๓. TQF ของอาชีวศึกษา

คือมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา กำหนดกรอบคุณภาพ มาตรฐานของการเรียนการสอน และคุณภาพ คุณสมบัติของผู้จบการศึกษาในแต่ละสาขาวิชาที่เรียน ตัวอย่างของการกำหนด TQF ของระดับอุดมศึกษา คือ ผู้เรียนที่จบระดับปริญญาตรีจะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย ๕ ข้อที่มหาวิทยาลัยต้องผลิตให้ได้ ๑.มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกสาธารณะ ๒.มีความเป็นเลิศทางวิชาการที่เรียน ๓.มีทักษะทางวิชาการ นำความรู้ที่เรียนไปปฏิบัติได้ ๔.มีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคม มีภาวะผู้นำ และภาวะผู้ตามจะต้องมี ๕.ต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นี่คือคุณสมบัติที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องผลิตนักศึกษาที่จบการศึกษาออกมาให้ได้ตามนี้ มิเช่นนั้นถือว่าไม่ได้ตามกรอบมาตรฐาน และแต่ละสาขาวิชาจะต้องกำหนด TQF ย่อย โดยเฉพาะสาขาวิชาแรกที่ต้องเร่งทำให้เสร็จและมีความเข้มข้น คือ TQF ของคณะศึกษาศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ เพราะต้องการให้เป็นครูที่มีคุณภาพมาตรฐาน ดังนั้นอาชีวศึกษาต้องทำ TQF ในทุกสาขาวิชาที่สอน

๔. V-Net

เป็นการทดสอบโดยข้อสอบกลาง ส่วนการออกข้อสอบของแต่ละวิทยาลัยก็ดำเนินต่อไป แต่เมื่อถึงช่วงชั้นหนึ่งจะต้องมีข้อสอบกลางเหมือนกับ O-Net ของ ป.๖ ม.๓ และ ม.๖ ที่ สทศ.เป็นผู้ออกข้อสอบ จะได้เป็นการวัดมาตรฐานของแต่ละวิทยาลัยด้วยว่า มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันอย่างไร โดยได้ข้อสรุปแล้วว่า จะเริ่มสอบ V-Net ครั้งแรกเมื่อจบปีการศึกษา ๒๕๕๓ (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔) มีเวลาปรับปรุงคุณภาพผู้เรียน ๑ ปี แล้วจะวัดคุณภาพมาตรฐาน โดยแบ่งข้อสอบเป็น ๒ ส่วน คือ วัดความสามารถด้านปฏิบัติการ ๗๐-๗๕% วัดวิชาการที่สัมพันธ์กับการปฏิบัติการ ถ้าจะวัดวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษ ก็จะวัดทื่สัมพันธ์กับการนำไปใช้จริง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการผลิตนักศึกษาให้มากขึ้น ทุกวิทยาลัยต้องรับทราบและเร่งปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการเรียนการสอน เพราะการวัดผลจะตามมา ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกคะแนนเป็นรายวิทยาลัย

๕. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

จะไม่แยกจัดตั้งเป็นสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่เป็นองค์การมหาชน แต่จะทำให้บรรลุผลเช่นเดียวกับมีสถาบันนี้เกิดขึ้น โดยได้มอบให้ สอศ.ดำเนินการแล้ว และได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนแล้วหลายครั้ง ทั้งสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าฯ ตัวแทนการท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเกิดขึ้นคู่กับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาการ และมีผลบังคับใช้ ในการกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพแต่ละสาขาว่า จะได้มาซึ่งมาตรฐานอย่างไร เพราะปัจจุบันนี้มีเฉพาะคุณวุฒิวิชาการ คือ ป.๖ ม.๓ ม.๖ ปวช. ปวส. และปริญญา แต่คุณวุฒิวิชาชีพยังไม่มี

ต่อไปในอนาคต เมื่อเอกชนยอมรับคุณวุฒิวิชาชีพมากขึ้น จะนำไปสู่การพัฒนาในลักษณะการจ่ายค่าตอบแทน เช่น การรับคนเข้าทำงานโดยพิจารณาจากความสามารถ ซึ่งจะมีประโยชน์อีกหลายด้านโดยเฉพาะในบางสาขาวิชาที่มีคนเก่งระดับโลก คือ เจียระไนเพชร พลอย ที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดอื่นๆ เมื่อคนเหล่านี้ซึ่งจบการศึกษาภาคบังคับไปเทียบคุณวุฒิวิชาการกับแรงงานต่างประเทศ ก็จะได้เพียงคุณวุฒิวิชาการระดับ ม.๓ เท่านั้น แต่เมื่อเทียบคุณวุฒิวิชาชีพ อาจจะอยู่ในระดับปริญญาโทหรือเอก หากเราไม่มีระบบนี้ โลกก็จะไม่มีวันยอมรับคนเก่งที่เป็นประชากรของเรา

๖. อาชีวะทันสมัย

งบประมาณพัฒนาอาชีวศึกษาภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง หรือ SP2 มี ๒ ส่วน คือ งบประมาณการก่อสร้างและงบประมาณเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ สอศ.ถูกจับตามากที่สุด ขณะนี้ยังเป็นองค์กรที่มีปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติ SP2 หรือไทยเข้มแข็ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ และเป็นหน่วยงานเดียวที่ยังไม่ปฏิบัติตามกรอบเวลา คือ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ต้องเสนอให้สำนักงบประมาณได้พิจารณาในแต่ละการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะนี้ ครม.รับทราบแล้ว โดย รมว.ศธ.ได้ขอขยายเวลาเพื่อปรับปรุงและนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้งภายใน ๒-๓ สัปดาห์

๗. เรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ

การดำเนินงานในปีนี้ เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์แล้ว จึงขอให้ปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวง เช่น ค่าชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน ต้องมอบเป็นเงินสดให้ผู้ปกครอง ซึ่งในบางวิทยาลัยก็ยังมีปัญหาทางการปฏิบัติในปีแรก

๘. การจัดตั้งสถาบันอบรมพัฒนาผู้บริหาร

ในอนาคตจะจัดตั้งสถาบันขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้มาตรฐาน โดยผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงหรือระดับกลาง ต้องผ่านกระบวนการการอบรม พัฒนา ตามหลักสูตรที่จะมีการกำหนดขึ้นต่อไป มีลักษณะเช่นเดียวกับ นบส. แต่เป็น นบส. ของ ศธ.ซึ่งจะนำบุคคลที่ดี มีคุณภาพเข้ามาทำงาน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้บุคลากรมีศักดิ์ศรีและศักยภาพมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายของผู้เรียนและเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษารอบสอง คือ คุณภาพ

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาไปศึกษาแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดซึ่งมีตัวชี้วัด ๒ ส่วน คือ ตัวชี้วัดร่วม ๗๐% และตัวชี้วัดเฉพาะจังหวัด ๓๐% ตัวอย่างตัวชี้วัดร่วมที่ชัดเจน สำหรับอาชีวศึกษา เช่น ภายในปี ๒๕๕๘ จะต้องมีความรู้เรื่องอาเซียน, ภายในปี ๒๕๕๖ ต้องทำให้สถานศึกษาของอาชีวศึกษาผ่านการประเมินของ สมศ. ๑๐๐%, ต้องปรับสัดส่วนการเรียนในสถานศึกษาอาชีวะเอกชนกับรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ ๘๐:๒๐ เป็น ๗๐:๓๐, ต้องปรับสัดส่วนการเรียนสายสามัญกับสายอาชีพ จาก ๖๒:๓๘ ศธ.ต้องลดการเรียนสายสามัญให้เหลือ ๕๓ และเพิ่มการเรียนสายอาชีพเป็น ๔๗ ภายในปี ๒๕๕๖ และทุกจังหวัดต้องรับเป้าหมายนี้ไปเป็นเป้าหมายรวม โดย ศธ.จะสนับสนุนการเรียนสายอาชีพมากขึ้น เพื่อให้มีการสนองตอบต่อการผลิตให้มีผู้เรียนเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดการศึกษาในด้านนี้จึงต้องมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน.

ไม่มีความคิดเห็น: