วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รมว.ศธ.เยือนประเทศฟิลิปปินส์

กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประธานสภาซีเมค ได้เดินทางไปเยี่ยมศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ ๓ ศูนย์ และสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute : IRRI) รวมทั้งหารือกับ รมว.ศธ.ของฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๒

- หารือกับ H.E. Datu Dr.Jesli A.Lapus รมว.ศธ.ของฟิลิปปินส์

โดยได้หารือเรื่องการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ซึ่งเป็นการประชุม ๒ ส่วน ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันทุกปี โดยประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพ และ รมว.ศธ.ของไทยก็เป็นประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ซีเมค) รวมทั้งประธานรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ในปี ๒๕๕๓ จะส่งต่อให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีการจัดประชุมระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ มกราคม ๒๕๕๓ ที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ซึ่ง รมว.ศธ.ของไทยก็จะมอบงานในฐานะประธานสภาซีเมค และประธานรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนให้แก่ฟิลิปปินส์ นับว่า รมว.ศธ.ของไทยได้ปฏิบัติภารกิจในฐานะประธานสภาซีเมค จนครบวาระ ๑ ปี และไทยจะเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปในอีก ๑๒ ปีข้างหน้า

- สถาบัน IRRI

เป็นองค์กรอิสระ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการวิจัยและบัณฑิตศึกษาด้านการเกษตร (SEARCA) ที่เมืองลอสบาโยส สถาบัน IRRI เป็นศูนย์วิจัยข้าวจากทั่วโลก โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ก่อตั้งมา ๔๙ ปีแล้ว ประเทศไทย ก็ได้ใช้ประโยชน์จากสถาบันนี้ เช่น การส่งนักศึกษา บุคลากรไปฝึกอบรมและศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก มียอดผู้เข้ารับการอบรมประมาณ ๘๕๑ คน ซึ่งทำให้ไทยสามารถไปทำวิจัยต่อไป รวมทั้งเป็นการขยายเครือข่ายในกลุ่มนักวิจัยเพิ่มขึ้นด้วย หากมีประเด็นที่ต้องการทำวิจัย ก็สามารถขอความร่วมมือจากสถาบันนี้ได้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ สถาบัน IRRI ยังเป็นธนาคารพันธุกรรมข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถเก็บพันธุ์ข้าวไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิ ๑๕ องศาเซลเซียส ความชื้นไม่เปิด ๑๕% ทำให้พันธุ์ข้าวเก็บไว้ได้นาน

- ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการวิจัยและบัณฑิตศึกษาด้านการเกษตรของซีมีโอ (เซียร์ก้า)

ตั้งอยู่ที่ลอสบานโยส ฟิลิปปินส์ ก่อตั้งเมื่อปี ๑๙๖๖ มีการอบรมบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโทและเอกด้านการเกษตร มีโครงการวิจัย พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ ไทยส่งนักศึกษาที่จบปริญญาตรีแล้วไปเรียนที่เซียร์ก้า จำนวน ๒๙๗ คน โดยทุนของเซียร์ก้า ปัจจุบันมีนักศึกษาไทย ๗ คน เรียนในระดับปริญญาเอก

- เครือข่ายระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอ (ทรอปเมด)

ทรอปเมดมี ๔ ศูนย์ใน ๔ ประเทศ ได้แก่ - มหาวิทยาลัยมหิดล ในไทยเน้นโรคเวชศาสตร์เขตร้อน - มาเลเซีย เน้นจุลชีววิทยา พยาธิวิทยา กีฏวิทยา - อินโดนีเซีย เน้นโภชนาการ - ฟิลิปปินส์ เน้นสาธารณสุขและแพทย์ชนบท กิจกรรมมีทั้งจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้จบปริญญาตรีแล้วในเรื่องการวิจัย พัฒนา การจัดประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ หลักสูตรระยะสั้น เช่น ความปลอดภัยด้านอาหาร การเป็นผู้นำด้านส่งเสริมสุขภาพให้กับชุมชน

- ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ (อินโนเทค)

เป็นศูนย์ที่เก่าแก่ศูนย์หนึ่ง ก่อตั้งมาครบ ๔๐ ปีแล้วถือว่าเป็นศูนย์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา มี ๒ โครงการที่จะนำมาใช้ประโยชน์กับไทยคือ โครงการอบรมพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาโดยใช้ IT เข้ามาช่วยในปี ๒๕๕๒ ได้ส่งครูไปอบรม ๒ รุ่น รุ่นละ ๔๕ คน ต่อไปจะเปิดโอกาสให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนได้ไปอบรมหลักสูตรพิเศษกับอินโนเทคมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ครูและชุมชน ในการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนนอกห้องเรียนในรูปแบบของกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ศธ.ที่จะสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้นกว่าการท่องจำ รวมทั้งการเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ขณะนี้ได้มีการปรับหลักสูตรโดยลดความซ้ำซ้อนลงได้ถึงร้อยละ ๓๐ ในเรื่องนี้อินโนเทคได้ทำการศึกษาวิจัยมาก่อนหน้านี้ และเริ่มใช้กระบวนการเรียนการสอนนอกห้องเรียน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทั้ง ๓ ส่วน ต่อไป ศธ.จะประสานกับอินโนเทค เพื่อให้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนนอกห้องเรียนมากขึ้นและสมบูรณ์ขึ้น ซึ่ง ศธ.ก็ได้มีแนวคิดเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่จะเพิ่มกิจกรรม ๓ ส่วน ได้แก่ กิจกรรมสำหรับแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน, นอกโรงเรียนและ กิจกรรมคุณธรรมจริยธรรม ศิลปะ กีฬา ดนตรี สำหรับผู้เรียนสามารถเรียนผ่านระบบ E-Training โดยไม่ต้องเดินทางไปเรียน เป็นกระบวนการฝึกอบรมทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอน

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ซีมีโอจะเป็นประโยชน์กับสมาชิกทั้ง ๑๑ ประเทศ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย สำหรับไทยสามารถเลือกใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและเป็นประโยชน์ การเชิญวิทยากรมาอบรมในไทยจะเป็นประโยชน์มากกว่าเดินทางไป หากเป็นหลักสูตรระยะสั้น เป็นการลดค่าใช้จ่าย.

ไม่มีความคิดเห็น: