วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

นโยบาย 1ตำบล 1ร.ร.ดีขนาดเล็ก

นายชินวรณ์ กล่าวว่า การทำงานในศธ. ขอน้อมรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักในการทำงาน โดยจะทำให้อย่างซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ รัฐบาล และขอความร่วมมือจากเพื่อนครูทุกคนในประเทศ มาช่วยผมทำงานขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ได้เกิดผล

สำหรับการแบ่งงาน 2 รมช.ศธ.จะไม่แบ่งงานใหม่ ใครรับผิดชอบงานใดก็ให้รับผิดชอบตามเดิม เพื่อให้งานเดินหน้าต่อไป และจะยังไม่แต่งตั้งที่ปรึกษา รมว.ศธ. และ เลขานุการ รมว.ศธ. ระยะหนึ่ง แต่จะใช้ผู้บริหารระดับสูงของศธ. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากนั้นในช่วงบ่าย นายชินวรณ์ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นครั้งแรก

จากนั้นให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ที่ประชุมหารือเรื่องการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 แต่เนื่องจากเวลามีจำกัดเหลืออีกหลายส่วนราชการที่ยังไม่ได้พูดคุย จึงนัดมาประชุมต่อในวันที่ 20 ม.ค. เพื่อระดมสมองกำหนดทิศทางขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา และขับเคลื่อนกระทรวงศึกษาธิการ ได้ข้อสรุปแล้วว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้า ศธ.จะจัดสมัชชาปฏิรูปการศึกษา ทศวรรษที่ 2 เชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาร่วมประชุมพร้อมภาคีเครือข่ายบุคคลในวงการศึกษาเพื่อกำหนดทิศทางปฏิรูป

อย่างไรก็ตาม จะให้ศธ.ทำโครงการ" 1 ตำบล 1 โรงเรียนดีขนาดเล็ก" โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ผ่านการประเมินสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมมือกับ ศธ. พัฒนาให้โรงเรียนเป้าหมายกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กดีเด่นของตำบล จะดึงนายกรัฐมนตรีมาร่วมโปรโทตโครงการดังกล่าว โดยให้นายกฯ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ร่วมกับผู้บริหาร อปท. ด้วยตนเอง

รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.ต้องการให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องสวัสดิการของนักเรียน เช่น โครงการอาหารกลางวัน การจัดรถรับส่งนักเรียน หรือสนับสนุนงบประมาณให้กับกิจกรรมการต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น กีฬาสี ขณะที่ ศธ. จะทำหน้าที่หลักดูแลเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน หลักสูตร ครูและบุคลากรในโรงเรียนยังอยู่ภายใต้ การบริหารงานบุคคลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ต้องย้ายไปสังกัด อปท. เหมือนเช่นการถ่ายโอนโรงเรียน

"เบื้องต้น จะนำร่องโครงการนี้ในโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ละ 1 โรง โดยให้ สพท.ไปทำจัดประชุมร่วมกับประชาชนเพื่อเลือกโรงเรียนที่สมัครใจเข้าโครงการและประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากทุกตำบลมีโรงเรียนขนาดเล็กที่ดีไว้ ก็จะเป็นการตอบสนอง การยกระดับการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก การลดภาระของผู้ปกครอง เด็กไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อเรียนในเมืองสามารถเรียนโรงเรียนดีที่ใกล้บ้านได้ ซึ่งจะได้จัดทำยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)"รมว.ศธ. กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: