วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

รมว.ศธ. กล่าวว่า ผู้บริหารที่เข้าร่วมสัมมนาวันนี้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้มีโอกาสพบปะกับรัฐมนตรีคนใหม่ หลังจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคมที่ผ่านมา จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านมารวมใจ ร่วมเป็นพลังในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เพื่อให้การศึกษาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศ ให้การศึกษาเป็นตัวนำที่จะสร้างความปรองดอง ความสมานฉันท์ และความจงรักภักดีของคนในชาติ โดยเน้นไปที่คุณภาพตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะไม่พูดถึงโครงสร้างเหมือนการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมา เพราะตนในฐานะ รมว.ศธ.จะช่วยดูแลเรื่องนี้ให้เอง

สำหรับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนั้น จะเร่งดำเนินการใน ๘ เรื่องที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่จะให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยจะเริ่มต้นด้วยการจัดประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาฯ ภายในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ซึ่งจะเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม เพื่อวางกรอบและทิศทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ให้ทุกคนเห็นเป้าหมายตรงกันในการปฏิรูปการศึกษา หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ จึงจะมีการประชุมสมัชชาการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นเป้าหมายที่ตรงกันในการปฏิรูปการศึกษา โดยจะมีเป้าหมาย ตัวชี้วัดต่างๆ อย่างชัดเจน เพื่อให้ผลสุดท้ายของการปฏิรูปการศึกษาไปตกอยู่ที่ตัวเด็ก ให้เป็นคนเก่ง ดี มีความสุข มีความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนั้นจะเร่งในเรื่องของโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้สนองตอบต่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะต้องเปลี่ยนความคิดโครงการนี้ใหม่ว่าไม่ใช่โครงการที่แจกหนังสือ อุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้านักเรียน แต่จะเป็นโครงการรองรับที่จะให้ทุกคนในวงการศึกษาได้มีส่วนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้โครงการนี้เป็นบันได้ขั้นแรกแก่โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับเด็กไทย

เรื่องที่ ๓ คือ การสร้างโรงเรียนดีประจำตำบล โดยจะมีทั้งห้องวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด ห้อง e-Learning สระว่ายน้ำ มีการจัดทำ School Mapping มีการจัดทำ School Based Management ฯลฯ ซึ่งจะดำเนินการในเขตพื้นที่การศึกษาละ ๑ ตำบล โดยให้หารือร่วมกับ อบต.เพื่อร่วมพัฒนาโรงเรียนดีระดับตำบล และหากตกลงกันได้ รมว.ศธ.จะมีการลงนามความร่วมมือกับ รมว.มหาดไทย รวมทั้งลงนามความร่วมมือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกฯ อบต.ต่อไปด้วย

เรื่องต่อมาคือ โครงการจัดการศึกษาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเน้นการส่งเสริมพัฒนาครูผู้สอนในบริบทต่างๆ ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้มีกรอบความคิดในสังคมที่จะให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะในยุคสังคมประชาธิปไตย ทุกคนต้องร่วมมือกัน

เรื่องที่ ๕ คือ กศน.ตำบล ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูกสำหรับประชาชน โดยจะให้ กศน.ตำบล จับมือกับ อบต.เช่นเดียวกัน โดยจะให้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้ กศน.ตำบลเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน เช่น ประชาชนในตำบลสามารถเช็คราคายางพารา การใช้ปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ โดยให้ครู กศน.ดูแล และสร้างเครือข่ายรักการอ่านแก่บุตรหลานในชุมชน ให้เกิดการอ่านทั้งในห้องสมุด ในโรงพยาบาล สร้างการอ่านในระหว่างการเดินทาง รวมทั้งการจัดทำมุมหนังสือไว้ที่บ้าน

เรื่องที่ ๖ Teachers Channel เพื่อให้ครูได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดถึงวิธีการสอน กระบวนการสอนที่ดี และสามารถนำไปใช้ได้ในการสอนจริงในห้องเรียน ตลอดถึงจะดำเนินการ Tutor Channel ต่อไป โดยยึดหลักว่า คุณภาพของการเรียนจะต้องเกิดจากการเรียนในห้องเรียนหรือการเติมเต็มความรู้ผ่าน Tutor Channel ส่วนการกวดวิชานอกห้องเรียนนั้น จะเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ ซึ่งจะขอให้โรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ช่วยสอนดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ โยคะ เพื่อเติมเต็มและสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กนอกห้องเรียนมากขึ้น

เรื่องที่ ๗ คือ การสร้างขวัญกำลังใจให้ครู โดยจะมีการผลักดัน พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินวิทยฐานะ ซึ่งได้เร่งรัดเรื่องนี้เพื่อให้ครูได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครู โดยเฉพาะโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ที่จะมีการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อพัฒนาชีวิตครู ให้ครูใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยใช้กระบวนการจัดตั้งเครือข่ายในรูปแบบองค์การมหาชน ให้ครูได้พัฒนาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู นอกจากนี้จะดึงคนเก่งๆ เข้ามาเป็นครูมากขึ้น มีการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของครูให้สูงขึ้น ตลอดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ให้ครูเป็นข้าราชการครูอย่างสมศักดิ์ศรี

ในเรื่องสุดท้ายคือ การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง โดยให้การศึกษาชูธงความเชื่อที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยจะให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อจะส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น เน้นการผลิตครูวิทยาศาสตร์และครูคณิตศาสตร์ เพื่อที่จะให้ครูเหล่านี้ได้เป็นพลังขับเคลื่อนในการจัดการเรียนการสอน จะมีการส่งเสริมต่อยอดให้นักเรียนได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในโรงเรียนลักษณะพิเศษ คือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และมีการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในทุกภูมิภาคมากขึ้น

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า หากทุกท่านสามารถรวมใจได้ มีเป้าหมายตรงกัน การเดินไปสู่เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป เพราะได้ติดตามงานของกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด ทั้งนี้จะสานต่อโครงการอื่นๆ ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีต รมว.ศธ.ให้เดินหน้าต่อไปได้ และคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองสำเร็จลุล่วงตามที่มุ่งหวังได้.

ไม่มีความคิดเห็น: