วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

งานด่วนของ รมว.ศึกษาธิการ

รมว.ศธ.ได้ให้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ในวันพุธที่ ๓ กุมภาพันธ์นี้ ตนจะเป็นรัฐมนตรีคนแรกในรัฐบาลชุดนี้ที่นำเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา ๓ ฉบับ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา และจะพยายามให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะกฎหมายในการแยกประถม-มัธยมฯ การเพิ่มเงินเดือนและเงินวิทยฐานะของครูให้สูงขึ้น

สำหรับนโยบายในการทำงาน จะเน้นการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ดังนั้นทุกท่านต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันดังๆ ว่า จะต้องช่วยกันปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างเด็กของเราให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข มีความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อยู่ร่วมได้ในสังคมโลก ซึ่งจะต้องสร้างโอกาส ความเสมอภาคทางการศึกษา และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งไปที่ ๘ โครงการที่สำคัญคือ ๑-สมัชชาการปฏิรูปการศึกษา ๒-โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ๓-โรงเรียนดีประจำตำบล ๔-การจัดการศึกษาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๕-กศน.ตำบล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูกสำหรับประชาชน ๖-Teachers Channel ๗-การสร้างขวัญกำลังใจให้ครู ๘-การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ ต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพว่าไม่ใช่เป็นโครงการที่แจกหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้านักเรียน แต่เป็นโครงการที่ให้โอกาส ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เด็กไทย ให้เด็กรู้ว่าหากเขามีความมุ่งมั่น จะมีโอกาสได้เรียนต่ออย่างแน่นอน แม้การอุดหนุนโครงการเรียนฟรีฯ จะมีถึงมัธยมศึกษาตอนปลายก็ตาม แต่ในระดับอุดมศึกษาก็ยังมีเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วย

สำหรับโครงการที่จะเน้นอีกโครงการหนึ่งคือ โรงเรียนดีประจำตำบลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไปปิดป้ายหน้าโรงเรียน แต่จะมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก แผนยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจในระดับชั้นเด็กเล็ก-ม.๓ ภายใต้การกำกับของชุมชน ที่จะเข้ามาช่วยกันรวมกลุ่มพัฒนาโรงเรียนดีระดับตำบล ซึ่งจะเป็นการรวมกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กต่างๆ เข้าด้วยกัน ระยะเริ่มแรกเขตพื้นที่การศึกษาละ ๑ ตำบล รวม ๑๘๕ โรงเรียน โดยโรงเรียนดีระดับตำบลจะได้รับการลงทุนสร้างอาคารเรียนใหม่ มีสโมสรของครู ฯลฯ โดยจะต้องร่วมกันคิดวิธีการที่จะพานักเรียนในชนบทกลับมาเรียนใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียนในตัวเมืองด้วย

สำหรับการสร้างขวัญกำลังใจแก่ครูนั้น จะมี ๔ เรื่องใหญ่ๆ คือ ๑-พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินวิทยฐานะครู เพื่อให้ครูได้ปรับเข้าสู่โครงสร้างใหม่เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนที่ได้รับไปแล้ว ๒ ครั้ง ๒-เครือข่ายพัฒนาชีวิตครู ที่จะให้ สกสค.ลบชื่อโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูออกไปในช่วงที่ตนเป็นรัฐมนตรี เพราะทุกอาชีพก็มีหนี้ ในขณะที่ครูเป็นหนี้มากถึง ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่กลับปรากฏว่าครูเป็นหนี้ NPL เพียงร้อยละ ๐.๒ เท่านั้น ซึ่งแสดงว่าครูมีเครดิตที่ดีมาก ขณะนี้ได้คุยกับธนาคารออมสินไว้บ้างแล้วว่า ต้องการให้มีการร่วมมือเพื่อระดมเงินมาตั้งเป็นเครือข่ายพัฒนาชีวิตครู และดำเนินการเป็นองค์การมหาชน หรือหากเป็นไปได้อาจขอเงินสลากกินแบ่งสักงวดเพื่อจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เพราะครูก็ซื้อสลากกินแบ่งจำนวนมากเหมือนกัน ๓-เครือข่ายพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งจะให้ สกสค. ทำใบประกอบวิชาชีพครู/ผู้บริหารอย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ใช่ทำเหมือนใบประกาศนียบัตรแข่งขันกีฬาสีของโรงเรียน แต่ใบประกอบวิชาชีพครูจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ครูมีความภาคภูมิใจ สามารถติดข้างฝาที่บ้านหรือโรงเรียนได้เช่นเดียวกับใบประกอบวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ วิศวะ เภสัชกรรม เนติบัณฑิตยสภา ๔- สกสค.จะต้องเป็นหน่วยงานหลัก ในการดูแลขวัญกำลังใจครูอย่างแท้จริง ต้องต่อยอดการพัฒนาองค์กรครูอย่างเป็นระบบ

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เชื่อมั่นว่าการที่ ศธ.มีครูกว่า ๗ แสนคน จะเป็นฐานที่แข็งแกร่งในการทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ไปสู่คุณภาพ ถนนทุกสายต้องมุ่งเน้นไปที่ "คุณภาพตัวผู้เรียน" เป็นสำคัญ.

ไม่มีความคิดเห็น: