วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รมว.ศธ.ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก

รมว.ศธ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญๆ ๓ เรื่อง ดังนี้

๑. ติดตามโครงการพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) เพื่อรองรับการศึกษาทั้งระบบภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีงบประมาณ ๒๕๕๓-๒๕๕๕ ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญ เพื่อสนองตอบต่อข้อตกลงที่ได้มีการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน โดยไทยจะเป็นประเทศแกนนำหลัก ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Internet, ETV, การใช้ระบบการสื่อสารทางไกลในเรื่องของการศึกษา โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า จะพัฒนาจัดทำเครือข่ายในการสนับสนุนการศึกษาทั้งระบบ โดยเห็นควรยกระดับเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นระดับชาติจึงใช้ชื่อว่า National Education Network หรือ (NedNet) เพื่อให้สอดรับกับการเร่งรัดในการออกพระราชบัญญัติ เรื่องสถาบันเทคโนโลยีทางการศึกษาและกองทุนเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งได้มอบนโยบายไปชัดเจนว่าพระราชบัญญัติเทคโนโลยีและกองทุนทางการศึกษานั้น ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปดำเนินการนำเสนอเรื่องเข้าหารือในคณะรัฐมนตรี เพื่อเปลี่ยนมติ ครม.ที่มีมติไว้เดิมที่จะให้ UniNet เป็นสถาบันกลางในการดำเนินการที่จะให้มีกองทุนในเรื่องของสถาบันเทคโนโลยีทางการศึกษา และต่อไปนี้ก็จะให้ขึ้นกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ดำเนินการเพื่อสนองตอบต่อการจัดการศึกษาตลอดชีวิต และเพื่อสนองตอบต่อการที่จะใช้ NedNet เป็นกลไกในการสร้างเครือข่าย และพัฒนาเครือข่ายของกระทรวงศึกษาธิการด้านสารสนเทศให้ครอบคลุมทุกองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้รายงานถึงความคืบหน้าของข้อตกลงการวาง Fiber Optic ที่จะต้องใช้งบประมาณถึง ๒,๓๐๐ ล้านบาท ในการพัฒนาช่องสัญญาณให้มีศักยภาพสูงสุด เพื่อที่จะมาใช้ในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในขณะนี้ได้มีตัวเป้าหมายที่ชัดเจน ในการดำเนินการสร้างเครือข่ายพัฒนา โดยจะต้องมีเครือข่ายรองรับ ดังนี้

-สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวน ๒๐๒ แห่ง
-สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน จำนวน ๖๙ แห่ง
-สถาบันการอาชีวศึกษาของรัฐ จำนวน ๔๑๕ แห่ง
-สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๑๘๕ แห่ง
-โรงเรียนดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเพิ่มโรงเรียนดีประจำตำบลประมาณ ๒,๐๐๐ แห่ง
-ห้องสมุดประชาชนของ กศน. จำนวน ๑๕๑ แห่ง
-โรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้แก่ โรงเรียนการศึกษาพิเศษ จำนวน ๑๗ แห่ง, โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๓๖ แห่ง และโรงเรียนการกุศล จำนวน ๙๐ แห่ง

สำหรับในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT จะดำเนินการเป็นระยะเวลา ๓ ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) ได้มอบหมายให้ทาง สกอ.ได้ดำเนินการตามที่มอบหมายต่อไป

๒. แนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ มีหลักสำคัญ ๒ ประเด็น ได้แก่

จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ เพื่อที่จะได้นำแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ โดยจะเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ที่ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

จะจัดสมัชชาปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๖-๗ มีนาคม ๒๕๕๓ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
๓. ติดตามการดำเนินการโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้แต่ละองค์กรหลักได้ชี้แจงความคืบหน้า ซึ่ง รมว.ศธ.ได้มอบนโยบาย ดังนี้

ขอให้ทุกองค์กรได้ดำเนินการในการใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสพิเศษที่รัฐบาลได้ให้โอกาสในการลงทุนทางการศึกษา เป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ เพราะฉะนั้นกระทรวงศึกษาธิการต้องไม่ทำให้เรื่องนี้กระทบต่อเป้าหมาย และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทุกฝ่ายก็ยืนยันว่าจะดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และหวังว่าจะไม่มีกระบวนการที่จะนำเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง หากใครมีข้อมูลในเรื่องของการทุจริต หรือการดำเนินการที่มิชอบโดยระเบียบและกฎหมายสามารถที่จะส่งตรงมาที่ รมว.ศธ.ได้

มอบหมายให้องค์กรหลัก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการทั้ง ๒ ท่านได้ไปเตรียมการในการขับเคลื่อนโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็งระยะที่ ๓ (SP3) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติในการให้อำนาจกระทรวงการคลัง ในการกู้ยืมเงินมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระทรวงศึกษาธิการต้องมีส่วนในการที่จะนำงบประมาณก้อนนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งในขณะนี้มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการว่า งบประมาณดังกล่าวนี้จะต้องไปเพิ่มกระบวนการในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ โดยมุ่งเน้นให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมการที่จะดำเนินการด้านงบประมาณ ที่จะต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต รวมถึงการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลคือการดำเนินการในเรื่องธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ การกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการจะต้องรับเรื่องนี้มา เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และให้องค์กรหลักทั้งหมดไปเตรียมโครงการที่จะรองรับในเรื่องนี้ด้วย

รมว.ศธ.ได้กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมยังได้ทบทวนนโยบายที่ได้มอบให้กับส่วนราชการไปแล้ว ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำยุทธศาสตร์มาเสนอ เช่น โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล เป็นต้น.

ไม่มีความคิดเห็น: