วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

นโยบายการศึกษา

รมว.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ซึ่งการที่จะทำให้การจัดการศึกษาเพื่อปวงชนประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องให้การศึกษานำไปเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อนำไปเปลี่ยนแปลงชุมชน เปลี่ยนแปลงประเทศ และหลายๆ ประเทศได้ช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลก จึงอยากให้มองการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโลกทั้งโลก เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งในโลกที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มใหญ่ แต่เกิดจากนักวิทยาศาสตร์หรือคนกลุ่มเล็กๆ เช่น ไอน์สไตน์ หรือศาสดาเพียงคนเดียวก็สามารถเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกได้

สำหรับการปฏิรูปการศึกษาของไทยนั้น รมว.ศธ.ได้กล่าวว่ามีการพูดกันมาก ว่าการปฏิรูปการศึกษาในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว แต่ที่จริงแล้วมีทั้งประสบความสำเร็จ และมีบางเรื่องที่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งทำให้ "คุณภาพการศึกษา" ที่เป็นเป้าหมายหลักของการปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จล่าช้าออกไปอีก ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงต่อยอดทั้งด้านคุณภาพผู้เรียน ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เรื่องการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ปัญหาขาดแคลนครู การสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เด็ก เยาวชน เพื่อให้รู้จักคิดวิเคราะห์ใฝ่เรียนรู้และมีคุณธรรม

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จึงถือเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศไทยว่าเราจะสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้หรือไม่ และอยู่อย่างภาคภูมิใจได้แค่ไหน อย่างไรก็ตามการปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถอาศัยเพียงคนใดคนหนึ่งได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งการจะทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ต้องอาศัยผู้ผลิตและดำเนินรายการ นอกจากจะเป็นสื่อกระแสหลัก เช่น ฟรีทีวีแล้ว วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และสื่อมวลชนต่างๆ จะได้มีส่วนช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชน ท่านที่มาวันนี้ซึ่งถือเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาได้เช่นกัน ตนตั้งใจจะทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้เป็นรูปธรรม โดยมีกรอบความคิดในการแสวงหาความร่วมมือในเชิงรุกจากทุกภาคส่วน และผลจากการสัมมนาจากผู้ประกอบการวิทยุชุมชนในครั้งนี้จะทำให้ได้กรอบการปฏิรูปการศึกษาที่กว้างและลึกมากขึ้น อยากให้วิทยุชุมชนมีส่วนนำเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้คนได้เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้โลก เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

แนวคิดที่อยากเชิญชวนผู้ประกอบการวิทยุชุมชนคือ ให้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแห่งปัญญาหรือสังคมแห่งการเรียนรู้ ความร่วมมือในเครือข่ายสารสนเทศทางการศึกษาระดับชาติ เป็นช่องทางของ ศธ.ในการสื่อสารการปฏิรูปการศึกษา ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ในเรื่องการศึกษา โดย ศธ.จะพยายามผลิตรายการที่มีคุณภาพ เพื่อให้วิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีทั่วประเทศได้เป็นลูกข่ายในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับชุมชน ที่จะทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าเรากำลังจะกลับมาสอนคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองที่เก่ง ดี มีความสุขใน ๑๐ ปีข้างหน้า มีความเคารพความเป็นส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย จงรักภักดีต่อสถาบัน ครูผู้สอนเปลี่ยนกรอบความคิดจากการสอนหนังสือเป็นสอนคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และท้าทายอย่างมาก.

นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ : สป.จะเป็นหน่วยงานผลักดันนโยบายของรัฐมนตรี โดยจะจับมือร่วมกันผลักดันในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้สำเร็จและพัฒนาไปในทางที่ดี สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้นโยบายสำเร็จได้คือ ครู ประชาชน นักเรียนนักศึกษา ต้องมาช่วยกันให้นโยบายเดินได้ และเกิดการหลอมรวมพลัง

รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา : สกศ.คือ เป็นองค์กรหลักที่ไม่มีสถานศึกษาในสังกัด แต่เป็นศูนย์กลางความคิดจากภาคส่วนต่างๆ โดยใช้เทคนิคใหม่ๆ มีโครงการนำร่องใหม่ๆ เกี่ยวกับการศึกษา เป็นองค์กรที่สนับสนุนการศึกษา และจะร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกับทุกองค์กรหลัก

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน : สพฐ.มีบุคลากร ๔๕๐,๐๐๐ คน โรงเรียน ๓๒,๐๐๐ แห่ง นักเรียนกว่า ๕ ล้านคน ดีใจที่ รมว.ศธ.คนปัจจุบัน เคยเป็นครูมาก่อน ดังนั้นสิ่งที่ รมว.ศธ.พูด จึงตรงกับจิตใจครูทั้งประเทศ ซึ่ง รมว.ศธ.พยายามจะบอกว่าการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเกิดจากการรวมพลังจากทุกๆ คน ไม่ใช่เกิดจากการสั่งให้ไปปฏิบัติ ซึ่งจะร่วมกันปฏิรูปการศึกษาเพื่อคุณภาพผู้เรียน คุณภาพครู คุณภาพสถานศึกษา และระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ

นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา : สกอ.มีสถาบันอุดมศึกษา ๑๖๕ แห่ง นักศึกษา ๒ ล้านคนในสาขาวิชาต่างๆ เมื่อได้ฟังนโยบายรัฐมนตรีแล้ว สิ่งที่ สกอ.ต้องปรับเปลี่ยนทันทีคือ สถาบันอุดมศึกษาต้องเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อปวงชน แต่ไม่ใช่หมายถึงต้องให้ปวงชนเข้ามารับปริญญาจากมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยต้องให้ความสุขเพื่อปวงชน เชื่อมต่อการศึกษาทุกระดับตั้งแต่การศึกษานอกระบบฯ การศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค เปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง เชื่อมนโยบาย เทคโนโลยีสารสนเทศให้ลงไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาทุกระดับ

นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา : สอศ.มีสถานศึกษา ๔๑๕ แห่ง บุคลากรกว่า ๔ หมื่นคน โดยอาชีวะจะมุ่งเน้นไปที่การผลิตกำลังคนระดับกลางคือ ปวช./ปวส.ให้จบแล้วทำงานได้ทันที โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการ นอกจากนี้มีหลักประกันเรื่องสมรรถนะการผลิต โดยเชิญสถานประกอบการมาพูดคุย เชื่อมการทำงานกับการศึกษาเข้าด้วยกัน ซึ่งสถานศึกษาอาชีวะจะจัดการศึกษาเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อุดมศึกษา การศึกษานอกระบบฯ และเครือข่ายการศึกษาทางไกล จะนำสถานศึกษา ๔๑๕ แห่งร่วมชูธงปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกัน.

ไม่มีความคิดเห็น: