วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แนวทางขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา "สี่ใหม่" อย่างเป็นรูปธรรม

รมว.ศธ.กล่าวว่า ความก้าวหน้าการปฏิรูปการศึกษาช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาว่า มีความก้าวหน้าหลายเรื่อง และมีหลายส่วนที่ต้องนำไปสู่เป้าหมายที่จะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง โดยเฉพาะต้องการเห็นการพัฒนาครูยุคใหม่ให้มีศักดิ์ศรี มีการพัฒนาสถานศึกษาให้รองรับตอบโจทย์ ๒ ข้อ คือ กรอบตามมติ ครม.ที่จะเน้น "สี่ใหม่" คือ
๑) การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่
๒) การพัฒนาครูยุคใหม่
๓) การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่
๔) การพัฒนาการบริหารจัดการใหม่

และกรอบความคิดเชิงนโยบายองค์รวม และนโยบายส่วนปฏิบัติที่จะเติมเต็ม Model อย่างไรให้เข้าสู่การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ดีใจที่ครูในชนบทและทุกท่านในที่นี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยืนยันจะมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ที่จะทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อน เพราะหากทุกท่านร่วมวางรากฐานเพื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว เชื่อมั่นว่าจะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายและทิศทางเดียวกัน ตนในฐานะ รมว.ศธ.จะพยายามแปลเป้าหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ในเชิงยุทธศาสตร์ในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด รวมทั้งนโยบายของ ศธ. โดยจะไม่เปลี่ยนแปลงตามรัฐมนตรีที่เข้ารับตำแหน่ง

รมว.ศธ.ได้ฝากประเด็นนโยบาย ๘ ข้อที่จะมีส่วนในการปฏิรูปการศึกษา คือ
๑) การขับเคลื่อนสมัชชาการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองเพื่อส่งสัญญาณว่าการศึกษาจะเป็นธงนำในการพัฒนาประเทศทุกด้าน ๒) โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ
๓) การสร้างโรงเรียนดีประจำตำบล
๔) การพัฒนาการศึกษาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
๕) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ราคาถูก คือ กศน.ตำบล
๖) การพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือ NedNet
๗) การสร้างขวัญกำลังใจครู
๘) การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์

น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา ตนได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาโดยเข้าร่วมประชุมเรื่องนี้ทุกครั้ง และเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีทั้ง ๓ ท่านได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือกันในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยมองการศึกษาในระบบ เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัย ที่ ศธ.ต้องสนับสนุนงบประมาณ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ระดับประถมศึกษา ถือเป็นหน้าที่โดยตรงของ ศธ.ที่ต้องติดตามในเรื่องต่างๆ เช่น การเตรียมเรื่องกำลังคน การติดตามประเมินผลอัตรากำลังครู โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอัตราส่วนครู ๑ คนต่อนักเรียน ๕ คน ในขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่มีอัตราส่วนครู ๑ คนต่อนักเรียน ๓๐-๔๐ คน ซึ่งต้องมาแก้ไขให้ชัดเจน เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตั้งแต่ระดับจังหวัดลงไปสู่ระดับตำบล ระดับมัธยมศึกษา จะต้องมองเรื่องการวางแผนผลิตกำลังคน ต้องมีความร่วมมือในการแนะแนวการศึกษาต่อแก่นักเรียนอย่างชัดเจนตั้งแต่ ม.๑ ขึ้นไป เพื่อให้นักเรียนเลือกเรียนตามความถนัด โดยเฉพาะการเลือกเรียนสายอาชีวะที่จะเน้นการพัฒนา Skill Force ที่ต้องตอบโจทย์การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศได้ ดังนั้นการเรียนระดับขั้นพื้นฐานจะต้องคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายการเรียนไปยังระดับอาชีวศึกษาอย่างชัดเจน ระดับอาชีวศึกษา ช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาเราเห็นตัวเลขการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจนแล้ว แต่การใช้งบประมาณระดับอาชีวศึกษายังไม่สอดคล้องชัดเจนตามแผนพัฒน์ นอกจากนี้เป้าหมายที่จะนำผู้เรียนมาสู่อาชีวะยังไม่เป็นไปตามแผนพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม จึงควรปรับการพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวะให้มุ่งสู่ Demand-Supply เพื่อให้คนมีงานทำ ไปสู่การประกอบอาชีพที่ต้องมี Skill Work ที่จะต้องแบ่งตาม ๗๓ คลัสเตอร์กลุ่มวิชาต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะต้องสอนตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการวิจัย ที่ไม่ใช่แบ่งสถาบันการผลิตตามกลุ่มจังหวัด แต่ต้องมองความเข้มแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยอาจจะมีสถาบันเฉพาะ เช่น สถาบันข้าว กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มยานยนต์ เป็นต้น ระดับอุดมศึกษา วันนี้เรามีการผลิตผู้เรียนในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ เราจึงต้องมาดูการผลิตคนให้ตรงกับสาขาวิชาที่ต้องการ เพื่อไม่ให้จบออกไปว่างงาน ดังนั้นจะต้องขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยในการรับนักเรียนเข้าเรียนด้วย

ในเรื่องครูนั้น ได้มีความเห็นร่วมกันว่าการผลิตครูไม่ควรผลิตเพียงเพื่อทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ เช่น การผลิตครูพันธุ์ใหม่ที่ต้องตั้งเกณฑ์ไว้สูง เพื่อดึงคนที่เข้ามาเป็นครู จะต้องเก่งและดี โครงการคืนครูสู่นักเรียน การปรับปรุงคุณภาพชีวิตครู ต้องเพิ่มฐานเงินเดือนครูบรรจุใหม่ให้สูงขึ้น มีการปรับโครงสร้างหนี้ครู เป็นต้น ส่วนพนักงานราชการหรือครูอัตราจ้างก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะเกรงว่าจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีกำลังใจ จึงควรกำหนดสัดส่วนเพื่อบรรจุพนักงานราชการหรือครูอัตราจ้างให้เป็นข้าราชการครูไว้อย่างเหมาะสมด้วย สำหรับในเรื่องวิทยฐานะ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประเมิน เพื่อมุ่งการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาไปที่คุณภาพของผู้เรียนมากกว่าเรื่องของตัวเอง ซึ่งจะต้องเพิ่มในเรื่องธรรมาภิบาลด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น: